“Banana Pok” ทีมเมืองลูกย่าโมกับสินค้า “กล้วยกระทงทอง”คว้าชัย 2 แสนบาท จากโครงการ One-2-Call! BrandAge AWARD ปี4
เพียงสองเดือนหลังเข้าร่วมแข่งขันโครงการเขียนแผนการพัฒนาตลาดของ One-2-Call! BrandAge Award ปีที่ 4 ตอน “เขียนแผน เรื่อง กล้วย กล้วย” ...โลกทัศน์และมุมคิดของทีมนักศึกษาจำนวนมาก ที่มาจากทุกภาคทั่วประเทศในการสมัครเข้าร่วมแข่งขันก็ถูกพลิกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกับทีม “Banana Pok” นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ สาขาการตลาด ชั้นปีที่4 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ พร้อมทุนการศึกษา 2 แสนบาทไปครอง
โดยมีสิ่งหนึ่งที่นิสิต-นักศึกษาจากทุกรั้วมหาวิทยาลัยได้รับกลับไปเหมือนๆกันก็คือ ความรู้และประสบการณ์อันประเมินค่าไม่ได้ ที่พวกเขาได้รับตั้งแต่ผ่านเข้าสู่รอบแรก จนถึงรอบชิงชนะเลิศ รวมทั้งทีมผู้ชนะเลิศระดับประเทศ “Banana Pok” ที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คนที่สู้ไม่ถอย รวมหัวช่วยกันคิดแผนธุรกิจ “กล้วยกระทงทอง” จนสำเร็จ ได้แก่ นายสุรเดช เชียงใบ, นางสาวอนุธิดา พืมขุนทด, นางสาววิภาวรรณ มั่งมี และนางสาววิจิตรา พูดขุนทด
หนึ่งในสมาชิกทีม Banana Pok “น้องปอ-วิจิตรา พูดขุนทด” เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “พวกเรารู้ข่าวเกี่ยวกับการแข่งขัน ก็มาคุยกันว่าเราจะลองส่งแผนกันไหม ถ้าทำต้องทำจริง ต้องเหนื่อยจริง และต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่าอาจไปไม่ถึงฝันเพราะมีทีมคู่แข่งหลายร้อยทีมจากทุกภาค แต่ทุกคนก็คิดว่าในเมื่อโอกาสเปิดกว้างก็ไม่ควรทิ้ง ก็มาเริ่มคิดกัน ออกไปดูว่าในจังหวัดของเรามีสินค้า OTOP ที่ทำจากกล้วยอะไรบ้าง ที่พอจะพัฒนาให้โกอินเตอร์ได้ด้วย ในที่สุดเราก็เกิดปิ๊งไอเดียทำ กล้วยกระทงทอง จากพี่ที่ร้านข้าวที่พวกเรากินกันเป็นประจำ แนะนำว่าให้เอากล้วยมาทำเป็นแป้งกระทง จะสามารถเก็บได้นานกว่าการทำกล้วยฉาบ กล้วยเส้นอย่างที่เราคิดกันไว้”
น้องแนน-วิภาวรรณ มั่งมี เล่าเสริมว่า “เมื่อได้สินค้าแล้ว ก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนที่เรียนสายคหกรรมศาสตร์ ถึงวิธีการพัฒนาสินค้าให้สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี ช่วยกันคิดว่าจะสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้กับสินค้าอย่างไรได้บ้าง สุดท้ายก็ได้ไอเดียว่าเราจะนำเสนอรสชาติแบบไทย ๆ ที่โดดเด่นใน 4 ภาคมาใส่ไว้ในกล้วยกระทงทอง ได้แก่ ขนมลำไยอบแห้งที่สื่อถึงความอ่อนหวานละมุนละไมของภาคเหนือ อินทผลัมกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์อันเลื่องชื่อของภาคใต้ ส่วนภาคกลางเป็นฝอยทอง และภาคอีสานเราเลือกกระยาสารท”
“ส่วนหนึ่งของความสำเร็จน่าจะมาจากการลงพื้นที่จริง ลงมือทำจริง ทำให้เรามีความรู้ลึก รู้จริง การค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องไม่ใช่เพียงแค่คิดจินตนาการเอาเอง ตรงนี้ทำให้เรามองภาพได้กว้างและชัดขึ้น ยิ่งเมื่อแผนการตลาดของพวกเราผ่านเข้าสู่รอบแข่งขันระดับภูมิภาค ซึ่งเราได้เข้าแคมป์การตลาด ได้พบกับเพื่อน ๆ รวม 21 ทีมจาก 6 ภาคทำให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการได้ฟัง กูรูทางด้านการตลาดมาสอนวิธีคิด วิธีการวิเคราะห์บนพื้นฐานของความจริง และได้คณะกรรมการให้ข้อคิดเห็นและวิจารณ์แผนของเรา ก็ยิ่งทำให้เราสามารถปรับปรุงแผนการตลาด “กล้วยกระทงทอง” ตรงเป้ายิ่งขึ้น และเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการวางแผนบนโลกของความจริง กับแผนบนกระดาษ” น้องอุ๊-อนุธิดา พืมขุนทด กล่าวเสริม
ส่วนน้องปู-สุรเดช เชียงใบ หัวหน้าทีม เผยกลยุทธ์แห่งชัยชนะว่า “อีกสิ่งที่เป็นจุดเด่นของพวกเราคือ ความอึด ขยัน อดทน ใจสู้ เราจะนำสิ่งที่ได้รับ feed back ทั้งแผนการตลาด หรือการพรีเซ้นต์ มาปรับปรุงให้ดีขึ้นทุกครั้ง ซึ่งตอนแรก ๆ พวกเราพรีเซ้นต์ได้น่าง่วงมาก แต่เราก็นำคำวิจารณ์นั้นมาปรับปรุงตัว และซ้อมกันหนักมาก ฝึกฝนจนกระทั่งได้รับคำชมว่าดีขึ้น สมาชิกในทีมทุกคนก็ช่วยกันทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ จนสุดท้ายเราก็คว้าชัยชนะมาได้ และทำให้เราคิดอยากเป็นผู้ประกอบการจริงๆ”
ทางด้านนายสรรค์ชัย เตียวประเสิรฐกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด เอไอเอส หนึ่งในคณะกรรมการผู้ตัดสิน กล่าวว่า “แผนการตลาดที่ดี ต้องเน้นสร้างสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ มีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด รู้ความต้องการของตลาด รู้จักคู่แข่งขัน และต้องมีความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิคและต้นทุน สิ่งที่คนมักมองข้ามไปคือ การทำวิจัยตลาด อย่างเช่นการสัมภาษณ์เจาะลึก หรือสัมภาษณ์กลุ่มเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ...ในปีนี้ เราได้เห็นพัฒนาการของเยาวชนขึ้นอีกมากโดยเฉพาะทีมจากต่างจังหวัดที่ต้องขอชื่นชมจริงๆ”
เรื่องกล้วย กล้วย อาจกลายเป็นเรื่องหิน ถ้าใจไม่สู้ ...แต่ถ้าใครมีจิตใจมุ่งมั่นสู้ไม่ถอย เรื่องที่หลายคนมองว่า หิ๊น หิน ก็อาจกลายเป็นเรื่อง กล๊วย กล้วย ไปเลยก็ได้...ใครจะรู้