sianbun on April 20, 2009, 03:48:31 PM
ททท. เสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ Voluntourism การท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ ได้เที่ยว สนุก อิ่มเอมใจ

   ททท. เสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ Voluntourism การเดินทางท่องเที่ยวแบบอาสาสมัคร เน้นจุดขาย “ได้เที่ยว สนุก อิ่มเอมใจ” ตั้งเป้าหมายแรกกลุ่มนิสิตนักศึกษา พร้อมคัดชุมชนนำร่อง 4 แห่ง บ้านถ้ำเต่า คลองตะเคียน เกาะเตียบ และบ้านนาตาโพ
   
   นายวันเสด็จ  ถาวรสุข  รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านตลาดในประเทศ เปิดเผยว่า โครงการ “ท่องเที่ยวเรียนรู้สู่ชุมชน” เป็นการนำเสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่เรียกกันว่า Voluntourism หรือ การท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งริเริ่มโดยภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในระยะแรกได้ตั้งเป้าหมายไปยังกลุ่มนิสิตนักศึกษา และอาจจะขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในระยะถัดไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเดินทางไปท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างออกไป อาทิ วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ที่สำคัญ คือ ความแตกต่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ของนิสิตนักศึกษาจากการท่องเที่ยว และสุดท้าย คือ นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นได้แบ่งปันความรู้ ความสามารถ ความคิด รวมไปถึงหยาดเหงื่อและแรงกายของตนเองในการสร้างสรรค์ประโยชน์ และสิ่งดีงามให้แก่ชุมชนด้วย ในที่นี้เป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านตลาดของชุมชน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความสมบูรณ์แบบของการเดินทางท่องเที่ยว

   “ในสมัยก่อน นิสิตนักศึกษาชาวต่างประเทศนิยมเก็บออมเงิน โดยมีเป้าหมายเพื่อเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของกลุ่มนิสิตนักศึกษาเหล่านั้น พวกเขาไม่เพียงแต่จะเดินทางมาท่องเที่ยวเท่านั้น รูปแบบการท่องเที่ยวของเขายังรวมไปถึงการแบ่งปันความรู้ให้แก่คนในชุมชนต่าง ๆ ที่เขาเหล่านั้นไปเยือน ด้วยการสอนภาษาอังกฤษให้แก่คนในชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอิ่มเอมใจ นอกไปจากได้ชมทัศนียภาพความงดงามของแหล่งท่องเที่ยว ต่าง ๆ เท่านั้น” นายวันเสด็จกล่าว

   นายวันเสด็จกล่าวถึงความคาดหวังของโครงการต่อไปว่า “โครงการนี้ จะให้ประโยชน์ทั้งแก่ชุมชน และกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยกลุ่มเยาวชนจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ และที่นอกเหนือไปกว่านั้น คือพวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าความรู้ของตนเองสามารถช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการตลาดให้กับคนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งเสริมสร้างมุมมองทางด้านตลาดท่องเที่ยวของตนเองในอนาคต หากเขาจะประกอบอาชีพในธุรกิจท่องเที่ยว โครงการดังกล่าวจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีความเข้าใจทางด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น มีมุมมองทางด้านตลาดท่องเที่ยวที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศในอนาคต ทางด้านชุมชนหรือหมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับประโยชน์จากการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านตลาดของสินค้าท่องเที่ยวของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ภูมิทัศน์  สินค้า อาหาร รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ชุมชนจะรู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น ถึงสินค้าท่องเที่ยวของเขาที่มีศักยภาพ ซึ่งเมื่อเขารู้จักตัวเองดีขึ้นแล้ว เขาจะสามารถเติบโตได้ถูกทาง และเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน”

   นางอรุณศรี ศรีเมฆานนท์ ศาสตรานิติ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงการดำเนินโครงการว่า “การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่นั้น แตกต่างจากการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม ด้วยการเพิ่มมิติของการเรียนรู้ และมิติของการแบ่งปันเข้าไปในการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้การเดินทางท่องเที่ยวลงตัวไปด้วยมิติทั้งของ “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” โดยกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะได้มีโอกาสท่องเที่ยว สนุกสนาน และอิ่มเอมใจจากสิ่งที่ตนเองได้เดินทางท่องเที่ยวในครั้งนี้

   นางอรุณศรีกล่าวต่อว่า “ในระยะเริ่มต้น ททท. ได้คัดเลือกชุมชนเข้าร่วมโครงการ 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนบ้านถ้ำเต่า ต.สามัคคีพัฒนา อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ชุมชนคลองตะเคียน ต.คลองตะเคียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะจัดกิจกรรมขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ชุมชนเกาะเตียบ บ้านปากคลอง หมู่ที่ 7 อ.ปะทิว จ.ชุมพร และบ้านนาตาโพ ต.บ้านบึง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ซึ่งจะจัดกิจกรรมขึ้นในเดือนตุลาคม จากนั้น ททท. ได้ดำเนินการสอบถาม ตลอดจนสำรวจความต้องการของชุมชนก่อนการดำเนินการ”

   “ภายหลังจากการสำรวจความต้องการของชุมชน ททท. ประสานความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการดำเนินการโครงการ อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ แล้วจึงคัดเลือกเยาวชนที่มีความสนใจที่จะร่วมในโครงการ ตลอดจนมีความถนัดตามความต้องการของชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนกลุ่มดังกล่าวสามารถเดินทางท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ ตลอดจนนำความรู้ของตนเองเสริมสร้างศักยภาพสินค้าทางการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านแหล่งท่องเที่ยว ภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม สินค้าหัตถกรรม อาหาร ฯลฯ” นางอรุณศรีกล่าว

   นางอรุณศรีกล่าวปิดท้ายว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานระหว่าง ททท. ชุมชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือที่ดี และหวังว่าจะสามารถขยายผลต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทางด้านการตลาด รวมทั้งสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ การท่องเที่ยวในรูปแบบอาสาสมัครยังสามารถขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่าง ๆ ได้อีกด้วย
« Last Edit: April 22, 2009, 08:27:10 PM by sianbun »

sianbun on May 04, 2009, 12:35:22 PM
ททท. โปรโมท Voluntourism การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ หวังเสริมศักยภาพด้านตลาดท่องเที่ยว
 
        ททท. โปรโมท Voluntourism การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ หวังเสริมศักยภาพด้านตลาดท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวม

          ททท. โปรโมทการท่องเที่ยว Voluntourism การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เชิงท่องเที่ยวอาสาสมัคร หวังเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมศักยภาพด้านตลาดให้แก่แหล่งท่องเที่ยว และชุมชน คาดสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวม ตั้งเป้าหมายแรกกลุ่มนิสิตนักศึกษา ประเดิมที่ชุมชนนำร่อง 4 แห่ง บ้านถ้ำเต่า คลองตะเคียน เกาะเตียบ และบ้านนาตาโพ

          นางอรุณศรี ศรีเมฆานนท์ ศาสตรานิติ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียง-เหนือ เปิดเผยว่า ททท. ได้ดำเนินการโปรโมทการท่องเที่ยว Voluntourism หรือ การท่องเที่ยวบำเพ็ญประโยชน์ โดยมุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างศักยภาพด้านตลาดท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ริเริ่มขึ้นโดยภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการ “ท่องเที่ยวเรียนรู้สู่ชุมชน” ซึ่งเป็นการโปรโมทให้การท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยในขั้นแรก ททท. ได้มุ่งเน้นไปยังกลุ่มนิสิตนักศึกษา  และคาดว่าจะขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นในระยะต่อไป อาทิ กลุ่มผู้เกษียณอายุ

          “ในการดำเนินโครงการในขั้นแรก ททท. คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว แต่ยังขาดศักยภาพทางด้านการตลาด และได้สอบถามความต้องการของชุมชนในประเด็นต่าง ๆ ที่ทางชุมชนต้องการพัฒนา จากนั้นจึงได้ติดต่อสถาบันการศึกษา เพื่อคัดเลือกนิสิตนักศึกษาที่มีความถนัดตามความต้องการของชุมชน โดยในปี 2552 ททท. ได้คัดชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ หมู่บ้านถ้ำเต่า จ.สกลนคร โดยจะจัดค่ายระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤษภาคม ชุมชนคลองตะเคียน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะจัดค่ายระหว่างวันที่ 19 – 27 พฤษภาคม และอีก 2 แห่งที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ได้แก่ ชุมชนเกาะเตียบ จ.ชุมพร และบ้านนาตาโพ จ.อุทัยธานี” นางอรุณศรีกล่าว

          นางอรุณศรีกล่าวต่อว่า ททท. คาดหวังว่าโครงการดังกล่าว จะให้ประโยชน์ทั้งแก่ชุมชน และกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยกลุ่มเยาวชนจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ ทางด้านชุมชนหรือหมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับประโยชน์จากการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านตลาด ของสินค้าท่องเที่ยวของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ภูมิทัศน์  สินค้า อาหาร รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ชุมชนจะรู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น ถึงสินค้าท่องเที่ยวของเขาที่มีศักยภาพ ซึ่งเมื่อเขารู้จักตัวเองดีขึ้นแล้ว เขาจะสามารถเติบโตได้ถูกทาง และเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

          “โครงการดังกล่าว จะสามารถสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยว ตลอดจนเพิ่มคุณค่าให้เกิดแก่นักท่องเที่ยว ทั้งในแง่ความอิ่มเอิบใจ นอกเหนือไปจากความสนุกสนานจากการได้เดินทางท่องเที่ยวยังชุมชนต่าง ๆ ในระยะต่อไป ททท. จะขยายผลการดำเนินโครงการไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่น เช่น กลุ่มผู้เกษียณอายุ ซึ่งจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาศักยภาพทางด้านการตลาดของแต่ละชุมชนได้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวอันงดงามต่าง ๆ ของเมืองไทย ซึ่งบรรดาผู้เกษียณอายุจะได้รับความอิ่มเอมใจ และรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประโยชน์ให้แก่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้อีกด้วย” นางอรุณศรีกล่าวปิดท้าย

          ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ โทร.02 250 5500 ต่อ 1360