กระทรวงวิทย์ฯ จับมือ ทรู ให้ความรู้เทคโนโลยี 3G
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดโครงการเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ สัญจร โดยมี ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าวและเปิดการเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร ในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่ไม่ตกเทรนด์..เทคโนโลยี 3G” พร้อมทั้งคุณอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการ คอนเวอร์เจนซ์ และกรรมการผู้จัดการกลุ่มลูกค้าธุรกิจ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ นักวิจัยจากหน่วยงานปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมไร้สายและความมั่นค (เนคเทค) อาจารย์พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และศิลปินจากอคาเดมีแฟนตาเซีย AF ที่จะมาให้ความรู้และความบันเทิงครั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2553 ณ True Digitalpark ชั้น 4 อาคาร Digital Gateway สยามสแควร์ ซอย 4 เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยได้พบปะพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ที่มีประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ความสำคัญในนโยบายการสร้างความรู้ ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องวางรากฐานตั้งแต่เด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ จึงได้จัดกิจกรรม เสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร ให้เป็นเวทีที่สร้างโอกาสในการสื่อสารเรื่องราวข้อมูล ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยมีรูปแบบให้เยาวชนและประชาชนที่สนใจ มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเข้าถึงกลุ่มเยาวชน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนสถานที่ในการจัดกิจกรรม ณ True Digitalpark สยามสแควร์ ซอย 4 ซึ่งเป็นศูนย์รวมของกลุ่มเยาวชนไทยรุ่นใหม่ ที่ใฝ่หาความรู้ ความก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ และถือเป็นถิ่นความรู้ของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างปัญญาในสังคม สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมฐานความรู้ ดังนั้น ภารกิจสำคัญของกระทรวงวิทยาศาสตร์ คือ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างคนดีและเก่งในทุกระดับ รวมทั้งสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับ โดยต้องสร้างและบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้เด็กและเยาวชนมีกระบวนการคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นการสร้างปัญญาบนรากฐานของหลักเหตุผล และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์
ยังเป็นเรื่องราวที่มีมนต์เสน่ห์ เพราะเป็นความจริงของธรรมชาติ ที่สามารถพิสูจน์ได้ มีคุณประโยชน์มากมาย และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ของพวกเราทุกคน ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงจัดกิจกรรมเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ โดยบุกมาถึงถิ่นความรู้ของเด็กและเยาวชน ที่สยามสแควร์นี้ เพราะเด็กและเยาวชนเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาประเทศต่อไป
สำหรับการเสวนา ในวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี 3 G ซึ่งได้รับการกล่าวถึงจากผู้คนในสังคมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่สามารถช่วยให้การรับส่งข้อมูล ข่าวสาร เป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้บุคลากรแวดวงในทุกสาขาอาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถอำนวยความสะดวกและนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันและการทำงานได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา เกษตรกรรม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ของคนในสังคม เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการ คอนเวอร์เจนซ์ และกรรมการ ผู้จัดการกลุ่ม ลูกค้าธุรกิจบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัท ทรูฯ มีความยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องเทคโนโลยี 3 G โดยเฉพาะกับเด็กและ เยาวชน
ทั้งนี้ ประโยชน์ของเทคโนโลยี 3G เป็นเสมือนบรอดแบนด์ไร้สาย และเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอการวางสายเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง และเวลานาน และประโยชน์ของ 3G ไม่ใช่เพียงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่จะต้องมีการรวบรวมข้อมูล สาระ และคอนเทนท์ดีๆ เพื่อให้มีการใช้งานมากขึ้น และใช้ประโยชน์จาก 3G ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ จะเห็นว่าการนำเทคโนโลยี 3G เพื่อมาใช้สร้างองค์ความรู้ในการติดต่อสื่อสารระหวางภาครัฐและเอกชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงได้ เช่น ข้อมูลด้านเกษตรกรรม การส่งออก-นำเข้า รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าสร้างได้ให้เพิ่มขึ้น เช่น เรื่องของ E-commerce ที่มีความจำเป็นต้องมีการเตรียม infrastructure ให้พร้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ลดปัญหาพ่อค้าคนกลาง สร้างธุรกรรมระดับภูมิภาค ทำให้ประชาชนสามารถนำเสนอสินค้าสู่สากลได้ ทำให้มูลค่าสินค้าของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก
ด้าน ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมไร้สายและความมั่นคง (เนคเทค) กล่าวว่า เทคโนโลยี 3G เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากเทคโนโลยี 2G ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเป็นเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูล ประโยชน์ที่เราจะได้จาก 3G ก็คือ คลื่นความถี่ที่สนับสนุนให้การรับส่งข้อมูลทั้งข้อมูลภาพและเสียงรวมถึงไฟล์ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น เรียกว่าสามารถรับส่งข้อมูลได้ทุกที่บนโลก เพียงแค่มีเครื่องรับสัญญาณซึ่งก็คือโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่รองรับการใช้งาน 3G
“ความต้องการใช้เทคโนโลยีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการนั้นๆ ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาความต้องการใช้งานก็จะเกิดขึ้นตามมา เช่น เดิมเราใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อโทรเข้าโทรออกเท่านั้น แต่เมื่อสามารถถ่ายรูปและชมโทรทัศน์ได้ เราก็ต้องการใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายรูปหรือชมโทรทัศน์ได้ หรือคนเป็นจำนวนมากที่ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นอินเตอร์เน็ต เสมือนว่าเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ดังนั้น หากประเทศไทยนำเทคโนโลยี 3G เข้ามาใช้ ก็เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้ใช้งานในวงกว้างแน่นอน"
ทั้งนี้หากมีเทคโนโลยี 3G จริง บรรดาผู้ให้บริการก็จะพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เราได้รับประโยชน์จาก 3G ไปพร้อมกัน และทำให้ 3G สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในวงกว้างมากขึ้น เช่น ไลฟ์สไตล์ด้านบันเทิงการดูหนัง ฟังเฟลง ไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพ กลเม็ดเคล็ดลับการดูแลรักษาสุขภาพ รู้เท่าทันอาการของโรคและรู้จักโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไลฟ์สไตล์ด้านการเกษตร การบำรุงรักษาต้นไม้ อัพเดตพันธุ์ไม้ใหม่ๆ ไลฟ์สไตล์ด้านศิลปะ และไลฟ์สไตล์ด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือเราไม่ได้ใช้ 3G ตามคนอี่น ใช้เพราะเห็นว่าประเทศอื่นเขาใช้กัน หรือใช้เพราะเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์เท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้เราจำเป็นต้องใช้ 3G เพราะเราต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง ทั้งเพื่อหาข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และใช้ 3G เพื่อให้เกิดประโยชน์กับบุคคลรอบข้าง สังคม และประเทศชาติต่อไปในอนาคต
“เรายังต้องใช้เทคโนโลยี 3G อย่างระมัดระวังและใช้อย่างรู้เท่าทัน โดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เช่น วัน เดือน ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน และเลขที่บัตรเอทีเอ็ม เป็นต้น เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในทางที่ไม่ดี และส่งผลให้เจ้าของข้อมูลได้รับความเดือดร้อนได้ในภายหลัง” ดร.กิตติ กล่าวในที่สุด