BWG แจงชาวบ้านสระบุรี ร้องนายกฯไม่เกี่ยวกับบริษัท ยืนยันกระบวนการกำจัดขยะได้มาตรฐาน/ตรวจสอบได้
“เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน” แจงกรณีชาวบ้าน จ.สระบุรี บุกร้องเรียนนายกฯ ถึงทำเนียบรัฐบาล เป็นเรื่องการร้องเรียนเพื่อให้ปลด ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี หลังจากไม่พอใจเรื่องการทำงาน ไม่เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทฯ “สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ” ย้ำอีกครั้งกระบวนการกำจัดขยะได้มาตรฐานและถูกต้องตามเกณฑ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เห็นได้จากการผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายครั้ง ยืนยันพร้อมเปิดรับการตรวจสอบจากทุกหน่วยงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการทำธุรกิจ
นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG เปิดเผยถึงกรณีที่ชาวบ้านจาก จ.สระบุรี เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรื่องได้รับผลกระทบจากบ่อกำจัดขยะอุตสาหกรรมว่า การร้องเรียนของชาวบ้านในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทฯ เนื่องจากการร้องเรียนครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องขอให้ย้ายและลงโทษนางวารุณี จินารัตน์ ผู้บริหารโรงพยาบาลราชวิถี โดยระบุว่าบกพร่องต่อหน้าที่ผู้บริหารโรงพยาบาลราชวิถี และประพฤติผิดจรรยาบรรณข้าราชการต่อราษฎรที่ป่วย และคาดว่าได้รับสารพิษจากบ่อกำจัดขยะในจังหวัดสระบุรี และกลั่นแกล้งแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือราษฎรที่คาดว่าเจ็บป่วยจากสารพิษ และขอไม่ให้ย้ายแพทย์หญิง อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ออกไปจากโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทแต่ประการใด
"การมายื่นหนังสือของชาวบ้านในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน แต่มีสาเหตุมาจาก ความขัดแย้งของ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี กับข้าราชการในสังกัด แต่ใช้ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน เป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง ซึ่งในข้อเท็จจริงปัจจุบันบริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติไม่ได้มีปัญหา ส่วนกระบวนการตรวจสอบคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางราชการ ซึ่งทางบริษัทฯ ยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือตลอดเวลา เพราะมั่นใจว่าการทำงานทุกขั้นตอนมีความโปร่งใสและดำเนินการถูกต้องและได้มาตรฐาน เนื่องจากเราเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้ถือหุ้นเป็นพันคนทำอะไรต้องโปร่งใส ถูกต้องและตรวจสอบได้อยู่แล้ว และจากการตรวจสอบได้ข้อมูลมาว่า ความจริงแล้วหมออรพรรณไม่ได้ถูกส่งตัวมาจากรพ.ราชวิถีตามที่ได้กล่าวอ้างกับชาวบ้านแต่อย่างใด ซึ่งผอ.โรงพยาบาลราชวิถีและกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาปฏิเสธการส่งตัวหมออรพรรณแล้ว"
อย่างไรก็ตามในขั้นตอนต่อไป บริษัทคงต้องดำเนินการยื่นฟ้องหมออรพรรณต่อศาล และมีหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาลงโทษหมออรพรรณ รวมถึงยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อประธานคณะกรรมการสาธารณสุข เพื่อพิจารณาทบทวนรายงานที่มีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เป็นเท็จของหมออรพรรณ โดยบริษัทเคารพในดุลยพินิจของคณะกรรมการในการพิจารณารายงานดังกล่าว
นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรมของบริษัทฯ เป็นศูนย์กำจัดขยะที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ตรวจสอบและเฝ้าระวังเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ทั้งด้านสภาพอากาศ น้ำ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยทางด้านอากาศบริษัทฯ มีมาตรการ ควบคุมกลิ่นที่เกิดจากการดำเนินงานอย่างเข้มงวดและมีการเฝ้าระวังโดยการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งภายในพื้นที่โครงการ และบริเวณโดยรอบพื้นที่โครงการ เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้จากการตรวจวัดว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นสาเหตุในการก่อมลพิษทางอากาศให้แก่ชุมชนหรือไม่เป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่ มิถุนายน 2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และพบว่า ศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่อง น้ำ อากาศ จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้
"เรื่องน้ำเห็นกันชัดๆ ว่า ไม่มีการปล่อยทิ้ง น้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำภายนอกพื้นที่โครงการ เนื่องจากได้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อทำหน้าที่รวบรวมและบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายในโครงการ ตลอดจน น้ำชะขยะที่เกิดจากการฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียที่ก่อสร้างขึ้นสามารถรองรับน้ำเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างเพียงพอ และเป็นบ่อบำบัดแบบปิด (Close system) นอกจากนี้ BWG ได้ติดตั้งระบบ Reverse Osmosis (RO) ในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการบำบัดเพื่อกรองน้ำที่ผ่านการบำบัดแบบชีวเคมีให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งยังได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์ใหม่ ได้แก่ ใช้รดพื้นถนนเพื่อลดฝุ่น ใช้รดต้นไม้ โดยไม่มีการปล่อยออกนอกพื้นที่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องมาโดยตลอด"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้เคยถูกร้องเรียนจากผู้แทนชาวบ้านตำบลหนองปลาไหล จ.สระบุรี ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ แต่หลังจากนั้น กลุ่มผู้ร้องเรียนดังกล่าวได้ยื่นหนังสือถอนเรื่องร้องเรียนไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2551 ต่อ เลขาธิการวุฒิสภา หลังจากผู้ร้องเรียนได้ตรวจสอบและรับฟังคำชี้แจงจากบริษัทฯ แล้วพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการประกอบกิจการของ BWG แต่อย่างใดทั้งสิ้น และหลังจากนั้นมีกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจากที่มีชาวบ้านประท้วงปิดถนนพหลโยธินเพื่อเรียกร้องให้ปิดศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรม จังหวัดสระบุรี ทำให้มีการหยุดประกอบกิจการเพียง 1 วัน แต่หลังจากนั้นก็มีคำสั่งออกมายกเลิกคำสั่งดังกล่าว เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทำให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการได้ตามปกติ และไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อธุรกิจของบริษัทฯ
เขากล่าวต่อถึงแนวโน้มผลประกอบการของ BWG ในปีนี้ว่า ยังมีทิศทางที่ดี โดยจะพยายามรักษาระดับการเติบโตเอาไว้ไม่ให้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 611.07 ล้านบาท แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐมีการเข้มงวดในการสนับสนุนให้บริษัทที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการกำจัดขยะที่ถูกวิธี ที่มีอยู่มากกว่า 70-80% เข้ามาอยู่ในระบบก็จะทำให้ธุรกิจนี้ได้รับประโยชน์ด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อ BWG อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ มีจุดแข็งในการให้บริการที่ครบวงจรทั้งหลุมฝังกลบ บำบัด รีไซเคิล และเตาเผา ถือเป็นผู้นำในธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ นอกจากนั้นปีนี้บริษัทฯ จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากโครงการกำจัดขยะเทศบาลนครราชสีมา มูลค่ารวม 412 ล้านบาท และบริษัท อัคคีปราการ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริหารเตาเผาขยะความร้อนสูง ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ จะพลิกมามีกำไรเป็นครั้งแรก ก็จะสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ยิ่งมีทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลบริษัท บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG
บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจการบริหารและจัดการสิ่งปฏิกูลฯอย่างครบวงจร (One Stop Service) โดยธุรกิจหลักที่ให้บริการมาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ และบริษัทสามารถดำเนินการได้เอง คือ การกำจัด (Disposal) ซึ่งในช่วงเริ่มแรก ปี 2541 เป็นการกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล และต่อมาในปี 2548 ได้ขยายไปสู่การกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัย (รวมทั้งการฝังกลบอย่างปลอดภัยเมื่อทำการปรับเสถียร หรือทำให้เป็นก้อนแข็งแล้ว) โดยมีศูนย์บริหารและจัดการฯ อยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งภายในศูนย์บริหารและจัดการฯ บริษัทยังสามารถให้บริการบำบัด (Treatment) สำหรับการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางเคมีกายภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทใช้ในการบำบัดน้ำเสียภายในศูนย์บริหารและจัดการฯ ของบริษัทเป็นส่วนใหญ่ แต่หากในอนาคตบริษัทมีกำลังการผลิตเหลือ บริษัทมีนโยบายให้บริการบำบัดน้ำเสียแก่ลูกค้าภายนอกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2550 บริษัทได้มีการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติมในการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) ด้วยการทำเชื้อเพลิงผสม (Fuel Blending) โดยสามารถเริ่มให้บริการในธุรกิจนี้ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 และนอกจากนี้บริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่การบำบัด (Treatment) ด้วยวิธีเผาทำลายในเตาเผาเฉพาะสำหรับของเสียอันตราย ผ่านบริษัท อัคคีปราการ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย นอกจากนั้น บริษัทมีรายได้ค่าบริการจากการจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ด้วยวิธีการอื่นซึ่งบริษัทมิได้เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองอีกส่วนหนึ่งด้วย อาทิ การส่งไปเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือเผาทำลายร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ และการส่งไปยังโรงงาน เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ (Recycle) เป็นต้น