sianbun on June 17, 2010, 02:54:01 PM
ไอบีเอ็มเผยบทบาทของซีเอฟโอเปลี่ยนไปและมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรมากกว่าการดูแลด้านการเงินเพียงอย่างเดียว
ผลสำรวจจากความคิดเห็นของซีเอฟโอ ทั้งจากระดับโลกรวมทั้งภูมิภาคอาเซียน แสดงให้เห็นว่าซีเอฟโอ
ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลเชิงลึกมาใช้วิเคราะห์เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์เชิงธุรกิจขององค์กร



กรุงเทพฯ – 17 มิถุนายน 2553: บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยผลสำรวจ ‘IBM Global CFO Study 2010” ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงด้านการเงิน (Chief Financial Officer - CFO) ครั้งใหญ่ที่สุดที่ไอบีเอ็มเคยทำมา โดยการสัมภาษณ์ซีเอฟโอในองค์กรชั้นนำทั่วโลกกว่า 1,900 คน ใน 81 ประเทศ จาก 35 ประเภทธุรกิจ รวมทั้ง 47 คนจากภูมิภาคอาเซียนซึ่งรวมถึงประเทศไทย ถึงบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของซีเอฟโอตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งแนวคิด ปัญหา ความท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งมุมมองในการบริหารจัดการ โดยจากผลสำรวจพบว่าซีเอฟโอกว่า 60 เปอร์เซ็นต์มีการวางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

จากผลสำรวจล่าสุดซึ่งจัดทำเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา และจัดทำขึ้นในช่วงกลางปี 2552 หลังจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่มีผลกระทบไปทั่วโลก ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นมุมมองและทัศนคติของซีเอฟโอในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนต่อองค์กรใน 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ ความจำเป็นในการลดค่าใช้จ่ายขององค์กร การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ต้องสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งการทำให้ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกจำเป็นต้องมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ผลสำรวจยังพบว่าซีเอฟโอในภูมิภาคอาเซียนยังให้ความสำคัญกับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ต้องทำได้อย่างรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด เมื่อเทียบกับผลสำรวจโดยรวมของซีเอฟโอในภูมิภาคอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีที่จะถึงนี้

สำหรับคำถามที่ว่าอะไรคือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นที่น่าสนใจว่าผู้บริหารระดับสูงด้านการเงินส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่อง “การจัดหาและนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงกลยุทธ์ขององค์กร” เป็นเรื่องสำคัญสูงสุด โดยประเด็นดังกล่าวสำคัญยิ่งไปกว่าเรื่องการลดค่าใช้จ่ายเสียอีก   นอกจากนั้น จากผลสำรวจยังพบว่ามีซีเอฟโอเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่าองค์กรของตนมีการทำงานภายในที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถที่จะนำข้อมูลเชิงธุรกิจที่มีนัยสำคัญมาใช้เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงธุรกิจขององค์กร นอกจากนั้น จากผลสำรวจยังพบว่า มีซีเอฟโอน้อยกว่าครึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่คิดว่าองค์กรของตนมีระบบที่มีประสิทธิภาพดีพอที่เอื้อต่อการนำวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในต่อธุรกิจ

นอกจากนั้น จากผลสำรวจโดยรวม พบว่าซีเอฟโอในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกับซีเอฟโอในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของซีเอฟโอต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งรวมถึงบทบาทในการทำหน้าที่เชิงแนะนำ หรือตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ มากกว่าการช่วยองค์กรนำเสนอข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเหมือนเช่นในอดีต ตัวอย่างของการแนะนำหรือช่วยตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ของซีเอฟโอ ได้แก่ การช่วยหารูปแบบวิธีการทำธุรกิจใหม่ ๆ หรือการนำนวัตกรรมมาพิจารณาปรับใช้ในเพื่อธุรกิจขององค์กร เป็นต้น

นางเมเรอร์ดิต อังวิน ผู้จัดการประจำประเทศไทย ไอบีเอ็ม โกลบอล บิสิเนส เซอร์วิสเซส กล่าวว่า “จากผลสำรวจที่ได้ ทำให้เราเห็นบทบาทที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของซีเอฟโอทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ซีเอฟโอมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และความสำเร็จขององค์กร นอกจากนั้นแล้ว จากผลสำรวจที่ได้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ซีเอฟโอในองค์กรชั้นนำให้ความสำคัญต่อการนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกมาใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรอีกด้วย”

ในเรื่องการบริหารจัดการข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก จากผลการสำรวจพบว่า ซีเอฟโอในภูมิภาคอาเซียนยังค่อนข้างล้าหลังกว่าซีเอฟโอในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก เนื่องจากในองค์กรหลายแห่งยังใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจแบบเดิม ๆ เช่น การใช้ซอฟต์แวร์สเปรดชีตมาวิเคราะห์หรือประมวลผลข้อมูล เมื่อเทียบกับซีเอฟโอในภูมิภาคอื่นหลายแห่งที่เริ่มมีการนำเครื่องมืออันทันสมัยหรือเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้เพื่อการประมวลผลข้อมูลธุรกิจเชิงลึก และนำผลลัพธ์ที่ได้มาใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางธุรกิจ

นอกจากนั้น ในประเด็นเรื่องการบริหารและพัฒนาบุคลากร จากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ซีเอฟโอในภูมิภาคอาเซียนให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอันดับต้น ๆ และมองว่าองค์กรของตนยังมีข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงในเรื่องดังกล่าวให้ดีกว่าเดิม เมื่อเทียบกับซีเอฟโอในภูมิภาคอื่นของโลก ซึ่งประเด็นเรื่องดังกล่าวนี้เอง เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ซีเอฟโอส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นเรื่องความสามารถขององค์กรในการคาดการณ์สภาวะที่มีผลกระทบจากปัจจัยภายนอก การวางแผนการบริหารและปฏิบัติงานภายในองค์กร หรือแม้กระทั่งความสามารถในการนำข้อมูลเชิงลึกมาใช้เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของธุรกิจในอนาคต เป็นต้น

จากการทำการสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอโดยไอบีเอ็ม ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา พบว่าซีเอฟโอต่างเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลในองค์กรมาวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารและขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กรในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครั้งล่าสุด พบว่ามีซีเอฟโอไม่มากนักที่สามารถทำเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการนำข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กรมาเชื่อมโยงหรือควบรวมเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ

นอกเหนือไปจากการทำสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอดังกล่าวแล้ว ไอบีเอ็มยังได้หาวิธีจัดกลุ่มของซีเอฟโอออกเป็นประเภทต่าง ๆ โดยการใช้คุณลักษณะ 2 ประการเพื่อการแบ่งกลุ่มและประเภทของซีเอฟโอ ได้แก่
•   ความสามารถในการบริหารจัดการทางด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพ (Finance Efficiency) ซึ่งประกอบไปด้วยความสามารถในการบริหารจัดการขั้นตอนการทำงานที่เชื่อมโยงกันในแต่ละแผนกและการสร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กร
•   การใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจ (Business Insight) ด้วยการผสมผสานความสามารถในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความเชี่ยวชาญในการบริหารการเงิน ความสามารถในการดึงประโยชน์จากการนำข้อมูลเชิงลึกมาใช้เพื่อวางแผน ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร

จากการใช้คุณลักษณะ 2 ประการในการแบ่งประเภทของซีเอฟโอนี้เอง ทำให้ไอบีเอ็มค้นพบซีเอฟโอกลุ่มหนึ่งที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเหนือกว่าซีเอฟโอกลุ่มอื่น ๆ โดยไอบีเอ็มเรียกซีเอฟโอกลุ่มนี้ว่า “แวลลู อินทีเกรเตอร์ (Value Integrator)” ซึ่งเป็นซีเอฟโอที่มีคุณลักษณะอันโดดเด่นครบถ้วนทั้งสองประการ โดยซีเอฟโอกลุ่มดังกล่าวนี้ นอกจากจะมีศักยภาพและขีดความสามารถที่สามารถช่วยองค์กรฝ่าปัญหาและเอาชนะวิกฤติต่าง ๆ และมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ขององค์กรแล้ว ซีเอฟโอกลุ่มนี้ยังมีความสามารถอันโดดเด่นในด้านอื่น ๆ อีก เช่น ความสามารถในการช่วยองค์กรกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์โดยพิจารณาแนวโน้มและทิศทางของธุรกิจโดยรวม  ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Invested Capital – ROIC) การขยายการเติบโตในด้านรายได้ (Revenue Growth) และการบริหารกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Earnings before Interest, Taxes, Depreciation and Amortization) นอกจากนั้น ‘แวลลู อีทีเกรเตอร์’ ยังมีความสามารถในการมองธุรกิจแบบรอบด้านอย่างทะลุปรุโปร่ง สามารถช่วยองค์กรหาโอกาสทางธุรกิจและวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ โดยเบื้องหลังของความสามารถเหล่านี้เอง ประกอบไปด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการทำให้ขั้นตอนภายในองค์กร หรือการกำหนดมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงการจัดการและวางมาตรฐานการบริหารข้อมูลภายใน ความเข้าใจการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนการตัดสินใจ การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต หรือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญทางธุรกิจขององค์กร เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงด้านการเงินของไอบีเอ็ม (IBM Global CFO Study 2010) สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/cfostudy
« Last Edit: June 20, 2010, 09:25:40 AM by sianbun »