pooklook on July 25, 2010, 01:51:08 PM
คมชัดลึก : โหยหากันมานานสำหรับระบบเครือข่าย 3 จี ว่าเมื่อไรเมืองไทยจะได้ใช้เสียที ไม่ใช่เพราะเห่อเทคโนโลยีใหม่ หรืออยากตามก้นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เครือข่าย 3 จีที่เชื่อมต่อข้อมูลไร้สายด้วยความเร็วสูงคือ "โอกาสสำคัญ" ของประเทศ
ถ้าตัดประเด็นว่ารัฐได้รายได้จากการออกใบอนุญาต และตัดประเด็นว่าผู้ให้บริการมีรายได้ก้อนใหม่จากการให้บริการข้อมูลผ่าน เครือข่ายความเร็วสูง
 ถามกันตรงๆ ว่า  คนไทยตาดำๆ จะได้ประโยชน์อะไร
 สำหรับผู้บริโภคเองคงอยากรู้เพียงไม่กี่อย่าง เช่น ราคาค่าโทรจะถูกลงหรือเปล่า นาทีละ 50 สตางค์จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าอยู่พื้นที่ห่างไกลสัญญาณ 3 จีจะไปถึงบ้านไหม
 สารี อ่องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มองว่า ราคาค่าใบอนุญาตที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมกำหนดราคาขั้นต้นไว้ 12,800 ล้านบาท ยังเป็นราคาที่ต่ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมองจากโอกาสทางธุรกิจมหาศาลที่ผู้บริการจะได้รับจากการนำคลื่นวิทยุที่ เป็นของสาธารณะไปให้บริการ
 "ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 12,800 ล้านบาท เป็นราคาที่ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ แต่ผู้บริโภคได้อะไรบ้าง ดังนั้น กติกาเรื่องราคาต้องชัดเจน ค่าโทรศัพท์ต้องไม่เกิน 50 สตางค์ การกำหนดราคาสำหรับผู้บริโภคต้องชัดเจน" เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภคย้ำหนักแน่น
 แม้ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีความพยายามทำแผนคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในความเห็นของเลขาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องการให้กำหนดเป็นคุณสมบัติของผู้ประมูลตั้งแต่ก่อน เริ่มประมูล เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดตามมาจากการหลบเลี่ยงปฏิบัติ
 "ผู้ประมูลต้องไม่ทำผิดกฎหมายปัจจุบัน ต้องจัดให้บริการระบบร้องเรียนผ่านหมายเลขโทรฟรี 4 หลัก การบอกรับและยกเลิกข้อความเอาเอ็มเอสต้องชัดเจน การกำหนดระยะเวลาใช้บัตรเติมเงินต้องชัดเจน" สารี กล่าว
 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการข้อ ความสั้น หรือ เอสเอ็มเอส มาตลอด โดยเฉพาะเอสเอ็มเอสที่ผู้รับเสียค่าบริการ และบัตรเติมเงิน ที่ไม่สามารถเติมได้เนื่องจากมีวงเงินเหลืออยู่ในบัตรเกินเพดานที่ผู้ให้ บริการโทรศัพท์กำหนดไว้
 อีกประเด็นหนึ่งที่เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหยิบยกขึ้นมาคือ ข้อเสนอให้ผู้ให้บริการเครือข่ายใช้โครงข่ายร่วมกันได้ กรณีดังกล่าวมีโอกาสทำให้ขนาดคลื่นวิทยุเกินมาตรฐานสากลที่กำหนด
 ขณะเดียวกัน สารีให้ความเห็นว่า การให้บริการเครือข่าย 3 จี ควรมองประโยชน์ที่ผู้พิการควรได้รับ และโอกาสของคนในพื้นที่ห่างไกลด้วย
 "ข้อกำหนดที่บอกว่า ภายใน 4 ปี ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด เราขอเสนอให้ไปถึงทุกอำเภอ เหมือนกับโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ราชการ"
 สำหรับเครือข่าย 3 จี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเชื่อว่า การออกใบอนุญาตคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 3 จี ผู้ให้บริการยังคงเป็น 3 รายใหญ่ที่ให้บริการอยู่บนพื้นฐานของระบบจีเดิม ซึ่งเสียค่าสัมปทานให้รัฐปีละ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี
 เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังมีมุมมองเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ บริโภคทางด้านเนื้อหา (content) ที่เผยแพร่ด้วย ซึ่งเธอมองว่ายังไม่มีกลไกที่ชัดเจน และเสนอให้มีหน่วยงานที่คอยติดตามการดำเนินงานของผู้ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ว่าได้ทำตามข้อตกลงหรือไม่
 ด้าน ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ (ป้อม) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.TARAD.com แสงความเป็นห่วงเกี่ยวกับเนื้อหาเผยแพร่ผ่านเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงเช่น กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมท่องอินเทอร์เน็ตของคนไทย ส่วนใหญ่นิยมใช้งานเว็บต่างประเทศ อย่างเช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ไฮไฟว์ เป็นต้น ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา แทบจะไม่มีเว็บไซต์คนไทยใหม่เกิดขึ้นเลย
 "คนไทยเข้าอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ทำให้ข้อมูลของคนไทยตกอยู่ในมือต่างชาติมากขึ้น ยิ่งมี 3 จียิ่งเปิดโอกาสให้ต่างประเทศเข้าหาเราได้ง่ายขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องพัฒนาเว็บไทยให้แข็งแรงแข่งกับต่างประเทศให้ได้" ผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กล่าว
 เขายกตัวอย่างประเทศจีนพัฒนาเครื่องมือสืบค้น Baidu.com แข่งกับกูเกิล และเป็นเว็บค้นข้อมูลที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศ ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้มีเว็บ Naver.com เป็นโซเชียลมีเดียที่คนเกาหลีค่อนประเทศใช้บริการ
 "เครือข่าย 3 จีเปิดโอกาสให้ธุรกิจเป็นลูกโซ่ เมื่อมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็โตด้วย พออีคอมเมิร์ซโต ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ก็เข้ามา ผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์ก็โตตาม แต่ก็ต้องมองมุมกลับด้วยเช่นกันว่า อาจทำให้เด็กติดเกมมากขึ้น เพราะทุกอย่างมันอยู่บนมือถือ" ภาวุธ กล่าว
สมสกุล เผ่าจินดามุข
http://www.komchadluek.net/detail/20100718/66879/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%A0%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C3%E0%B8%88%E0%B8%B5.html