sianbun on June 11, 2009, 11:11:02 AM
กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับไมโครซอฟท์ขยายการลงทุนด้านการศึกษาต่อเนื่อง

ในโครงการ “Partners in Learninig” ระยะเวลา  5 ปี ชู 3 แนวคิดหลัก Innovative Schools Innovative Teachers และ Innovative Students





กรุงเทพฯ – 10 มิถุนายน 2552 – สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการและบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือในการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษาในโครงการ “Partners in Learninig” เป็นเวลาต่อเนื่องอีก 5 ปี (พ.ศ.2552 – 2556)  หลังจากประสบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาศักยภาพ การเรียนรู้ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547 – 2551) ดังจะเห็นได้จากจำนวนบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ ครูที่ได้รับการอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกว่า 80,000 คน ซึ่งสามารถเข้าถึงนักเรียนกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ ส่วนพันธกิจของโครงการ“Partners in Learninig” ในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น จะมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้าง Innovative Schools  Innovative Teachers และ Innovative Students เพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ ยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ให้ก้าวไกล นำพาการศึกษาไทยสู่ระดับสากล และสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้อย่างภาคภูมิ

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 โดยมีเป้าหมาย 3 ประการหลัก ได้แก่ กระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง การให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาของชาติและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องโดยต้องสอดคล้องกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของโลกความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ นับได้ว่าตอบสนองเป้าหมายของกระทรวงฯ ในการปฏิรูปการศึกษาและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในแง่ของการกระจายโอกาสทางการศึกษา และสนับสนุนให้มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ โครงการ Microsoft Partners in Learning ยังมีส่วนสนับสนุน  โครงการอื่นๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ โครงการพัฒนาครูทั้งระบบ โครงการปัจจัยสนับสนุนด้านการศึกษาเรื่องการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร การพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน โครงการการเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับภูมิภาคของประเทศ โครงการการลงทุนด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และโครงการพัฒนาโรงเรียนสู่มาตรฐาน เป็นต้น ซึ่งการจะพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้จำเป็น ต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นที่สำคัญ การดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชนนับเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษาของภาครัฐได้มากเช่นกัน” 

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์และสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาในประเทศไทยได้อย่างน่าพอใจ โครงการ Microsoft Partners in Learning เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Unlimited Potential ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา (Transforming Education) ที่มุ่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปบูรณาการและประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนา และยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองผ่านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งไมโครซอฟท์ให้การสนับสนุนทั้งในด้านการถ่ายทอดความรู้ การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็น การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การจัดประกวดเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและยกย่องบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น  ปัจจุบันโครงการ Microsoft Partners in Learning ได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยไมโครซอฟท์ได้ใช้เงินลงทุนในการดำเนินโครงการนี้เป็นมูลค่าถึง 250 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับในประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการอบรมครูทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมากกว่า 80,000 คน และมีการนำสื่ออิเล็คทรอนิกส์ไปใช้ในด้านการศึกษา อาทิ Microsoft MultiPoint Mouse ในอีกกว่า 500 โรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ได้มีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Microsoft IT Youth Challenge จำนวนมากกว่า 5,000 คนตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2547 จนถึงปี 2551 สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่สองนี้ ไมโครซอฟท์จะมุ่งต่อยอดการดำเนินงานให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการศึกษาอย่างสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น โดยบูรณาการให้ครบวงจรทั้งโรงเรียน ครู และนักเรียน” 

ทั้งนี้ รายละเอียดความร่วมมือในโครงการ “Partners in Learninig” ในระยะต่อไป จะนำเสนอกิจกรรมภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการคือ 

·       Innovative Schools (โรงเรียนแห่งนวัตกรรม) การจัดหาทรัพยากร การอบรมผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีต้นแบบให้แก่โรงเรียน หน่วยราชการ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนแห่งอนาคต เน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปสนับสนุนสถานศึกษาแบบองค์รวม ได้แก่ การนำเสนอเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการเรียนการสอน การบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา การนำเสนอเครื่องมือในการสร้างสื่อสำหรับการเรียนการสอน ซึ่งจะเป็นการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างครบวงจร ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะนำเสนอไปยังสถานศึกษานำร่อง เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ หรือโรงเรียนแห่งนวัตกรรม

·       Innovative Teachers (ครูแห่งนวัตกรรม) การจัดหาเครื่องมือเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่จะช่วยสร้างชุมชนแห่งแนวทางปฏิบัติงาน การส่งสริมความร่วมมือ และการเข้าถึงสาระการเรียนที่มีคุณภาพ และท้าทายนักการศึกษาในการบูรณาการเทคโนโลยี ICT ในการเรียนและการสอนให้เกิดผลอย่างแท้จริง พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา มุ่งพัฒนาครูต้นแบบในการบูรณาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนการสอนในทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา โดยมุ่งขยายเครือข่ายครูแห่งนวัตกรรมไปยังทุกภูมิภาค ผ่านกิจกรรม Innovative Teachers Leadership Awards 

·       Innovative Students (นักเรียนแห่งนวัตกรรม) การส่งเสริมนักเรียนให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเรียนในโรงเรียนและการเรียนรู้นอกชั้นเรียน สำหรับในปีนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของ Microsoft IT Youth Challenge เป็นในรูปแบบกิจกรรมออนไลน์ โดยเชิญชวนนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซีงจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้การใช้งานอินเทอร์เน็ตในเชิงสร้างสรรค์และสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม โดยรูปแบบใหม่นี้จะเข้าถึงการใช้ขีวิตประจำวันของนักเรียนในยุคปัจจุบัน มีการบรรยายจากผู้รู้ทั่วประเทศในรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง Live Communications ซึ่งนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการต้องเข้ามาร่วมฟังและทำกิจกรรมขยายผลไปยังนักเรียนอื่นๆ ในโรงเรียนของตัวเองในรูปแบบโครงงานด้วย

นอกจากการอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ครู และกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาในด้านต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว ไมโครซอฟท์ยังได้สร้างสรรค์ผลงานสื่อการเรียนรู้อิเลคทรอนิกส์ อาทิ  Microsoft MultiPoint Mouse ซึ่งเป็นเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องสามารถเชื่อมต่อกับเม้าส์ได้สูงสุดถึง 50-100 ตัวเพื่อขยายโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และโปรแกรมสร้างสื่อการเรียนรู้อิเล็คทรอนิกส์แบบ 3 มิติที่เรียกว่า MARVIN เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน (Interactive Learning Material) ด้วยภาพ เสียง วิดีทัศน์อย่างสมจริงพร้อมจุดเด่นด้วยการ์ตูนแอนนิเมชั่นนำบรรยาย นอกจากนี้ ยังสร้างพอร์ทัล www.pil.in.th ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลโครงการ รวมทั้งเป็นแหล่งชุมชนแลกเปลี่ยนสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเพื่อนครู และเป็นแหล่งรวบรวมผลงานสื่อการสอนจากคณะครู Innovative Teacher ที่โดดเด่นด้านการบูรณาการไอซีทีเข้ากับการเรียนการสอน ซึ่งนับตั้งแต่ดำเนินโครงการมา มีครู Innovative Teacher ที่ได้รับการยกย่อง 46 คน และมีผลงานการเรียนการสอนที่ส่งเข้ามาแลกเปลี่ยนบนพอร์ทัลมากกว่า 800 ผลงาน ล่าสุดคณะครู Innovative Teacher ของไทยยังแสดงผลงานการเรียนการสอนที่โดดเด่นจนได้รับรางวัล Educators’ Choice จากงาน Regional Innovative Teachers Conference 2009 ณ ประเทศมาเลเซียอีกด้วย
« Last Edit: June 11, 2009, 11:16:37 AM by sianbun »