wmt on August 26, 2010, 09:24:27 AM
Deferred Demand: พลังแฝง...แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ช่วงต้นปี สำนักวิจัยส่วนใหญ่ต่างมีมุมมองคล้ายๆ กันว่าเศรษฐกิจไทยที่ทรุดตัว -2.2% เมื่อปีก่อน จะกลับมาฟื้นตัวได้ในอัตราค่อนข้างต่ำเพียง 3-4% ในปีนี้ โดยยังคงมีแรงฉุดจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่รอวันปะทุ...  ระยะครึ่งปีแรก สถานการณ์ส่วนใหญ่เป็นไปดังคาด  โดยเศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนและเปราะบาง แม้ภาคการส่งออกไทยจะขยายตัวสูงโดยได้อานิสงส์จากการกลับมาเร่งสะสมสต๊อคของภาคการผลิตทั่วโลก  ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์จลาจลทางการเมืองกลางกรุงครั้งรุนแรงช่วงเมษายน-พฤษภาคม ยิ่งบีบคั้นให้สภาพจิตใจคนไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติตกต่ำถึงขีดสุด อันเป็นสภาวะอันเลวร้ายเกินกว่าความคาดหมายที่มีมาก่อนหน้านี้...  ความเคลื่อนไหวของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ ในระยะนั้น ไม่มีสิ่งบ่งบอกใดๆ ที่ให้ความมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสกลับคืนสู่สภาวะปกติ  อย่างไรก็ตาม เพียงช่วงเวลาอันสั้นหลังเหตุการณ์จลาจลยุติลงหมาดๆ เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ทยอยเปิดเผยกลับสะท้อนภาพที่ดีกว่าที่เคยคาดไว้เดิมมาก (รูปที่ 1) คู่ขนานไปกับการปรับเพิ่มประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของสำนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศอย่างถี่ยิบ ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งปีแรกเติบโตสูงในอัตรากว่า 10% และคาดกันว่าทั้งปีอาจขยายตัวสูงถึง 6-8% โดยจัดว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย  ...สิ่งที่เกิดขึ้นให้ภาพที่แตกต่างแบบหักมุมในความรู้สึกของคนทั่วไป ระหว่างสภาวะอันเลวร้ายในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่เข้าสู่จุดวิกฤต กับตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจที่ดีจนน่าประหลาดใจ.... คำถามสำคัญก็คือ พลังที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงมาจากไหน?... และพลังดังกล่าวจะส่งผลหนุนเนื่องยาวนานเพียงใด?...

หากไล่เลียงกันจริงๆ จะพบว่ามีหลากหลายปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยพุ่งทะยานเกินคาด โดยตัวเลขการเติบโตที่สูงในครึ่งปีแรกเห็นได้ชัดว่าเกิดจากการส่งออกที่พุ่งขึ้น (+37%) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผนวกกับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของทางการและการกลับมาสะสมสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจ (Inventory restocking) ตลอดทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการเปรียบเทียบกับฐานการเติบโตที่ต่ำผิดปกติในช่วงครึ่งแรกของปีก่อนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ โดยพื้นฐานที่ผ่านมาถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีสถานะที่แข็งแกร่ง (resilience) อันเป็นผลจากการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจและการเงินที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยนี้นับเป็นทุนสำคัญในการต้านทานผลกระทบจากภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศ
               
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของฝ่ายวิจัย พลังแฝงอีกประการที่กำลังมีผลในการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างสำคัญ คือโอกาสที่อุปสงค์หรือความต้องการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่มีการสะสมอยู่มากจะกลับมาเร่งตัวขึ้นหลังจากที่เคยชะลอตัวมาหลายปี (Deferred demand) ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศต่ำผิดปกติเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านเอเชีย (รูปที่ 2) โดยมีแรงฉุดจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งอุปสงค์ที่อั้นอยู่นี้พร้อมที่จะแปลงเป็นการบริโภคจริง (Actual demand) ได้เมื่อใดก็ตามที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น รูปธรรมที่ช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น อาจดูได้จากกรณีการฟื้นตัวของตลาดสินค้าคงทน (Durable goods) เช่น ตลาดรถยนต์และตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ ที่ขยายตัวเร่งขึ้นนับจากต้นปีหลังแผ่วมาหลายปี

สำหรับการจลาจลทางการเมืองในไตรมาสที่สอง ซึ่งถือเป็นวิกฤตสังคมครั้งร้ายแรงที่น่าจะใช้เวลาเนิ่นนานในการเยียวยาผลกระทบ แต่ทว่าเหตุการณ์กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ พลันที่การจลาจลสงบลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจกลับฟื้นตัวและมีการเร่งจับจ่ายใช้สอยเร็วเกินคาด  เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเกิดจากการที่ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวล หลังพบว่าปัญหาการเมืองส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในขอบเขตค่อนข้างจำกัด อันอาจสะท้อนถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในการต้านทานต่อวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ดีพอสมควร   ทั้งนี้ การจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นโดยมีแรงเสริมจากกำลังซื้อที่มีอยู่มาก อัตราการว่างงานต่ำ มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และสุขภาพของภาคการเงินไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดีจะช่วยเกื้อหนุนการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และช่วยชดเชยแรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มแผ่วลงบ้างตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนับจากช่วงท้ายของปี 2553 ส่วนผลจากเศรษฐกิจไทยที่โตสูงมากในปีนี้อาจทำให้ตัวเลขอัตราเติบโตปีหน้าชะลอตัวลง (Base effect)   

ฝ่ายวิจัยคาดว่าพลังการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่มีอยู่มากและมีโอกาสเร่งตัวขึ้น  จะมีส่วนสำคัญช่วยพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจไทยโตสูง 6.2-7.2% ในปีนี้ และขับเคลื่อนให้โตต่อเนื่อง 3.5-4.5% ในปีถัดไป (รูปที่ 3) อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญที่จะทำให้ความต้องการใช้จ่ายในประเทศยังมีแรงส่ง (Momentum) หนุนเนื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ นั่นคือ ความเชื่อมั่นต้องไม่สะดุดหรือถูกกระทบอย่างรุนแรงจากทั้งปัจจัยด้านเสถียรภาพการเมืองภายในและความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก

ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2488 ปัจจุบันเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 851,575 ล้านบาท เป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจรแก่ทั้งลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าบุคคล ผ่านเครือข่ายสาขา 578 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 จีอี มันนี่ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำเพื่อรายย่อยชั้นนำของโลกได้บรรลุข้อตกลงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจและความเชื่อมั่นในธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับการผสานความสามารถทางธุรกิจของสององค์กร เพื่อให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาบรรลุเป้าหมายการเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจรชั้นนำของประเทศไทย โดยปัจจุบัน จีอี มันนี่ และกลุ่มรัตนรักษ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารในสัดส่วนร้อยละ 33 และร้อยละ 25 ตามลำดับ ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ธนาคาร  www.krungsri.com
« Last Edit: August 26, 2010, 04:34:12 PM by wmt »