pooklook on November 16, 2010, 08:04:37 PM
ถ้ามีคนบอกว่า ต่อไปนี้ สาวๆ ที่จะต้องใช้บริการรถแท็กซี่เป็นประจำ ไม่ต้องกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยแล้วคุณว่าไอเดียนี้น่าสนใจไหมละ...!
ไทยรัฐออนไลน์ ได้คุยกับ นางสาวเฟื่องฟ้า เป็นศิริ อาจารย์ผู้สอนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและกำลังศึกษาปริญญาเอกคณะสถิติประยุกต์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เจ้าของไอเดียป้องกันภัยจากแท็กซี่ด้วยมือถือหนึ่งเครื่องเดียว 1 ในผู้เข้ารอบรายการ “ไอเดียประเทศไทย"รายการที่คัดเอาความคิดเจ๋งๆ จากประชาชนทั่วประเทศมาใส่ตะแกรงร่อนให้เหลือผู้ชนะ 5 คน ในช่วงโค้งสุดท้าย

เฟื่องฟ้า เล่าว่า ภัยที่เกิดจากการใช้และให้บริการแท็กซี่เป็นภัยสังคมรายวันที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่เว้นว่าจะเป็นคนขับและผู้โดยสาร เนื่องจากรถแท็กซี่นั้นมีปัจจัยที่เอื้อต่อการก่อเหตุร้าย เพราะเป็นสถานที่ที่ลับตาคนมีพื้นที่จำกัดและเคลื่อนที่ไปตามที่ต่างๆได้ ทั้งเพื่อหลบหนีและหาที่ก่อเหตุ และเมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นความเสียหายที่ผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่เป็นเหยื่อได้รับนั้น มักรุนแรง และยากที่จะกลับไปแก้ไขให้เหมือนเดิมได้ จึงได้คิดไอเดียที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้ามาช่วยเพื่อเป็นการป้องกันให้ผู้ประสบเหตุได้สื่อสารให้บุคคลภายนอกรถแท็กซี่ได้ทราบทันทีว่า ขณะนี้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นภายในรถแท็กซี่ โดยบุคคลภายนอกสามารถทราบได้ว่าผู้ที่ประสบเหตุคือใคร อยู่ในรถแท็กซี่ทะเบียน ยี่ห้อ สีใด รถแท็กซี่อยู่จุดใด เพื่อที่จะสามารถส่งคนเข้าไปช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์

คำถามที่น่าใจสนก็คือ ถ้าจะต้องเอาไปใช้จริงๆ เทคโนโลยีวันนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยัง .....?

“พร้อมค่ะ...เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือประจำตัวของแต่ละคนเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแจ้งภัยไปยังศูนย์ฯ โดยการบันทึกข้อมูลที่ได้จากระบบและอุปกรณ์เทคโนโลยีบางอย่างที่ติดตั้งไว้ในรถแท็กซี่ ได้แก่เครื่อง GPS, ป้าย RFID (RFID Tag) และรหัส 2 มิติ (QR Code) สามารถอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ ถ้าทำระบบแจ้งภัยจะสามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแท็กซี่และเป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีอย่างคุ้มค่า โดยเพียงแค่เราใช้เทคโนโลยีสร้างสวัสดิภาพให้เกิดขึ้นกับประชาชน”

สำหรับวิธีการดำเนินการถ้าจะให้สัมฤทธิ์ผลนั้น เฟื่องฟ้า บอกว่า ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นอย่างมาก

“โดยเฉพาะกระทรวงไอซีที ในประสานงานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และให้กรมการขนส่งทางบกประสานงานกับสหกรณ์แท็กซี่ เพื่อจัดทีมงานและอุปกรณ์สำหรับการทดลอง และคัดเลือกสหกรณ์แท็กซี่สำหรับใช้เป็นกลุ่มที่เริ่มทดลอง แบบนำร่อง จากนั้นติดตั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ RFID Reader ลงในโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการทดลอง และ ติดตั้งระบบ GPS, RFID Tag, และ QR Code ภายในแท็กซี่ แล้วทำการทดสอบการประสานการทำงานทั้งของเทคโนโลยีทั้งระบบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ศูนย์รับแจ้งเหตุและสถานีตำรวจ ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับนั้น เราได้มองทั้งระยะสั้น-ยาว ซึ่งระยะสั้นคือ ภัยอันเนื่องมาจากการใช้และให้บริการรถแท็กซี่ลดลง, ผู้ใช้และผู้ขับขี่แท็กซี่มีความมั่นใจในการใช้และให้บริการมากขึ้น ในด้านของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะสามารถจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น”

ส่วนในระยะยาวนั้น หากโครงการนี้สำเร็จและสามารถปฏิบัติได้เป็นอย่างดีจะลบภาพลักษณ์ที่ติดลบของการให้บริการรถแท็กซี่ รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ แล้วยังเป็นโครงการที่สามารถต่อยอดและนำร่องเพื่อนำระบบนี้ไปใช้ประโยชน์กับยานพาหนะส่วนตัวหรือรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น ภายในประเทศได้” เฟื่องฟ้ากล่าวสรุป

เทคโนโลยีก็เหมือนกับเหรียญมี 2 ด้านเสมอ นอกจากคุณจะใช้มันไปในทางไหน อย่างไรแล้ว ภาครัฐ หรือแม้กระทั่งเอกชนก็น่านำไอเดียดีๆ ไปต่อยอดได้มากมาย เพียงแค่ว่า “มีวิสัยทัศน์” หรือไม่...? เท่านั้นเอง

http://www.thairath.co.th/content/life/126459