Gmail on October 31, 2010, 03:59:23 PM
ตำรวจอุ่นเครื่องก่อนตรวจจับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ 1 พ.ย. นี้

ตำรวจตรวจค้นองค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เกือบ 600 ผลิตภัณฑ์

ในคอมพิวเตอร์มากกว่า 100 เครื่อง

 

กรุงเทพ ( 28 ตุลาคม 2553) – ในระหว่างที่กำลังเตรียมสืบสวนองค์กรธุรกิจ ที่พบเบาะแสว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 2,000 รายชื่อนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) ได้เข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจสองแห่ง พบคอมพิวเตอร์ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก ถือเป็นการอุ่นเครื่องก่อนเริ่มจริงในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่จะมุ่งเป้าไปที่องค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

 

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปอศ. ได้แถลงข่าว การกวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วประเทศ มุ่งเป้าไปที่องค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย โดยขณะนี้มีรายชื่อองค์กรธุรกิจจำนวน 2,000 รายชื่อ อยู่ในมือ เพื่อการสืบสวน และดำเนินคดีต่อไป พ.ต.อ.        ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ บก.  ปอศ. กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจบางแห่ง ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ็นต์ หรือใบอนุญาต ทั้งหมด ในขณะที่บางแห่ง มีไลเซ็นต์ หรือใบอนุญาต ไม่ครบ เมื่อเทียบกับจำนวนซอฟต์แวร์ ที่ใช้อยู่ภายในบริษัท”  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะถือเป็นการเริ่มต้นของการกวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ระลอกใหม่ แต่การลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจที่จะดำเนินการได้ทันที

 

“เกี่ยวกับองค์กรธุรกิจทั้งสองแห่งนี้  เราพบว่า มีคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก ที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ เราพิจารณาแล้วเห็นสมควรว่า เราควรจะเข้าดำเนินการเชิงรุกทันที มากกว่าที่จะรอให้ถึงเวลา”  พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ บก.    ปอศ.  กล่าว  “การสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงให้เห็นชัดว่า องค์กรธุรกิจทั้งสองแห่งมีการกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง”

 

องค์กรธุรกิจ ที่ถูกตั้งข้อหาว่าใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ็นต์ หรือใบอนุญาต หรือข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นี้ ประกอบด้วย บริษัทผู้ผลิต ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและผู้ถือหุ้นชาวออสเตรเลีย โดยบริษัทดังกล่าวใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่า 416 โปรแกรมซึ่งติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 68 เครื่อง  นอกจากนี้ ยังเป็นบริษัทของคนไทยอีกแห่ง ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนำเข้าเครื่องจักรและการออกแบบ ถูกเข้าตรวจค้น และพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 174 โปรแกรม บนเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 40 เครื่อง   ในบรรดาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ถูกตรวจค้น พบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของบริษัทไทยซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด อโดบี (Adobe) ออโต้เดสค์ (Autodesk) ไมโครซอฟต์ (Microsoft) และโซลิด เวิร์คส์ (SolidWorks)

 

บริษัทร่วมทุนไทย-ออสเตรเลีย มีทุนจดทะเบียน 238 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทไทย มีทุนจดทะเบียน 114 ล้านบาท

 

อีกเพียงไม่กี่วัน การกวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วประเทศ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายนแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความมั่นใจในความพยายามที่จะลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ภายในสิ้นปีนี้

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก บก. ปอศ. กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จะยังคงมีอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้ โดยพิจารณาจากหมายค้น ที่ออกตามพยานหลักฐานที่รวบรวมได้จากการสืบสวน เบาะแสจากผู้ปราถนาดีที่ไม่ประสงค์ออกนาม และคำร้องทุกข์กล่าวโทษจากเจ้าของสิทธิ

 

“อย่างที่เราได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาว่า ความพยายามในการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้น เป็นความพยายามของเราในการทำงานทุกๆ วัน” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ บก.    ปอศ. กล่าว  “อย่างไรก็ตาม มีหลายช่วงเวลา ที่ความพยายามของเราไปถึงจุดที่เข้มข้น และเดือนพฤศจิกายนนี้ลากยาวไปจนถึงสิ้นปี นับเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่ง”

 

อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 75 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำการสืบสวนอย่างต่อเนื่อง และเข้าตรวจค้นจับกุมองค์กรธุรกิจหลายแห่งเป็นประจำทุกสัปดาห์  โดยเป็นองค์กรธุรกิจที่พบว่ามีหลักฐานการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์  การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทำให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจจะถูกปรับ และอาจมีโทษถึงจำคุก

 

จากการเข้าตรวจค้นจับกุมรวมกันสำหรับปีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มูลค่าสูงถึง 312 ล้านบาท

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเน้นย้ำว่า องค์กรธุรกิจเอกชนเป็นเป้าหมายหลัก ของการตรวจค้นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ส่วนการกล่าวอ้างว่ามีการจับกุมซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในโรงเรียน สถานศึกษา หรือองค์กรภาครัฐนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

 

ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ เข้ามาที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับรางวัลสูงถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th