วัน-ทู-คอล! จัดแคมป์ “เหลาไอเดีย” ปั้นนักการตลาดหน่อใหม่ ในโครงการเขียนแผนธุรกิจ ปีที่ 4 ตอน “เรื่อง กล้วย กล้วย”
“ชัยชนะบนสนามการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องอาศัยความพร้อมและการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีของผู้เข้าร่วมแข่งขัน”… คำพูดนี้ ใช้ได้กับทุกวงการ โดยเฉพาะเวทีลับสมองประลองไอเดีย ที่มีเหล่ากูรูผู้มากประสบการณ์คอยเป็นผู้ตัดสินชะตาว่าใครจะได้อยู่ต่อ?” ล่าสุด วัน-ทู-คอล! จึงจัดแคมป์เวิร์คช็อปสุดฮิป ในโครงการ “One-2-Call! BrandAge AWARD ประกวดแผนพัฒนาธุรกิจ ปีที่ 4 ตอน เรื่อง กล้วย กล้วย” ณ โรงแรมสักภูเดือน จ.นครราชสีมา ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมและมอบความรู้ทางด้านการตลาดให้แก่นักการตลาดสายเลือดใหม่จากมหาวิทยาลัยทุกภาคทั่วประเทศร่วม 100 ชีวิต จาก 21 ทีม ที่นำแผนการตลาดฝ่าด่านการคัดเลือกในรอบแรกระดับภูมิภาค จนมาสู่การคัดเลือกรอบ 6 ทีมสุดท้ายในวันนี้
3 วัน 2 คืน ที่เยาวชนต่างรั้วมหาวิทยาลัยต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สามารถแปรความแตกต่างกันไปได้ ก็คือ การทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อจะได้เห็นทัศนคติ แนวความคิดของเพื่อนในวัยเดียวกัน ได้พบประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขปัญหา และการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ คือความประทับใจที่เหล่าเยาวชนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน
โดยการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปครั้งนี้ ทางวัน-ทู-คอล! ได้เชิญกูรูดังในแวดวงธุรกิจ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล จำกัด มาให้ความรู้ด้านการตลาดส่งออก Inter Marketing โดย ดร.ฉัตรชัย ได้ให้แนวคิดดีๆ ไว้ว่า “ความแตกต่างของการทำตลาดในประเทศและต่างประเทศอันดับแรกเลย คือ เรื่องของค่าเงินที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทุกวันนี้ค่าเงินผันผวนเปลี่ยนแปลงไป และอันดับที่สอง คือ สังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังให้มาก อย่างเช่น จะเอาสินค้าไปขายให้สาวเวียดนาม ก็ต้องศึกษาก่อนว่าวิถีชีวิตของสาวเวียดนามนิยมบริโภคผัก หากจะเปิดตลาดที่เวียดนาม อาจจะต้องไปศึกษาดูงาน หากตลาดโอเคจึงค่อยกระจายสินค้า”
โดย ดร.ฉัตรชัย ย้ำถึงการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จว่า “ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนของตัวสินค้า ช่องทางกระจายสินค้า บางครั้งสินค้าทุกอย่างไม่จำเป็นต้องขายทั่วประเทศก็ได้ การที่มีโครงการประกวดเขียนแผนธุรกิจ เพื่อให้เยาวชนที่สนใจอยากแสดงความสามารถได้มีเวทีหรือสนามทดลอง การเขียนแผนการตลาดก็เหมือนการสร้างพิมพ์เขียวอันหนึ่ง และดูว่าพิมพ์เขียวอันนี้มีประโยชน์หรือไม่ สามารถนำมาใช้ได้จริงหรือไม่ในสังคมปัจจุบัน”
เมื่อถึงช่วง The Show Must Go On ซึ่งเป็นช่วงการนำเสนอแผนธุรกิจของทั้ง 21 ทีมต่อคณะกรรมการก็เต็มไปด้วยสีสัน ความแปลกใหม่ในการนำเสนอสินค้า จากไอเดียของเหล่านักศึกษาว่าที่นักการตลาดรุ่นใหม่ บางทีมมี Prop ตัวอย่างสินค้ามานำเสนอให้แก่คณะกรรมการได้สัมผัสและร่วมลองลิ้ม เพื่อสร้างจุดสนใจและจุดแข็งให้กับทีม และในวันสุดท้ายของกิจกรรมเวิร์คช็อปก็มีการประกาศรายชื่อ 6 ทีมสุดท้ายจาก 6 ภูมิภาคที่เข้ารอบ ซึ่ง ได้แก่ ทีมนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยพายัพ
เริ่มต้นกับทีมที่ไอเดียเก๋ไก๋ โดนใจคณะกรรมการ อย่างทีม Banana Pok จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค (ภาคอีสาน) โดยตัวแทนกลุ่มเล่าให้ฟังถึงการทำ แผนธุรกิจกล้วยกระทงทอง ซึ่งทำการต่อยอดจากกลุ่มสินค้าแปรรูปขนมไทยบ้านไทรโยง “ทางกลุ่มอยากเจาะตลาดฐานลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวมากขึ้น และรวมถึงกลุ่มที่ทำธุรกิจด้านการโรงแรม เพื่อจะได้นำกล้วยกระทงทองมาปรับเป็นอาหารแบบค็อกเทล ซึ่งไอเดียเริ่มแรกคิดจากขนมรังนกและทำอย่างไรให้เก็บไว้ได้นานโดยไม่สารกันเสีย ทางกลุ่มจึงไปปรึกษากับเพื่อนๆที่เรียนอยู่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science) โดยนำแป้งของกล้วยน้ำว้า มาทำเป็นกระทงแทนครับ” นายสุรเดช เชียงใบ ตัวแทนกลุ่ม กล่าว
ด้าน 4 สาวชาวเหนือ หน้าละอ่อน จากทีม Very Easy ที่กำลังศึกษาคณะบริหารการจัดการ ชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยพายัพ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค (ภาคเหนือ) ที่ได้เสนอให้กล้วยไทยโกอินเตอร์ โดยเลือกทำ “Banana Fondue” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดมาจากกล้วยอบจาก อ.สเมิง จ.เชียงใหม่ โดยน้องอ้อม – น.ส.ปวีณา ตุ่นแก้ว หัวหน้าทีม เล่าให้ฟังว่า “อยากเพิ่มมูลค่ากล้วย และสามารถแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศได้ จึงนำกล้วยน้ำว้ามาอบแห้งเป็นไส้ข้างใน และเคลือบด้วยช็อคโกแลต สามารถทานเล่นได้แบบ พอดีคำ” เรียกได้ว่ามีไอเดียน่าสนใจไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ
ขณะที่สามเกลอทีม New Gen จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค (กรุงเทพฯและปริมณฑล) ซึ่งสมาชิกในกลุ่มไม่มีใครเรียนด้านการตลาดหรือบริหารจัดการเลย มีเพียงแต่ความมุ่งมั่นและความรู้ที่อยากได้ประสบการณ์นอกเหนือจากการเรียนในคณะ ซึ่งมีหัวหน้าทีมที่เคยผ่านประสบการณ์การแข่งขันเวทีนี้มาแล้ว ได้ถ่ายทอดความรู้สึกถึงการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ทางกลุ่มมุ่งเน้นที่จะตอบโจทย์ โดยตั้งใจให้ผลิตภัณฑ์สามารถทานแทนอาหารมื้อเช้าได้ จึงทำให้เกิดแผนธุรกิจ B.Breakfast ขนมสำหรับมื้อเช้าครับ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันค่อนข้างจะเร่งเรีบ ไม่ได้กินมื้อเช้า ซึ่งทางกลุ่มคิดกันว่ามันน่าจะดี หากมีขนมที่รับประทานได้ง่าย รวดเร็ว และแทนมื้อเช้าได้อย่างครบประโยชน์ครับ” มาวิน จิรไพศาลกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3 หัวหน้าทีม ยังเล่าให้ฟังต่อว่า “จุดเด่นที่ทำให้โดนใจคณะกรรมการคงเป็นแผนการตลาดที่สามารถขยายผลเข้าสู่การปฏิบัติจริงได้มากที่สุด และมีการวางแผนและคิดอย่างมีระบบ ไม่ใช่การตลาดที่เป็นแบบจินตนาการ”
นอกจากนี้ ยังมีทีมที่ชนะเลิศระดับภูมิภาคอีก 3 ทีม ซึ่งได้แก่ ทีมกล้วยฉึกๆ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ชนะเลิศระดับภาคใต้ ในชื่อแผนพัฒนากล้วยไทยสู่ตลาดโลก, ทีมที่ชนะเลิศระดับภูมิภาค ภาคตะวันออก ได้แก่ ทีม KU-RU-BA จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ชื่อแผน 365 วันตามติดชีวิต กล้วย กล้วย และทีมที่ชนะเลิศระดับภูมิภาคในเขตภาคกลาง ได้แก่ ทีม Marketing Perfect จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ในชื่อแผนแครกเกอร์กล้วย
“กล้วย” พืชเศรษฐกิจไทย ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่สำหรับตัวแทนกลุ่มที่ชนะเลิศระดับภูมิภาค ทั้ง 6 ทีม จะประกาศก้องให้คนไทยเห็นว่า กล้วย เป็นได้มากกว่าแค่ “กล้วย 1 หวี” ที่ขายอยู่ตามท้องตลาด ร่วมลุ้นและเป็นกำลังใจให้เหล่าเยาวชนหน่อใหม่ได้ ในวันจันทร์ที่ 20 กันยายนศกนี้ เวลา 9 โมงเป็นต้นไป ณ อาคารชินวัตร 1 ว่าทีมใดจะแตกหน่อไอเดียสุดเจ๋ง และครองแชมป์สุดยอดนักวางแผนการตลาด เรื่อง กล้วย กล้วย พร้อมทุนการศึกษามูลค่ากว่า 500,000 บาท