sianbun on June 17, 2009, 05:33:21 PM
งานเสวนา "กลยุทธ์การลงทุนในทองคำ น้ำมัน และหุ้นทั่วโลก"


 
          ผู้เชี่ยวชาญ แนะกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย มองแนวโน้ม น้ำมัน ทองคำ และหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในงานเสวนา “กลยุทธ์การลงทุนในทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้นโลก” โดย ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ประธานชมรมคนออมเงิน ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในทองคำ คุณมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัย บล. ภัทร ที่จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล พร้อมเปิดตัว 3 กองทุน FIF กองทุนเปิดแอสเซทพลัสออยล์ (ASP-OIL) กองทุนเปิดแอสเซทพลัสโกลด์ (ASP-GOLD) และกองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอสแอนด์พี 500 (ASP-S&P500)
 
 
 
« Last Edit: June 17, 2009, 06:25:42 PM by sianbun »

sianbun on June 17, 2009, 05:37:58 PM
แอสเซท พลัส แถลงผลภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรก 52 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนเพิ่มขึ้น 15.55% พร้อมออก 3 กองทุนต่างประเทศ


 
             แอสเซท พลัส แถลงผลภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรก 52 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนเพิ่มขึ้น 15.55% พร้อมออก 3 กองทุนต่างประเทศ ลงทุนใน ETF ทองคำ น้ำมัน และดัชนี S&P500 สร้างช่องทางในการกระจายการลงทุน

          บลจ.แอสเซท พลัส แถลงผลการดำเนินงานรอบครึ่งปีแรกปี 2552 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนภายใต้การจัดการ ณ 16 มิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 15.55 จาก 19,543.72 ล้านบาท เป็น 23,142.01 ล้านบาท

          ตั้งเป้าหมายสิ้นปี 2552 เพิ่มมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) จากสิ้นปี 2551 เป็น 30,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50% พร้อมขยายฐานกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ จากการเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีนวัตกรรมการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนพร้อมจำกัดระดับความเสี่ยง

          ประเดิมกองทุน 3 กองทุน ETF น้ำมัน ทองคำ และ ดัชนี S&P500 สร้างช่องทางในการกระจายการลงทุนให้แก่นักลงทุน

          นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกปี 2552 สิ้นสุด ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2552 ว่า บริษัทฯ มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร ทั้งสิ้น 23,142.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 จำนวน 3,598.38 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.55 โดยเป็นการเติบโตของธุรกิจกองทุนรวม ร้อยละ 17.90 จาก 17,362 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 20,469.33 ล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นจาก 2,182 ล้านบาท เป็น 2,672.68 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.50

          ในปี 2552 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนอีก 10,000 ล้านบาท จากทั้ง 2 ธุรกิจ โดยมีแผนในการขยายฐานผู้ลงทุนในธุรกิจเดิม ซึ่งเป็นผู้ลงทุนบุคคลรายใหญ่และผู้ลงทุนสถาบันต่าง ๆ ทั้งกลุ่มธุรกิจการเงิน สถาบันการศึกษาและมูลนิธิต่าง ๆ ไปสู่กลุ่มการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือองค์กรภาครัฐมากขึ้น

          “จากจุดแข็งทางธุรกิจของบริษัท ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการลงทุนส่วนบุคคลมานาน ประกอบกับศักยภาพของบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านการจัดการลงทุน (Asset Management) มีความพร้อมของทรัพยากรด้านการจัดการกองทุน และความเป็นอิสระในการดำเนินธุรกิจที่เอื้อให้การใช้ข้อมูลจากผู้มีความรู้และความชำนาญในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง ทำให้บริษัทฯ มีความคล่องตัวทั้งในด้านการบริหารงาน และการบริหารพอร์ตการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพและฉับไว รวมถึง ในด้านการสรรหาผลิตภัณฑ์การลงทุนของบริษัท ซึ่งมีเอกลักษณ์ในด้านการปรับใช้นวัตกรรมและเครื่องมือการลงทุนต่าง ๆ มาช่วยสร้างผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยง ก็ได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้า และเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของผู้ลงทุนรายใหญ่และกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน

          นอกจากนี้ จากการที่บริษัทมีความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างประเทศมาเป็นเวลานาน ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลและผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ นำเสนอต่อผู้ลงทุนทั้งในส่วนของกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งแล้วแต่ความเหมาะสมของ product และลักษณะของผู้ลงทุนแต่ละกลุ่ม” นางลดาวรรณ กล่าว

          ในส่วนของผู้ลงทุนทั่วไป บริษัทมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ครอบคลุมและสามารถรองรับความต้องการของผู้ลงทุนตามความต้องการของตลาดแล้ว ทั้งการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน ในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทจะเน้นในด้านการให้คำแนะนำในการกระจายการลงทุนและการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสม

          ด้านแผนการออกกองทุน ในครึ่งแรกของปี 2552 จากผลกระทบด้านวิกฤตการณ์สถาบันการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลต่อธุรกิจการจัดการกองทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากผู้ลงทุนชะลอการลงทุน เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนก็ตาม แต่ด้วยบริษัทดำเนินนโยบายการลงทุนแบบ Conservative ทำให้ในด้านผลิตภัณฑ์การลงทุนของบริษัทในไตรมาสแรกของปีเน้นกองทุนตราสารหนี้ในประเทศประเภทความเสี่ยงต่ำ โดยมีรอบการลงทุนแบบระยะเวลา 3 เดือน – 1 ปี ซึ่งเป็นกองทุนพื้นฐานในการออมของผู้ลงทุน

          “เมื่อมีสัญญานการปรับตัวที่ดีขึ้นของตัวเลขการลงทุนต่าง ๆ ในไตรมาส 2 บริษัทเริ่มที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจต่อผู้ลงทุนอีกครั้ง โดยจากการคาดการณ์แนวโน้มการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งที่มีราคาถูก ซึ่งยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างดีในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้บริษัทนำเสนอกองทุนเปิดแอสเซทพลัสสมาร์ทเอควิตี้ ซึ่งเป็นกองทุนตราสารทุน ประเภท Target return โดยเน้นกลยุทธ์การลงทุนและการใช้ตราสารอนุพันธ์ในการบริหารความเสี่ยง และจ่ายคืนผลตอบแทนอัตโนมัติให้กับผู้ลงทุนเมื่อกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากเงินลงทุนเริ่มแรกทุก 8% ซึ่งกองทุนสามารถจ่ายคืนผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว 2 ครั้ง หรือคิดเป็น 20% ของเงินลงทุน ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

          ซึ่งในส่วนของกองทุนตราสารทุนในประเทศ บริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกองทุนตราสารทุน ที่ใช้กลยุทธ์การบริหารพอร์ตแบบ Absolute Return เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนสุทธิเป็นบวก หรือผลตอบแทนเป้าหมาย (Target Return) เพื่อจูงใจลูกค้าให้กระจายการลงทุนไปในตราสารประเภทความเสี่ยงสูงขึ้น รวมถึงการจูงใจลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในตราสารประเภทนี้” นางลดาวรรณ กล่าว

          สำหรับแผนธุรกิจในครึ่งปีหลัง ช่วงปลายไตรมาส 2 บริษัทฯ จะเสนอกองทุนต่างประเทศประเภท Feeder Fund 3 กองทุน โดยลงทุนในกองทุนหลัก (Master Fund) ประเภท ETF (Exchange Traded Fund) ซึ่งเป็นกองทุนเปิดที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และมีการซื้อขายเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนในการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลาย ได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำแท่ง และดัชนี S&P500 เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนและสร้างโอกาสผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

          ทั้งนี้ ในด้านการคัดเลือกกองทุน ETF บริษัทฯ ได้ศึกษาถึงสภาวะตลาด แนวโน้มการลงทุน ตลอดจนลักษณะและข้อดีของกองทุนหลักร่วมกับที่ปรึกษาการลงทุนในต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละตลาด โดย ETF ที่ผ่านการคัดเลือก เป็นกองทุนที่มีประเภท asset class แตกต่างกัน มีการบริหารกองทุนอย่างโปร่งใส สภาพคล่องในการซื้อขายสูง โดยราคาที่ซื้อขายสามารถสะท้อนภาวะตลาดที่แท้จริง และมีอัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงจากกระจายการลงทุนในสัดส่วนและน้ำหนักในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อ้างอิง

          ด้าน ดร.วิน อุดมรัชต์วนิชย์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส เปิดเผยถึงการใช้ ETF ในการจัดพอร์ตการลงทุนว่า กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) เป็นกองทุนเปิดที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เสมือนกับเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาด กองทุนอีทีเอฟจะบริหารจัดการกองทุนแบบ Passive ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ใกล้เคียงกับดัชนีที่กองทุนอ้างอิง (Underlying Index) ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในด้านการกระจายความเสี่ยงของผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของราคาหลักทรัพย์ เนื่องจากการลงทุนใน ETF จะเหมือนกับการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ทั้งหมด โดยมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการลงทุนเป็นผู้ดูแลการลงทุนและตัดสินใจให้ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่ำกว่าการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่น เนื่องจากการลงทุนของ ETF เป็นการลงทุนแบบ passive ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุน (Expense ratio) ค่อนข้างต่ำ

สำหรับกองทุนต่างประเทศของบริษัทฯ ที่จะเสนอต่อผู้ลงทุน เป็นกองทุน Feeder Fund ที่ลงทุนใน ETF ของ น้ำมันดิบ ทองคำ และดัชนี S&P500 ดังนี้

          กองทุนเปิดแอสเซทพลัสออยล์ (ASP-OIL) ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุน PowerShares DB Oil Fund กองทุน ETF ที่เน้นลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI เพื่อหาผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของ Deutsche Bank Liquid Commodity Index ด้วยกลยุทธ์สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด (Optimum Yield) บริหารจัดการโดย DB Commodity Services LLC ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ระดับโลก โดยจะเปิดเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 17-25 มิ.ย. 52

          กองทุนเปิดแอสเซทพลัสโกลด์ (ASP-GOLD) ที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust ที่เน้นลงทุนในทองคำแท่งบริสุทธิ์ ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่จดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งมีเวลาใกล้เคียงกับประเทศไทย จะเปิดเสนอขาย IPO ระหว่างวันที่ 18-30 มิถุนายนนี้

          “ทั้ง 2 กองทุนมีการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully Hedged) เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและทองคำในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ เพราะเมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของราคาน้ำมันโลก และราคาทองคำในรูปดอลลาร์และเงินบาท ในระยะยาวจะเห็นว่า ผลตอบแทนจากราคาน้ำมัน และราคาทองคำในรูปของค่าเงินดอลลาร์ หรือ การปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging) ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการไม่ทำ Hedging” ดร.วิน กล่าว

          นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม จะนำเสนอ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอสแอนด์พี500 (ASP-S&P500) ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุน SPDR S&P500 ETF Fund ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของดัชนี S&P500 ที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริหารจัดการโดย State Street Bank and Trust Company บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำที่โดดเด่นด้านการบริหาร Index Fund

          “แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีปัจจัยบวกในด้านภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีผลให้แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทขนาดใหญ่น่าจะปรับตัวดีขึ้นและสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นที่จะปรับสูงขึ้นตาม รวมถึงสภาพคล่องทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูงจากการที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเอื้อต่อการปรับตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์ (Flush Liquidity Condition)” ดร.วิน กล่าว

          ทั้งนี้ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอสแอนด์พี 500 จะมีการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully Hedged) ในภาวการณ์ลงทุนปกติ และใช้กลยุทธ์ในการปรับสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป (Dynamic hedging) ในภาวะอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
« Last Edit: June 17, 2009, 06:28:20 PM by sianbun »