pooklook on October 02, 2010, 09:01:32 AM


คณะวิทย์ จุฬาฯ จัดเวทีให้ข้อเท็จจริง "พายุสุริยะ" ก่อนตระหนกเกินเหตุ ชี้เกิดขึ้นตามวัฎจักร "จุดมืด" บนดวงอาทิตย์แต่มีโอกาสเพียง 1-2 ครั้ง เมื่อปี 2548 เคยเกิดพายุสุริยะมากที่สุด แต่ไม่กระทบการดำเนินชีวิตมนุษย์ ระบุตราบที่ยังอยู่บนพื้นโลก มีสนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศปกป้อง ที่ต้องห่วงคือนักบินอวกาศและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์นอกโลก
       
       ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยเกี่ยวกับ "พายุสุริยะ" ที่จะเกิดขึ้นระหว่างปี 2555-2556 ซึ่งสืบค้นต้นตอมาจากการแถลงข่าวเตือนของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอังกฤษ เกี่ยวกับการเกิดพายุสุริยะ ทำให้เกิดความกังวลว่า ประชาชนจะเกิดความตื่นตระหนกต่อข่าวดังกล่าวและลือกันไปอย่างผิดๆ ทางคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดเสวนาเรื่อง "พายุสุริยะภัยร้ายจากดวงอาทิตย์ที่อาจจะเกิดขึ้นบนโลก คนไทยจะเตรียมรับมืออย่างไร" เมื่อวันที่ 30 ก.ย.53
       
       ในการเสวนาดังกล่าวได้เชิญ ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับลมสุริยะและพายุสุริยะมาเป็นเวลา 21 ปี มาเป็นผู้ให้ความรู้และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งนักฟิสิกส์จากมหิดลกล่าวว่า พายุสุริยะไม่เคยทำให้มนุษย์บนโลกตายหรือบาดเจ็บ หรือทำให้สิ่งปลูกสร้างพัง แต่มีบันทึกว่าดาวเทียมและยานอวกาศที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทพังเสียหาย และเป็นอันตรายต่อมนุษย์อวกาศ รวมถึงมีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าในประเทศใกล้ขั้วโลกเหนือ แต่ผลกระทบเหล่านั้นไม่เคยเกิดในไทยและคิดว่าคนไทยไม่้ได้รับผลกระทบ
       
       ทั้งนี้ คาดว่าจะเกิดพายุสุริยะขึ้นในช่วงปี 2554-2556 โดยตลอดทั้งช่วงดังกล่าวอาจมีพายุสุริยะที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมมนุษย์ได้ 1-2 ครั้ง
       
       อย่างไรก็ดี ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดพายุสุริยะขึ้นเมื่อไร ซึ่งที่มาของพายุสุริยะคือการมีจุดมืด (sunspot) บนดวงอาทิตย์ โดยการเกิดพายุมีความรุนแรงหลายระดับ ซึ่งในขณะนี้สามารถตรวจพบการเกิดพายุสุริยะเช่นกันแต่เกิดขึ้นน้อย และนอกจากพายุสุริยะแล้วยังมีพายุสุริยะที่เกิดขึ้นเป็นปกติ
       
       ส่วนจุดมืดนั้นมีอุณหภูมิประมาณ 4,000 เคลวิน ซึ่งต่ำกว่าผิวดวงอาทิตย์ทีมีอุณหภูมิประมาณ 6,000 เคลวินเล็กน้อย และด้วยโครงสร้างที่เป็นเส้นแรงแม่เหล็กซึ่งเก็บสะสมพลังงานไว้เหมือนหนังยาง เมื่อเก็บสะสมพลังงานไว้มากจะแปลงพลังงานแม่เหล็กออกไปเป็นความร้อนซึ่งจะทำให้เกิดการปะทุ (Solar flare) หรือแปลงออกไปในรูปพลังงานจลน์ซึ่งจะเป็นปล่อยก้อนมวลจากโคโรนา (coronal mass ejection:CME) ซึ่งพายุสุริยะนั้นเป็นผลจากการสะสมพลังงานแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จนระเบิดออกมา
       
       “ตอนนี้เหมือนดวงอาทิตย์จะฟื้นตัวช้ากว่าปกติคาดว่าจะใช้เวลา 13 ปี แต่วัฏจักรก่อนหน้านี้ค่อนข้างเร็วประมาณ 9 ปี ดวงอาทิตย์ไม่มีวัฏจักรที่แน่นอนแต่โดยเฉลี่ยประมาณ 11 ปี ตอนนี้จุดมืดยังน้อยอยู่ คาดว่าปี 2555-2556 จะมีจุดมืดมากที่สุด แต่ปีที่ดวงอาทิตย์ผลิตพายุสุริยะมากที่สุดคือปี 2548 ซึ่งห่างจากปีที่มีจุดมืดมากที่สุดตั้ง 5 ปี แต่ครั้งนั้นไม่เกิดผลกระทบมากต่อมนุษย์" ศ.ดร.รูฟโฟโลกล่าว
       
       พร้อมกันนี้ ศ.ดร.รูฟโฟโลยังได้กล่าวถึงงานวิจัยในการตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนเพื่อวัดปริมาณรังสีคอสมิคที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศ โดยมีเครื่องมือตรวจวัดอยู่ที่สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตฐานทัพอากาศบนยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
       
       ทั้งนี้ เมื่อรังสีคอสมิคผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามาจะเกิดการแตกตัวกลายเป็นอนุภาคเล็กๆ และอนุภาคนิวตรอนเป็นอนุภาคหนึ่งชนิดหนึ่งจากการแตกตัวดังกล่าว ซึ่งปริมาณนิวตรอนที่วัดได้จะบ่งชี้ถึงปริมาณรังสีคอสมิคที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศ ยิ่งวัดอนุภาคนิวตรอนได้มาก ยิ่งมีปริมาณรังสีคอสมิคเข้ามามาก และจากการวัดนิวตรอนกับความเร็วลมสุริยะ พบว่าเมื่อลมสุริยะมีความเร็วมากจะวัดอนุภาคได้น้อย เพราะลมสุริยะจะช่วยผลักรังสีคอสมิคออกไป
       
       สำหรับผลกระทบของพายุสุริยะต่อสิ่งมีชีวิตนั้น ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตราบใดที่ยังอยู่บนโลกเราจะปลอดภัยจากเกราะ 2 ชั้น นั่นคือ สนามแม่เหล็กโลกและชั้นบรรยากาศ แต่การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กจากพายุสุริยะนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีิวิตที่ใช้เข็มทิศชีวภาพตรวจวัดสนามแม่เหล็กโลกเพื่อนำทาง เช่น โลมา นกอพยพ และวาฬ เป็นต้น