sianbun on June 05, 2010, 12:29:04 PM
ข่าวประชาสัมพันธ์ The Karate Kid : Product Note



The Karate Kid

24 มิถุนายน ในโรงภาพยนตร์

ข้อมูลงานสร้าง

The Karate Kid ภาพยนตร์เรื่องใหม่จากโคลัมเบีย พิคเจอร์ส 

เดร ปาร์คเกอร์ (จาเดน สมิธ) เด็กชายวัยสิบสองขวบอาจจะเป็นเด็กที่ป็อปปูลาร์ที่สุดในย่านดีทรอยท์ก็จริง แต่การทำงานของแม่เขา (ทาราจี พี. เฮนสัน) ก็ทำให้พวกเขาต้องเดินทางไปกันถึงจีนแผ่นดินใหญ่โน่นเลยทีเดียว ในตอนแรก เดรไม่ค่อยมีเพื่อน แต่เขาก็ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมห้อง เหม่ยอิง ได้ และเหม่ยอิงก็รู้สึกดีๆ กับเขาเช่นเดียวกัน จนกระทั่งความแตกต่างด้านวัฒนธรรมสร้างรอยร้าวให้กับมิตรภาพระหว่างทั้งคู่ ซ้ำร้าย เดรยังกลายเป็นศัตรูของ เช็ง อันธพาลขาใหญ่ประจำห้องอีกต่างหาก เดรมีฝีมือคาราเต้เพียงเล็กน้อย และในดินแดนแห่งกังฟู เช็งก็จัดการคว่ำ “คาราเต้ คิด” ให้หมอบกระแตกับพื้นได้สบายๆ ความรู้สึกโดดเดี่ยวในต่างแดนทำให้เดรไม่อาจหาเพื่อนปรับทุกข์ได้นอกเสียจากภารโรง มิสเตอร์ฮัน (เฉินหลง) มิสเตอร์ฮันที่จริงๆ แล้วเป็นปรมาจารย์กังฟู ได้เริ่มฝึกฝนกังฟูให้กับเดร พวกเขากลายเป็นเพื่อนซี้กัน และร่วมกันฝึกฝนเพื่อการเผชิญหน้ากับเช็งในการประลองกังฟู ในขณะที่ฮันได้สอนเดรให้รู้ว่า กังฟูไม่ได้มีแค่การเตะต่อยเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของความเป็นผู้ใหญ่และความนิ่งสงบด้วย เดรก็ได้เรียนรู้ว่า การประจันหน้ากับเหล่าวายร้ายจะเป็นการต่อสู้ในชีวิตเขา

   โคลัมเบีย พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ The Karate Kid ภาพยนตร์โดยโอเวอร์ บรูค เอนเตอร์เทนเมนต์/เจอร์รี ไวน์ทร็อบ โปรดักชัน ร่วมกับไชนา ฟิล์ม กรุ๊ป คอร์ปอเรชัน ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยจาเดน สมิธ, เฉินหลงและทาราจี พี. เฮนสัน กำกับโดยฮารัลด์ ซวอร์ท อำนวยการสร้างโดยเจอร์รี ไวน์ทร็อบ, วิลล์ สมิธ, จาดา พิงเก็ตต์ สมิธ, เจมส์ แลสซิเตอร์และเคน สโตวิทซ์ บทภาพยนตร์โดยคริสโตเฟอร์ เมอร์ฟีย์ เรื่องราวโดยโรเบิร์ต มาร์ค คาเมน ผู้ควบคุมงานสร้างคือเดนี วูล์ฟ, ซูซาน เอคินส์และฮันซานปิง ผู้กำกับภาพคือโรเจอร์ แพรท, บีเอสซี ผู้ออกแบบงานสร้างคือฟรังซัวส์ เซกวิน มือลำดับภาพคือโจเอล เน็กรอน ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายคือฮัน เฟ็ง ผู้ร่วมอำนวยการสร้างคือโซลอน โซ ดนตรีโดยเจมส์ ฮอร์เนอร์ ควบคุมดนตรีโดยพิลาร์ แม็คเคอร์รีย์
« Last Edit: June 05, 2010, 12:37:13 PM by sianbun »

sianbun on June 05, 2010, 12:38:11 PM
เกี่ยวกับภาพยนตร์ 
   
“เดร เป็นเด็กอเมริกันสุดเจ๋งที่มาจากดีทรอยท์และตอนนี้ เขาก็พยายามสร้างที่ทางให้กับตัวเองในแผ่นดินจีนครับ” จาเดน สมิธ ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยแสดงร่วมกับพ่อของเขาในภาพยนตร์ฮิตเรื่อง The Pursuit of Happyness และตอนนี้ ก็ได้ฉายเดี่ยวด้วยการแสดงนำใน The Karate Kid กล่าว “เขาเจอกับช่วงเวลาที่เลวร้าย เขารู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง และเขาก็บังเอิญไปเหยียบเท้าขาใหญ่ประจำโรงเรียนเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ เขาไม่มีเพื่อน ไม่รู้จะไปที่ไหน และตอนนั้นเองที่เขาได้พบว่ามิสเตอร์ ฮัน ภารโรงประจำตึกของเขาเป็นปรมาจารย์กังฟู มิสเตอร์ฮันสอนกังฟูให้กับเขา และทั้งคู่ก็เกิดความผูกพันที่ลึกซึ้งระหว่างกันครับ”

   มันเป็นธีมที่ผู้ชมชื่นชอบมาโดยตลอด และอยู่ในภาพยนตร์ฮิตชื่อเดียวกัน ที่นำแสดงโดยราล์ฟ มัคคิโอและโนริยูกิ “แพท” โมริตะ มาแล้ว การแสดงของโมริตะในบทอาจารย์ผู้เย็นชา มิสเตอร์มิยางิ ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ และได้กลายเป็นตำนานไปแล้ว
   ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี ไวน์ทร็อบ ผู้อำนวยการสร้างทั้งภาพยนตร์ชุดแรกและภาพยนตร์เรื่องใหม่นี้ กล่าวว่าเรื่องราวนี้ยังคงเป็นที่ชื่นชอบเพราะความเป็นสากลของมัน “ที่สุดแล้ว มันเป็นเรื่องราวของพ่อและลูกครับ” เขาเล่า “มันไม่ได้เกี่ยวกับคาราเต้ สิ่งที่อยู่ยั้งยืนยง สิ่งที่พวกเด็กๆ มองหา คือเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่ตามหาผู้เป็นพ่อและอาจารย์ครับ”
   และก็เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสร้างวิลล์ และจาดา พิงเก็ตต์ สมิธ, เจมส์ แลสซิเตอร์และเคน สโตวิทซ์ รวมถึงผู้กำกับฮารัลด์ ซวอร์ทในการสร้างเรื่องราวคลาสสิกนี้ขึ้นมาใหม่ และทำให้มันทันสมัยขึ้นสำหรับผู้ชมยุคใหม่ “วัยรุ่นที่เคยซื้อตั๋วไปดู Karate Kid ต้นฉบับจนทำให้มันเป็นหนังฮิตตอนนี้ก็มีกลายเป็นพ่อแม่คนไปแล้ว” แลสซิเตอร์บอก “เราอยากทำให้พวกเขาได้รำลึกถึงหนังที่พวกเขาชื่นชอบ ที่พวกเราชื่นชอบ แต่มันก็ต้องเป็นหนังสมัยใหม่ที่ลูกๆ ของพวกเขาจะชื่นชอบด้วยเช่นกันครับ”
   ภาพยนตร์เรื่องใหม่นี้จะเป็นรีเมกไม่ได้ แต่มันจะต้องถ่ายทอดธีมเหล่านั้นออกมาได้ด้วยการยืนหยัดได้ตามลำพัง “กุญแจสำคัญสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์แบบนี้คือการทำให้แน่ใจว่าคุณจะแสดงความคารวะและความเคารพต่อต้นฉบับ แต่ก็ต้องหาวิธีที่จะต่อยอดมัน และทำให้มันเป็นหนังปี 2010 ครับ” ซวอร์ทกล่าว
   บางที ความท้าทายชิ้นโตที่สุดอาจจะเป็นการคัดเลือกนักแสดงสำหรับบทอาจารย์ก็ได้ ทีมผู้สร้างต้องการไอคอน และพวกเขาก็พบคุณสมบัติที่พวกเขาต้องการในตัวเฉินหลง “ยังมีใครอีกล่ะครับที่แสดงบทนี้ได้” สโตวิทซ์กล่าว “เฉินหลงเป็นคนเดียวที่มีคุณสมบัติครบ ตอนที่ผมพูดกับตัวเองว่า ‘เรากำลังสร้าง Karate Kid โดยมีเฉินหลงรับบทของมิสเตอร์มิยางิ’ บอกตามตรงนะครับ นั่นคือหนังที่ผมอยากดูเลยล่ะ”
   เฉินหลงรู้สึกชื่นชอบเรื่องราวนี้เป็นพิเศษ โดยเขายอมรับว่าเขาเข้าใจความรู้สึกของตัวละครเด็กชาวอเมริกันคนนี้ “ผมเข้าใจเรื่องราวของปลาพ้นน้ำดี” เขาบอก “เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมไปอเมริกาเป็นครั้งแรกด้วยตัวคนเดียว ตอนที่คุณได้อยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง มันก็เป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวมากเลยนะครับ”
   เมื่อเฉินหลงรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ ทีมผู้สร้างก็เลยขยายเรื่องราวเพิ่มเติมขึ้นไปอีก คาราเต้คิดคนนี้จะต้องย้ายจากดีทรอยท์ไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นการช่วยขับเน้นความรู้สึกแบบปลาพ้นน้ำให้มากขึ้นไปอีก และด้วยความที่ว่าฉากของเรื่องถูกเปลี่ยนเป็นประเทศจีน หลายสิ่งหลายอย่างจึงต้องแตกต่างออกไป ซึ่งรวมถึงสไตล์การต่อสู้ด้วย “เราอยู่ในประเทศใหม่ และผมก็ได้เรียนกังฟูครับ” จาเดน สมิธบอก
   “เหตุผลที่หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า The Karate Kid ก็เพราะในตอนเริ่มต้นเรื่อง เดรคิดว่าเขาสามารถสู้กับอันธพาลได้ด้วยฝีมือคาราเต้กระจอกงอกง่อยที่เขารู้” สโตวิทซ์เล่า “แต่ในจีน แม้แต่พวกเด็กๆ ก็เป็นกังฟู และพวกเขาก็เชี่ยวชาญทีเดียวเชียวล่ะ ดังนั้น ถ้าเดรจะเอาตัวรอดให้ได้ เขาก็ต้องเรียนกังฟูครับ”
   แน่นอนว่าการตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า The Karate Kid ยังดูเหมือนเป็นวิธีที่ดีในการให้เกียรติภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย “หนังภาคแรกมีซีเควนซ์การฝึกฝนซ้ำๆ ที่โด่งดัง” ซวอร์ทบอก “ในหนังของเรา มิสเตอร์ฮันบอกเดรให้ใส่ๆ ถอดๆ แจ็คเก็ตของเขาหลายครั้งหลายหน ซึ่งถ้าคุณได้ดูหนังภาคแรก คุณก็จะจำมันได้ครับ”
   แน่นอนว่าการแสดงบทนี้ทำให้สมิธต้องเรียนกังฟู และเขาก็ได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่ดีที่สุด เขาคืออู๋กัง ผู้ประสานงานคิวบู๊จากทีมสตันท์ของเฉินหลง ด้วยความที่เฉินหลงแสดงฉากผาดโผนส่วนใหญ่ด้วยตัวเอง เฉินหลงจึงได้ก่อตั้งทีมสตันท์ของเขาขึ้นในปี 1983 เพื่อเป็นวิธีในการส่งเสริมการออกแบบคิวบู๊
   “ตอนที่ผมพบกับจาเดนเป็นครั้งแรก ผมก็ชอบเขานะ แต่คุณจะแน่ใจไม่ได้หรอก ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะรับงานนี้ได้รึเปล่า” อู๋กล่าว “และเขาก็พิสูจน์ตัวเอง เขามีพรสวรรค์มากและทำงานอย่างหนัก มันไม่ง่ายเลยล่ะ ผมชอบการได้ฝึกให้กับจาเดนครับ”
   แน่นอนว่า นอกเหนือจากบทเรียนอันล้ำค่าจากอาจารย์อู๋แล้ว สมิธยังมีวิธีการเรียนกังฟูอีกวิธีหนึ่งด้วย “ผมดูหนังของเฉินหลงหลายเรื่อง และลอกเลียนแบบท่าบางท่าของเขามาด้วยล่ะครับ” สมิธเล่ากลั้วหัวเราะ จริงๆ แล้ว ทั้งซีเควนซ์ ที่มิสเตอร์ฮันและเดรฝึกกับกิ่งไม้ เป็นการอ้างอิงถึงหนึ่งในท่าต่อสู้ยุคแรกๆ ที่โด่งดังที่สุดของเฉินหลง
   ความสัมพันธ์ระหว่างสมิธและเฉินหลงคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครของทั้งคู่ “เขาน่าทึ่งมากครับ เขามักจะสอนสิ่งต่างๆ ให้กับผมเสมอ” สมิธบอก “จะยืดเส้นยืดสายยังไงถึงจะถูก จะเข้าฉากยังไง จะโฟกัสยังไง เขาอยู่ข้างๆ ผมตลอดเวลาเลยครับ”
   ฮารัลด์ ซวอร์ทกล่าวว่า นักแสดงเด็กคนนี้ได้ทำให้ทีมผู้สร้างต้องทึ่งกับการแสดงของเขา “จาเดนมีเสน่ห์ดึงดูด แต่เขาก็เป็นนักแสดงที่วิเศษสุดด้วยครับ” ผู้กำกับกล่าว “เขาทุ่มเทให้กับการแสดงบทนี้อย่างสุดตัว ไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องกังฟูเท่านั้น ซึ่งเขาพยายามเรียนรู้อย่างมาก แต่ยังรวมถึงเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ของเด็กชายที่อยากเป็นผู้ใหญ่ด้วยครับ”
   ผู้กำกับเองก็รู้สึกชื่นชมกับเฉินหลง ผู้ร่วมแสดงกับสมิธมากเช่นกัน “เฉินหลงเป็นนักแสดงที่วิเศษสุด” ซวอร์ทตั้งข้อสังเกต “เขาไม่เคยหยุดนิ่ง และเขาก็ชื่นชอบกระบวนการสร้างหนัง เขาก็เลยคอยช่วยเราในทุกๆ ด้าน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตัวประกอบไม่เข้าใจข้อความบางอย่างเพราะกำแพงภาษา เขาก็จะคอยกระซิบแนะนำพวกเขา เขาเป็นคนที่วิเศษสุดและคอยช่วยเหลือเราอย่างมากเลยครับ”
   นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของอาจารย์และลูกศิษย์แล้ว มันยังบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ก่อกำเนิดขึ้นระหว่างชายไร้ลูกหลานผู้โดดเดี่ยว และเด็กชายที่ไร้พ่อด้วย เฉินหลงกล่าวว่า “ในตอนแรก มิสเตอร์ฮันคิดว่าเขาแค่ช่วยเหลือเด็กที่ถูกรังแก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตเขาก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปเช่นกันครับ”
   “เดรเป็นเหมือนเด็กผู้ชายทั่วๆ ไป พวกเขาอยากจะเตะต่อยอะไรซักอย่าง เป็นการแก้แค้น” เฉินหลงบอก “แต่กังฟูไม่ใช่สิ่งที่ใช้ทำร้ายคน แต่มันเป็นการช่วยเหลือคนต่างหากล่ะครับ”
   เฉินหลงกล่าวถึงเพื่อนร่วมแสดงตัวน้อยของเขาว่า “ผมไม่เคยเจอเด็กคนไหนที่ฉลาดเหมือนจาเดนมาก่อน เขาเรียนรู้ทุกสิ่งที่ผมสอนเขาไป คือผมหมายถึงพอผมโชว์อะไรบางอย่างให้เขาดู แล้วเขาก็จะเก็ทมันทันที เขาน่าทึ่งมากครับ!”
   ซวอร์ทเล่าถึงช่วงจังหวะสำคัญช่วงหนึ่งระหว่างการถ่ายทำว่า “ผมเห็นเฉินหลงและจาเดนนั่งพักกันบนชายหาดในช่วงพักกอง พวกเขาขว้างหินลงไปในน้ำกัน และผมก็คิดว่า ถ้าผมอายุแค่ 11 ขวบและได้ใช้เวลาอยู่กับเฉินหลงล่ะก็ มันคงเป็นฝันที่เป็นจริงเลยล่ะครับ”
   ผู้ที่รับบทเชอร์รี แม่ของเดร คือทาราจี พี. เฮนสัน ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจากการแสดงอันน่าทึ่งของเธอใน The Curious Case of Benjamin Button เฮนสันกล่าวว่า เธอสนใจบทนี้เพราะมันทำให้เธอนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกชายของเธอเอง “เราเป็นเพื่อนสนิทกัน เพราะเรามีกันแค่สองคนเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่โดนใจฉันตอนที่ฉันอ่านสคริปต์เรื่องนี้ค่ะ” เธอบอก “หนังเรื่องใหม่นี้ยังทำให้เชอร์รีมีบทบาท ‘ความเป็นพ่อ’ ที่ชัดเจนกว่า คุณจะได้รู้จักเดรจากการมองปฏิสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ค่ะ” เฮนสันกล่าวต่อ “เธอเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง แต่ก็คอยให้กำลังใจลูกของเธอเสมอด้วย”
   เฮนสันประทับใจกับการที่ครอบครัวสมิธเปิดกว้างกับการอนุญาตให้เธอสานสายสัมพันธ์กับลูกชายของพวกเขา “เราได้ซ้อมกันสามสัปดาห์ก่อนที่เราจะไปจีน ทั้งวิลล์และจาดาต่างก็สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายเพื่อให้ฉันกับจาเดนได้ผูกพันกันจริงๆ ค่ะ” เธอบอก

sianbun on June 05, 2010, 12:38:50 PM
“คาราเต้ คิด” เรียนกังฟู
   
ในตอนที่ทีมผู้สร้างตัดสินใจขยายเรื่องราวและเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่จำเป็นคือสไตล์การต่อสู้ที่เดรจะต้องเรียนรู้ เขาจะต้องเรียนรู้สไตล์การต่อสู้ของจีน แทนที่จะเป็นคาราเต้ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น
   ดังนั้น คาราเต้คิดก็จะต้องเรียนกังฟู ในซีนหนึ่ง พวกขาโจ๋ล้อเลียนเดร ด้วยการเรียกเขาว่า “คาราเต้คิด” จากการที่เขาพยายามจะวาดลวดลายคาราเต้ในดินแดนกังฟู ถ้าเดรจะเอาตัวรอดให้ได้ล่ะก็ เขาก็จะต้องเรียนกังฟู
   คำว่ากังฟูมีความหมายที่หลากหลาย แต่มันไม่ใช่คำที่เฉพาะเจาะจงถึงศิลปะการต่อสู้อย่างเดียว คำนั้นอาจแปลตรงๆ ได้ว่า “งาน,” “ทักษะ” หรือ “เวลาและความอุตสาหะ” นักเขียนอาจมีกังฟูที่ดีในการเล่าเรื่อง ในขณะเดียวกัน คำนี้อาจมีความหมายพิเศษเมื่อนำมาใช้กับศิลปะการต่อสู้ และนอกเมืองจีนนั้น กังฟูอาจถูกใช้เรียกศิลปะการต่อสู้ของจีนและเทคนิคที่หลากหลายของมัน
   ใน The Karate Kid เดรได้เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ วูชู ซึ่งเป็นกังฟูที่หนักหน่วงแบบที่สอนและฝึกฝนกันในจีน เขาได้รับการฝึกฝนจากอู๋กัง ผู้ประสานงานคิวบู๊ของทีมสตันท์เฉินหลง ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานสตันท์ในภาพยนตร์ที่เฉินหลงกำกับ
   อาจารย์อู๋ อย่างที่จาเดน สมิธ เรียกเขา ได้ฝึกฝนสมิธเป็นเวลาสามเดือนในลอสแองเจลิส ก่อนที่การถ่ายทำในปักกิ่งจะเริ่มต้น และก็ยังคงฝึกฝนเขาอย่างต่อเนื่องตลอดการถ่ายทำนานสี่เดือน “ตอนที่ผมได้พบกับจาเดนครั้งแรก เขายังเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ” อู๋กล่าว “แต่หลายเดือนให้หลัง เขากลับอยู่ระดับเดียวกับเด็กที่ฝึกฝนมานานถึงห้าหรือหกปี เขามีสมาธิแน่วแน่ มีพรสวรรค์สูงและไม่เคยปริปากบ่นเลย ผมภูมิใจในตัวเขามาก”
   พวกเขาเริ่มกันที่จุดเริ่มต้น “เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมสอนกังฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็ก สิ่งแรกที่ผมสอนพวกเขาคือการเคารพผู้อื่น กังฟูไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้ แต่เป็นเรื่องของการช่วยเหลือคนอื่นครับ” อู๋กล่าว
   จากจุดนั้น อู๋ก็เริ่มฝึกวูชูให้สมิธ แม้ว่าพวกเขาจะกำลังสร้างภาพยนตร์ขึ้นมา แต่อู๋ก็บอกว่า ทีมผู้สร้างไม่เคยอยากที่จะใช้ลูกไม้ในการทำให้สมิธดูเหมือนจะสามารถทำในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ได้ “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็ต้องเรียนรู้วิธีการเคลื่อนไหว วิธีการต่อสู้ การฝึกฝนขั้นพื้นฐาน เขาจำเป็นต้องเรียนรู้กังฟู และวูชูจริงๆ ครับ”
   แน่นอนว่าสมิธและเด็กๆ กังฟูคนอื่นๆ จะถูกสอนให้สู้ต่อหน้ากล้องในการแข่งขันที่ถูกออกแบบมาเรียบร้อยแล้ว และเพื่อทำให้ภาพดูดีเมื่ออยู่บนหน้าจอ “เด็กทุกคนในหนังเรื่องนี้เป็นนักเรียนวูชูครับ แต่ไม่มีใครมีประสบการณ์การต่อสู้ในหนังมาก่อน” อู๋ตั้งข้อสังเกต “มันไม่ง่ายเลยที่จะกะเวลา จังหวะ และปฏิกิริยาเวลาโดนต่อยได้ แล้วดรามาและการแสดงในการต่อสู้ก็สำคัญพอๆ กับแอ็กชัน พวกเด็กๆ จะต้องบอกเล่าเรื่องราวดรามาของการต่อสู้ด้วยใบหน้าและร่างกายของพวกเขา มันเป็นเรื่องท้าทายมากๆ แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของหนังเรื่องนี้คือการเคลื่อนไหวทั้งหมดเป็นของจริงครับ”
   จาเดน สมิธกล่าวว่า การต่อสู้ในภาพยนตร์ไม่ง่ายเลย “คุณจะต้องต่อยคนจริงๆ โดยคุณจะต้องต่อยเบาๆ แต่ทำให้มันดูเหมือนหนัก” เขาบอก “คุณยังจะต้องปัดป้องด้วย ถ้าคุณไม่ปัดป้องหมัดที่ต่อยเข้ามา คุณก็จะเจอต่อยเข้าที่หน้าครับ”
   แล้วสมิธรู้สึกสนุกกับการฝึกรึเปล่าล่ะ? “เขาขอให้ผมฝึกฝนกับเขาต่อหลังจากที่ปิดกล้องแล้ว” อู๋เล่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ”
   “ครับ ผมอยากจะฟิตร่างกายให้พร้อม” สมิธบอก “ถ้าเทย์เลอร์ เลาท์เนอร์อยากได้สตันท์ ดับเบิลเมื่อไหร่ล่ะก็ ผมก็พร้อมลุยได้เสมอ”

sianbun on June 05, 2010, 12:39:22 PM
การถ่ายทำในจีน

ในการดัดแปลง The Karate Kid สำหรับผู้ชมยุคใหม่ ทีมผู้สร้างได้เสาะหาโลเกชันที่จะสร้างอุปสรรคให้กับเดรได้มากที่สุด “เราสงสัยว่า เราจะหาโลเกชันที่เป็นเหมือนกับการส่งเดรไปอยู่อีกมิติหนึ่งได้รึเปล่า” วิลล์ สมิธเล่า “พอเราเลือกเฉินหลงมาเป็นอาจารย์ของเดร เราก็ปิ๊งไอเดียที่จะเลือกจีนขึ้นมาได้ เรารู้ว่ามันเป็นความท้าทายชิ้นใหญ่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สถานที่นี้ไม่เพียงแต่ทำให้ธีมชัดเจนขึ้น แต่ยังทำให้หนังเรื่องนี้ยิ่งใหญ่ขึ้นด้วย ผมภูมิใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่พวกเราทำสำเร็จในจีน พอคุณได้เห็นจาเดนและเฉินหลงฝึกด้วยกันบนกำแพงเมืองจีน คุณก็จะเกิดความคิดขึ้นมาเลยว่า เราไม่มีทางสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นในแอลเอได้หรอก”
   การตัดสินใจที่จะย้ายกองถ่ายไปจีนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย ด้วยความที่ฉากหลายฉากที่ทีมผู้สร้างต้องการในเรื่องเข้าถึงได้ยากหรือไม่สามารถเข้าถึงได้เลย ทีมผู้อำนวยการสร้างจึงได้หันไปหา ไชนา ฟิล์ม กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลสูงสุดของรัฐบาล ให้ช่วยเหลือในการหาโลเกชันถ่ายทำ
   “ช็อตเล็กๆ ช็อตหนึ่งใช้เวลาเตรียมตัวหลายเดือนเลยนะครับ” ซวอร์ทเล่า “ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นหนังเรื่องแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำภายในเทียนอันเหมินและพระราชวังต้องห้ามนับตั้งแต่หนังเรื่อง The Last Emperor ของแบร์โตลุชชีเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว”
   สำหรับเฉินหลงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนการต้อนรับเขาสู่บ้านและฝันที่เป็นจริง “ผมซาบซึ้งมากที่ทีมงานเลือกมาถ่ายทำในจีน เราอาจจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานห้าพันปีก็จริง แต่รัฐบาลของเรามีอายุเพียงแค่หกสิบปีเท่านั้นเอง เป็นรัฐบาลใหม่ หนังเรื่องนี้จะทำให้ผู้ชมมีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมจีนและศิลปะการต่อสู้ของจีน มันเป็นการโปรโมตที่วิเศษสุดครับ” เขากล่าวชื่นชม
   ผู้อำนวยการสร้างจาดา พิงเก็ตต์ สมิธ ตั้งข้อสังเกตว่า การถ่ายทำที่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจริงนั้นช่วยทำให้การแสดงของนักแสดงดียิ่งขึ้น “คุณไม่สามารถปฏิเสธพลังงานที่เกิดขึ้นจากสถานที่แบบนั้นได้เลยค่ะ คุณไม่สามารถจำลองมันได้ มันเป็นสิ่งพิเศษสุดที่ช่วยเสริมสร้างความสมจริงให้กับหนังเรื่องนี้” เธอบอก
   “จีนเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์พิเศษสุด และนี่ก็เป็นประสบการณ์ที่ทรงพลังจริงๆ สำหรับพวกเราในฐานะครอบครัว ที่ได้ทำงานร่วมกันในสถานที่แบบนี้” เธอกล่าวต่อ “มันเป็นหนึ่งในโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต ที่พวกเราจะรำลึกไว้เสมอ และแน่นอนค่ะ เราจะมีหนังที่วิเศษสุดให้ได้รำลึกถึงช่วงเวลานั้นด้วย”
   ทีมงานตั้งกองกันอยู่นอกไปยิง ฟิล์ม สตูดิโอส์ ด้านหลังสตูดิโอเต็มไปด้วย ฮูตงหรือ ตรอกซอกซอยระหว่าง ซือเหอหยวน หรือคฤหาสน์ที่มีอาณาบริเวณ ซือเหอหยวนเป็นรูปแบบที่พักอาศัยดั้งเดิมที่นับวันก็ยิ่งจะหดหายไปของชาวปักกิ่ง ซึ่งแต่ละบ้านจะประกอบไปด้วยสวนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ล้อมด้วยบ้านมุงหลังคาชั้นเดียว ซึ่งปกติจะมีขนาดหนึ่งถึงหกเมตร
   พื้นที่นั้นยังเป็นที่ตั้งของอาคารเจ็ดชั้น ซึ่งถูกใช้เป็นภายนอกของอพาร์ทเมนต์ของเดร “เดอะ เบเวอร์ลี ฮิลส์ อพาร์ทเมนต์” และเป็นหลังคาที่มิสเตอร์ฮันและเดรใช้ฝึกฝนกัน บ้านและโรงรถของมิสเตอร์ฮันยังถูกสร้างขึ้นที่นี่ด้วยการผสมผสานโครงสร้างเก่าเข้ากับการตกแต่งฉาก
   โลเกชันในปักกิ่ง ซึ่งคืออาคารสำหรับพนักงานหมายเลข 3 ที่มหาวิทยาลัยเบจิง ฟอเรสต์ ถูกใช้เป็นท้องถนนในดีทรอยท์ ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเดรและแม่ของเขา
   ซีนที่มีภาพน่าทึ่งซีนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกถ่ายทำที่โรงเรียนเบจิง เส้าหลิน วูชู สคูล และมีนักเรียน 400 คนแต่งตัวในชุด กี ดั้งเดิมสีแดง เพื่อปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในช่วงเช้า โรงเรียนแห่งนี้ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1991 ทำการสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมปลาย ด้วยหลักปรัชญาสไตล์วูชู
   สมิธชื่นชอบการได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมแสดงชาวจีนของเขา “ผมได้เรียนรู้กังฟูจากพวกเขา และผมก็สอนภาษาอังกฤษให้พวกเขาว่า ‘โย่ ไงเพื่อน’ เป็นคำแรกด้วยครับ”

sianbun on June 05, 2010, 12:40:16 PM
พระราชวังต้องห้าม

   การถ่ายทำที่เทียนอันเหมินและภายในพระราชวังต้องห้ามเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นแต่ก็เหนื่อยแสนสาหัสสำหรับทั้งนักแสดงและทีมงาน มีกองถ่ายภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปและนี่ก็เป็นคณะถ่ายทำชุดแรกที่ได้ถ่ายทำที่นี่ในรอบกว่า 20 ปี
   ซวอร์ทกล่าวว่า “เราจะต้องเร่งรีบทุกอย่างเพราะเรามีเวลาเพียงสองชั่วโมงที่จะถ่ายทำทั้งซีน โชคดีที่เรามีทีมงานที่ยืดหยุ่นสุดๆ และการได้ถ่ายที่นั่นก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก”
   พระราชวังต้องห้ามเป็นพระราชวังของจักรพรรดิแห่งแผ่นดินจีน และเป็นศูนย์รวมอำนาจตั้งแต่ปี 1420 ถึง 1912 ในตอนที่จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนถูกปลดจากบัลลังก์ ที่พระราชวังแห่งนี้มีชื่อเช่นนี้ เพราะไม่มีใครสามารถเข้าและออกได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากองค์จักรพรรดิ ปัจจุบันนี้ พระราชวังต้องห้าม ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณ 7.8 ล้านตารางฟุตและมีสิ่งปลูกสร้าง 960 หลัง เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พระราชวัง พระราชวังแห่งนี้ได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก้ในปี 1987 และประตูเทียนอันเหมินก็มักถูกพูดถึงว่าเป็นประตูหน้าสู่พระราชวังแห่งนี้
   ทีมงานยังได้ถ่ายทำที่วิหารพระพุทธรูปทองคำ ซึ่งตั้งตระหง่านเหนือพระราชวังต้องห้าม จากวัดศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ที่ยอดสูงสุดในปักกิ่ง จะเห็นวิว 360 องศาของพระราชวังทั้งหมด โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง

กำแพงเมืองจีน

   ความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งสำหรับทีมงานคือการได้ถ่ายทำที่กำแพงเมืองจีน “มิสเตอร์ฮันพาเดรไปฝึกฝนที่กำแพงเมืองจีน” พิงเก็ตต์ สมิธบอก “ที่นั่น เขาได้เรียนรู้รูปแบบของตัวเอง และพวกเขาก็ได้วิ่งรอบกำแพง มันเป็นเหมือนช่วงเวลา ‘ร็อคกี้’ ของเขาน่ะค่ะ”
   ด้วยความที่ไม่มีการอนุญาตให้นำยานพาหนะขึ้นไปบนกำแพงได้ ทีมงานจึงต้องแบกอุปกรณ์หนักด้วยตัวเอง “มันเป็นเรื่องลำบากสำหรับทีมงานครับ ในตอนที่คุณเห็นกำแพงเมืองจีน คุณคงไม่คิดว่ามันจะสูงชันเท่าไหร่ แต่มันชันมากครับในหลายๆ ที่” ซวอร์ทกล่าว
   ซวอร์ททึ่งกับการที่เฉินหลงมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการถ่ายทำอย่างมาก “คุณจะได้เห็นเฉินหลงแบกอุปกรณ์และช่วยทำให้ถนนเรียบ เขาทำทุกสิ่งเท่าที่เขาจะทำได้เพื่อช่วยในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ครับ” เขาบอก
   ส่วนของกำแพงเมืองจีนที่ถูกใช้ในการถ่ายทำคือมู่เทียนยู่ ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลหวยโหรว ห่างจากปักกิ่งประมาณ 45 ไมล์ กำแพงเมืองจีนถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในราชวงศ์ฉีเหนือ (550-557) ในราชวงศ์หมิง (1368-1644) ขุนพลผู้รักชาติสองคนได้บูรณะมันขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแนวป้องกันในตอนที่พวกเขาเฝ้าจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มันเป็นกำแพงคุ้มกันทางเหนือได้เป็นอย่างดี และได้ปกปักษ์รักษานครหลวงและเมืองสำคัญๆ ของประเทศมานานหลายต่อหลายชั่วอายุคน
   กำแพงเมืองจีนเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยถูกสร้างขึ้นมา มันทอดตัวยาวไกลข้ามหุบเขาทางตอนเหนือของจีน คดเคี้ยวไปทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง กำแพงนี้ยาวประมาณ 5,500 ไมล์ ซึ่งรวมถึงป้อมค่ายและป้อมปราการตามธรรมชาติด้วย

ภายในและรอบๆ กรุงปักกิ่ง

   โลเกชันการถ่ายทำอื่นๆ ที่มีเอกลักษณ์ทั้งในและรอบๆ กรุงปักกิ่งยังรวมถึงสนามบินนานาชาติปักกิ่ง ซึ่งเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดและมีการจราจรหนาแน่นที่สุดของจีน และเป็นท่าอากาศยานสำหรับแอร์ ไชนา ซึ่งเป็นสายการบินระดับชาติของจีนอีกด้วย, โฟตง ออโต้ แฟคทอรี บริษัทผลิตรถบรรทุกไฮเทค ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ทำงานใหม่ของเชอร์รีและถนนหวังฟูจิง สแน็ค สตรีท ย่านที่ขึ้นชื่อในปักกิ่งสำหรับเรื่องขนมที่น่าสนใจของมัน เช่น “แมงป่องทอด” ซึ่งเดรและเหม่ยอิงกินกันระหว่างเดท “ไม่มีแมงป่องตัวไหนถูกทำร้ายระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่องนี้เลยครับ” ซวอร์ทกล่าวยิ้มๆ “เพราะแผนกอุปกรณ์ของเรื่องได้สร้างแมงป่องปลอมๆ ขึ้นจากแป้ง แล้วก็ทอดด้วยน้ำมันเพื่อให้จาเดนและเหวินเหวินกินมันน่ะครับ”
   เดอะ ไชนา ฟิล์ม กรุ๊ป ฟิล์ม เบส ที่ตั้งอยู่ในมณฑลหวยโหรว และห่างจากกรุงปักกิ่งไปประมาณ 90 นาที เป็นสตูดิโอภาพยนตร์สมัยใหม่ที่มีแบ็คล็อทฮูตงที่เรียกว่า เฟยเทง ณ ที่นี้เอง ทีมงานได้สร้างฉากภายในอพาร์ทเมนต์ของเชอร์รีและเดร, ออดิทอเรียมซึ่งเป็นสถานที่สำหรับงานแสดงไวโอลินของเหม่ยอิงและวิหารเมาเทน เทมเปิล ที่งดงาม

ภูเขาบู๊ตึ๊ง

   หนึ่งในซีนที่น่าประทับใจและสะเทือนอารมณ์ที่สุดในเรื่องเกิดขึ้นในตอนที่มิสเตอร์ฮันพาเดรเดินทางไปยังหุบเขาบู๊ตึ๊งเพื่อตามหาต้นกำเนิดของกังฟู หลังจากที่ปีนขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วเท่านั้น เดรจึงสามารถดื่มด่ำไปกับบ่อน้ำแห่งกังฟูได้
   ซวอร์ทได้ค้นพบสถานที่แห่งนี้ระหว่างการท่องอินเทอร์เน็ต “ผมมองหาวัดสวยๆ และผมก็เจอภาพของโกลเดน ซัมมิท ผมคิดเลยว่า ‘นี่เป็นวัดที่สวยสง่าที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลย’ แล้วผมก็ได้พบว่าบู๊ตึ๊ง ชาน และสิ่งแวดล้อมของมันเป็นหัวใจของกังฟู ผมรู้ว่าเราต้องถ่ายทำที่นี่ มันไม่มีอะไรมาแทนออราและพลังงานของวัดเหล่านี้ได้เลย”
   ซวอร์ทกล่าวว่า ทีมงานเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการถ่ายทำจะเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายขนาดไหน “ผมรู้สึกผิดเล็กๆ เพราะผมขอให้ทีมงานแบกอุปกรณ์หนักอึ้งขึ้นไปบนสถานที่ที่เข้าถึงยาก” เขาบอก “เราไม่มีทางใช้ยานพาหนะขึ้นไปถึงที่นั่นได้ เราต้องเดินขึ้นไปได้และลุยเข้าไปในป่า เราพยายามจะรักษาน้ำหนักให้เบาที่สุดเท่าที่จะทำได้”
   นอกเหนือจากอุปสรรคต่างๆ แล้ว วิลล์ สมิธกล่าวว่า การใส่บู๊ตึ๊งเข้าไปในตารางการถ่ายทำมีส่วนสำคัญต่องานถ่ายทำอย่างยิ่ง “ทุกสิ่งที่คุณทำในชีวิตน่าจะเป็นเรื่องของประสบการณ์และการเติบโตของตัวตน ดังนั้น ถ้าคุณมีโอกาสได้ถ่ายทำในสถานที่แบบบู๊ตึ๊งล่ะก็ คุณก็ต้องคว้ามันไว้! และเราก็ได้มายืนอยู่ตรงนี้ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จีนและได้สัมผัสกับสถานที่สวยๆ แบบนี้ มันเป็นโชคดีสำหรับเราที่ได้ถ่ายทำที่นั่นครับ” เขาเล่า
   มีการถ่ายทำหลายๆ ซีนในเรื่องที่สำคัญต่อพัฒนาการของเดรที่ภูเขาแห่งนั้น “ซีเควนซ์ฝึกด้วยกิ่งไม้เป็นฉากที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังในยุคแรกๆ ของเฉินหลง มันเป็นตอนที่เขาเลียนแบบท่าของหุ่นเชิดน่ะครับ แล้วมันก็จะปรากฏอีกครั้งในช่วงท้าย” ซวอร์ทตั้งข้อสังเกต “พล็อตอีกตอนหนึ่งที่เราถ่ายทำที่นี่คือตอนที่เดรทึ่งกับผู้หญิงที่ควบคุมงูเห่าได้ด้วยการเคลื่อนไหว มันเป็นฉากที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างน่าทึ่งครับ”
   ในการถ่ายทำฉากการนั่งรถไฟไปบู๊ตึ๊งของมิสเตอร์ฮันและเดร ทีมงานได้ถ่ายทำฉากภายในและภายนอกที่ตู้รถไฟที่ศูนย์ศิลปะในกรุงปักกิ่ง

ความรักและเทศกาลฉีซี่

   การเฉลิมฉลองเทศกาลฉีซี่ ที่บางครั้งถูกเรียกว่าเป็นวันวาเลนไทน์ของจีน ตรงกับวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดตามปฏิทินจีน โดยตำนานของเทศกาลนี้บอกเล่าเรื่องราวของนางฟ้าจี้นู่และเหน่ยหลาง เด็กหนุ่มที่เธอรักคู่รักที่ต้องพรากจากกัน ทั้งคู่จำใจต้องพรากจากกันด้วยเหตุอันแสนเศร้า ตำนานเล่าว่า ในค่ำคืนหนึ่ง ฝูงนกในท้องฟ้า ที่รู้สึกสงสารทั้งคู่ จะช่วยกันก่อตัวเป็นสะพานช่วยให้ทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง
   เทศกาลนี้ถูกถ่ายทำขึ้นตอนกลางคืนที่แบ็คล็อทเฟยเท็ง ที่ไชนา ฟิล์ม กรุ๊ป ฟิล์ม เบส ซึ่งถูกแปรสภาพให้เหมือนกับหมู่บ้านที่เปล่งประกายระยิบระยับ สว่างไสวไปด้วยตะเกียงสวยใส วิบวับทุกรูปทรงและขนาด ฉากนี้ยังประดับประดาไปด้วยบรรดาร้านรวงต่างๆ ที่ขายขนมดั้งเดิม ธูปและตะเกียงด้วย ที่นี่เองที่เดรได้พบกับเหม่ยอิง และทั้งคู่ก็ได้ไปเดทและแลกเปลี่ยนจุมพิตแรกกัน
   “ฉันประหม่ามากที่ต้องแสดงฉากจูบ ขาฉันสั่นไปหมดเลย” เหวินเหวินฮัน ผู้รับบทเหม่ยอิง เล่า “แต่จาเดนกล้าหาญมาก เขาบอกฉันว่าไม่ต้องกลัวเพราะเขาเองก็ประหม่าเหมือนกัน”
   “มันเป็นจูบแรกบนหน้าจอของผมด้วยเหมือนกันครับ” จาเดน สมิธเล่า “มันรู้สึกแปลกๆ ยังไงชอบกลตอนที่เราถ่ายทำซีนนี้ครั้งแรก แล้วเหวินเหวินก็เริ่มประหม่า ผมก็เลยบอกเธอว่า ‘ใจเย็นๆ...ผมจูบเก่งนะ ไม่เป็นไรหรอก! และสุดท้ายแล้ว มันก็โอเค และเราก็ได้ช็อตที่ต้องการมาครับ”
   สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นที่แบ็คล็อทของเฟยเท็งคือโรงละครหุ่นเชิด ที่ซึ่งบอกเล่าตำนานฉีซี่ของคู่รักที่ต้องพรากจากกัน

งานประลอง

   ทุกสิ่งที่มิสเตอร์ฮันสอนนำมาสู่งานประลอง ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันครั้งสุดท้ายระหว่างเดรและเช็ง จอมวายร้าย ภายในของสนามกีฬาเฟิงไตของปักกิ่งถูกใช้แทน “ออดิทอเรียมของมวลชน” ซึ่งเป็นสถานที่จัดการแข่งขัน
   ในการเปิดโอกาสให้จาเดน สมิธและเพื่อนร่วมทีมของเขาได้รับการฝึกฝนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทีมงานจึงได้วางตารางการถ่ายทำซีนนี้ในช่วงแปดวันสุดท้ายของการถ่ายทำ ทีมสตันท์ของเฉินหลงได้ออกแบบท่าต่อสู้ในฉากสุดท้าย ด้วยการผสมผสานเทคนิคด้านภาพยนตร์ของพวกเขาเข้ากับศิลปะการต่อสู้ของจริง “ทุกสิ่งที่คุณเห็นคือการตีความของเฉินหลงครับ” อู๋กังกล่าว
   นอกเหนือจากนั้น ทีมสตันท์ยังเป็นผู้รับผิดชอบการออดิชันเด็กหลายร้อยคนที่จะแสดงในฉากสำคัญ พวกเขาได้ออดิชันเด็กหลายพันคนตามโรงเรียนวูชูทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ “เด็กพวกนี้หลายคนมีทักษะที่ดีแต่ไม่มีความสามารถในการแสดงต่อหน้ากล้อง ผมต้องฝึกฝนเด็กๆ วันละห้าถึงแปดชั่วโมงในเรื่องของเวลา จังหวะ และปฏิกิริยาตอนที่พวกเขาโดนต่อยน่ะครับ” อู๋กล่าว
   ทีมงานใช้ตัวประกอบกว่า 800 คนในแต่ละวันเพื่อแสดงเป็นฝูงชนในงานประลองและสร้างเสริมบรรยากาศที่ตื่นเต้น นอกเหนือจากนั้น ก็มีตัวประกอบหลายสิบคนที่แสดงเป็นช่างภาพและช่างวิดีโอในงานนี้ด้วย

sianbun on June 05, 2010, 12:41:12 PM
ประวัตินักแสดง

   ไม่มีใครสงสัยเลยเมื่อได้รู้ว่า จาเดน สมิธ (เดร ปาร์คเกอร์) ติดอกติดใจการแสดงตั้งแต่ยังเล็กๆ เพราะมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จาเดนเป็นลูกชายวัยสิบเอ็ดขวบของวิลล์ และจาดา สมิธ แต่จาเดนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเส้นสายจากครอบครัวของเขาเลย เพราะลูกชายคนเล็กของครอบครัวสมิธได้สร้างความฮือฮาในแวดวงฮอลลีวูดด้วยความสามารถตัวเองแท้ๆ โดยสมิธเพิ่งได้รับรางวัล “ดาราดาวรุ่งชายแห่งปี” จากงานโชเวสต์ 2010 จากการแสดงของเขาใน The Karate Kid ไปเรียบร้อยแล้ว
   ผลงานจอเงินเรื่องล่าสุดของเขาคือการแสดงประกบคีอานู รีฟส์และเจนนิเฟอร์ คอนเนลลีในรีเมกไซไฟเรื่อง The Day the Earth Stood Still ในปี 2008 ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ของทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ที่กำกับโดยสก็อตต์ เดอร์ริคสันเรื่องนี้ทำให้จาเดนมีโอกาสได้ล้วงลึกถึงความรักที่เขามีต่อเรื่องราวไซไฟไปพร้อมๆ กับการขัดเกลาฝีมือการแสดงของเขา จาเดนได้รับรางวัลแซทเทิร์น อวอร์ดปี 2009 สาขานักแสดงนำชายรุ่นเยาว์ยอดเยี่ยมจากการแสดงของเขาในเรื่องนั้น
   ในปี 2006 จาเดนสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมด้วยการแสดงอย่างยอดเยี่ยมในบทคริส การ์ดเนอร์ จูเนียร์ ในภาพยนตร์โดยโคลัมเบีย พิคเจอร์สเรื่อง The Pursuit of Happyness โอปราห์ วินฟรีย์ได้พูดถึงการแสดงเปิดตัวของเขาว่า “สะกดใจ” การแสดงยอดเยี่ยมนี้ทำให้สมิธได้รับรางวัลเอ็มทีวี มูฟวี อวอร์ดสาขาการแสดงแจ้งเกิดยอดเยี่ยม, รางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ฟินิกซ์สาขาการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชายรุ่นเยาว์ทั้งในบทนำหรือบทสมทบ, รางวัลแบล็ครีล อวอร์ด และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบรอดคาสท์ ฟิล์ม คริติกส์ แอสโซซิเอชันส์, รางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจ อวอร์ดและรางวัลทีน ชอยส์ อวอร์ด
   ในช่วงที่พักจากแวดวงจอเงิน จาเดนได้ร่วมแสดงในซีรีส์ฮิตทางดิสนีย์เรื่อง The Suite Life of Zach and Cody โดยเขาได้แจ้งเกิดในแวดวงจอแก้วด้วยซีรีส์ที่อำนวยการสร้างโดยครอบครัวสมิธเรื่อง All of Us เมื่ออายุได้ห้าขวบ
   นอกจากสมิธจะเป็นนักแสดงรุ่นเยาว์มากพรสวรรค์แล้ว เขายังเป็นนักการกุศล ที่ทำหน้าที่เป็นทูตเยาวชนร่วมกับพี่สาวของเขา วิลโลว์ สมิธ ให้กับองค์กร โปรเจ็กต์ แซมบี้ ที่ร่วมมือกับฮัสโบร, อิงค์และกองทุนฮัสโบร ชิลเดรนส์ ฟันด์ โดยโปรเจ็กต์ แซมบี้เป็นองค์กรที่คอยช่วยเหลือเด็กๆ ที่กลายเป็นกำพร้าด้วยโรคเอดส์ในภูมิภาคแอฟริกา

   เฉินหลง (มิสเตอร์ฮัน) เป็นนักแสดง นักออกแบบคิวบู๊ ผู้กำกับ นักแสดงตลก ผู้อำนวยการสร้าง นักสู้ มือเขียนบท นักธุรกิจ นักร้องและนักแสดงสตันท์ นักแสดงชาวฮ่องกงผู้นี้โด่งดังจากสไตล์การต่อสู้แบบกายกรรม จังหวะการแสดงตลก การใช้อาวุธเฉพาะหน้าและรูปแบบการต่อสู้แปลกใหม่ของเขา เฉินหลงเริ่มแสดงตั้งแต่ในยุค 70s และได้แสดงในภาพยนตร์กว่า 100 เรื่อง
   ในปี 1960 พ่อของเขาได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ออสเตรเลีย เพื่อทำงานเป็นหัวหน้าพ่อครัวให้กับสถานทูตอเมริกา และเฉินหลงก็ถูกส่งตัวไปศึกษาต่อที่ไชนา ดรามา อคาเดมี ซึ่งเป็นโรงเรียนงิ้วในปักกิ่ง ที่นั่น เฉินหลงได้ฝึกฝนอย่างหนักตลอดสิบปี จนเชี่ยวชาญด้านศิลปะการต่อสู้และกายกรรม
   หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 1971 เฉินหลงก็ได้ทำงานเป็นนักกายกรรมและนักแสดงสตันท์ ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาคือ Fist of Fury ที่นำแสดงโดยบรูซ ลี ซูเปอร์สตาร์จากฮ่องกงในขณะนั้น ในภาพยนตร์เรื่องนั้น เขาได้แสดงฉากผาดโผนในการร่วงลงมาจากที่ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีน ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากทั้งลี และคนอื่นๆ มากมาย
   หลังจากการเสียชีวิตของลี เฉินหลงก็ตัดสินใจว่าเขาอยากจะฉีกจากขนบของลีและสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา ด้วยการผสมผสานทักษะศิลปะการต่อสู้ของตัวเองเข้ากับความกล้าบ้าบิ่น โดยเขายืนกรานที่จะแสดงฉากผาดโผนทั้งหมดด้วยตัวเอง และอารมณ์ตลกเจ็บตัวที่คล้ายคลึงกับ บัสเตอร์ คีย์ตัน ไอดอลคนหนึ่งของเขา เฉินหลงก็ได้พบสูตรทองคำในการแสดงภาพยนตร์ของเขา
   บทบาทแจ้งเกิดของเฉินหลงคือภาพยนตร์ปี 1978 เรื่อง Snake in the Eagle’s Shadow ภายใต้การกำกับของผู้กำกับหยวนวูปิง เฉินหลงมีอิสระในการแสดงฉากผาดโผนของตัวเองอย่างเต็มที่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวตลกกังฟู และสร้างความสดใหม่ให้กับผู้ชมฮ่องกง หลังจากนั้น เฉินหลงก็ได้แสดงใน Drunken Master ซึ่งประสบความสำเร็จในวงกว้าง
   ในปี 1983 เขาได้ก่อตั้งสมาพันธ์สตันท์แมนเฉินหลงขึ้น ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นองค์กรที่มีสมาชิกหกคน และหมายความถึงว่า สตันท์แมนขององค์กรนี้จะได้รับทั้งการประกันคุ้มครองรวมไปถึงเงินเดือนและค่าจ้างที่สูงขึ้น
   ผลงานที่โดดเด่นของเขาได้แก่ Supercop, Supercop 2 ที่ร่วมแสดงกับมิเชลล์ โหยว, Rumble in the Bronx, Thunderbolt, Mr. Nice Guy, Rush Hour สามภาค ที่ร่วมแสดงโดยคริส ทัคเกอร์, Shanghai Noon และ Shanghai Knights ที่ร่วมแสดงโดยโอเวน วิลสัน, The Tuxedo ที่ร่วมแสดงโดยเจนนิเฟอร์ เลิฟ ฮูวิตต์, The Medallion ที่ร่วมแสดงโดยแคลร์ ฟอร์ลันนี, จูเลียน แซนด์และจอห์น ริส-เดวีส์, Around the World in 80 Days ซึ่งเขารับบทปาสปาร์ตู/เหล่าซิง, Kung Fu Panda (พากย์เสียงลิง) และ The Spy Next Door ที่ร่วมแสดงโดยแอมเบอร์ วาเล็ตตา, บิลลี เรย์ ไซรัสและจอร์จ โลเปซ นอกจากนี้ เขายังได้พากย์เสียงตัวเองในซีรีส์อนิเมชันเรื่อง Jackie Chan Adventures อีกด้วย
   ชื่อของเฉินหลงถูกประดับลงบนดวงดาวในอะเวนิว ออฟ สตาร์ของฮ่องกงและฮอลลีวูด วอล์ค ออฟ เฟม ในฐานะไอคอนทางวัฒนธรรม ชื่อของเฉินหลงถูกอ้างถึงในเพลงป๊อป, การ์ตูนและวิดีโอเกมหลายครั้ง นอกจากนี้ เฉินหลงยังเป็นนักร้องเพลงจีนกลางและจีนกวางตุ้ง โดยเขาได้ออกอัลบัมมาหลายชุดและร้องเพลงธีมให้กับภาพยนตร์หลายเรื่องที่เขานำแสดงด้วย

   ทาราจี พี. เฮนสัน (เชอร์รี) ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมและได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากการแสดงประกบแบรด พิตต์ใน The Curious Case of Benjamin Button ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ Baby Boy, Four Brothers, Talk to Me, Hustle and Flow, Smokin’ Aces, ภาพยนตร์โดยไทเลอร์ เพอร์รีเรื่อง I Can Do Bad All By Myself และ Family That Preys, Not Easily Broken และ Hurricane Season ล่าสุด เธอได้ร่วมแสดงกับทีนา เฟย์และสตีฟ คาเรลใน Date Night
   เมื่อเร็วๆ นี้ เฮนสันเพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Larry Crowne กับนักแสดงและผู้กำกับทอม แฮงค์ ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่กำลังจะลงโรงของเธอได้แก่ Once Fallen ที่ร่วมแสดงกับเอ็ด แฮร์ริส, Peep World กับเรนน์ วิลสันและ The Good Doctor กับออร์ลันโด บลูม
   เฮนสันได้ร้องเพลงในภาพยนตร์ครั้งแรกใน Hustle & Flow และได้ร้องเพลงที่ได้รับรางวัลออสการ์จากเรื่องนี้ในงานประกาศรางวัลอคาเดมี อวอร์ดปี 2006
   ด้านจอแก้ว เฮนสันเป็นขาประจำซีรีส์ The Division และซีรีส์โดยเดวิด อี. เคลลีเรื่อง Boston Legal และในซีรีส์เอบีซีเรื่อง Eli Stone เธอได้รับบทดารารับเชิญในซีรีส์โทรทัศน์หลายเรื่อง รวมถึง Smart Guy, CSI และ House

sianbun on June 05, 2010, 12:42:06 PM
ประวัติทีมผู้สร้าง

ฮารัลด์ ซวอร์ท (ผู้กำกับ) มีพรสวรรค์ในการผสมผสานเวทมนตร์ด้านภาพและการบอกเล่าเรื่องราวที่ทั้งตลกและเข้าถึงได้ เขาเป็นหนึ่งในคนทำหนังรุ่นใหม่ไฟแรงระดับแนวหน้าของโลก ด้วยความคล่องแคล่วในสามภาษา ผู้กำกับชาวดัทช์คนนี้มีพรสวรรค์พิเศษในการก้าวผ่านพรมแดนด้านวัฒนธรรมและสัมผัสความคิดและหัวใจของผู้ชมที่มีแบ็คกราวน์และอายุแตกต่างกัน
ซวอร์ทเกิดในฮอลแลนด์และเติบโตขึ้นในเฟรดริกสตาด ประเทศนอร์เวย์ เขาเริ่มสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่เขาอายุได้แปดขวบ เขาได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ดัทช์ ฟิล์ม อคาเดมี ในอัมสเตอร์ดัม หลังจากที่ภาพยนตร์นักศึกษาของเขาเรื่อง Gabriel’s Surprise ได้ฉายทางจอแก้วสแกนดิเนเวีย เขาก็เริ่มได้รับการหยิบยื่นข้อเสนอให้กำกับโฆษณาทางโทรทัศน์และเขาก็กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับโฆษณาและมิวสิค วิดีโอที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุโรป เขาได้รับรางวัลมากมายสำหรับงานโฆษณาของเขา ซึ่งรวมถึงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมประจำปี 1998 ที่เขาได้รับในงานประกาศผลรางวัลมิดซัมเมอร์ในลอนดอนอีกด้วย
ผลงานโฆษณาของเขามีทั้งสปอตโฆษณาสำหรับบีเอ็มดับบลิว มินิ, ไอเอ็นจี, สกาย เทเลวิชันและโนเกีย แบ็คกราวน์ด้านภาพยนตร์ของซวอร์ททำให้เขามักถูกเรียกไปทำงานกับเซเล็บหลายคน ซึ่งรวมถึงสปอตกับโฆเซ มูรินโญ, ไมเคิล ดักกลาส, จอห์น ทราโวลต้าและริชาร์ด เกียร์ให้กับแลนเซีย
   ในปี 1997 ซวอร์ทได้เปิดตัวในฐานะผู้กำกับดรามาด้วย Commander Hamilton มินิซีรีส์สี่ตอนให้กับวงการจอแก้วสแกนดิเนเวีย ซีรีส์ดังกล่าวที่นำแสดงโดยเลนา โอลิน เจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด (The Unbearable Lightness of Being), มาร์ค ฮามิลล์ (ไตรภาค Star Wars) และปีเตอร์ สตอร์แมร์ (Bad Boys II, Minority Report) ได้รับความนิยมและได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างสูง และหลังจกนั้น เวอร์ชันภาพยนตร์ก็ถูกฉายในโรงภาพยนตร์และกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้นของภูมิภาคนั้น
ความสำเร็จครั้งนั้นทำให้ซวอร์ทเริ่มได้รับข้อเสนอจากฮอลลีวูด เขากลายเป็นผู้กำกับนอร์เวย์คนแรกที่ได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกสมาพันธ์ผู้กำกับอเมริกาและได้รับการยกย่องจากนิตยสารวาไรตี้ให้เป็นหนึ่งในสิบผู้กำกับน่าจับตามอง ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของซวอร์ทคือ One Night at McCool’s ปี 2001 ที่นำแสดงโดยลีฟ ไทเลอร์, ไมเคิล ดักกลาส, แมท ดิลลอนและพอล ไรเซอร์ คอเมดีตลกร้ายเกี่ยวกับชายสามคนที่ตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกันในคืนเดียวกันเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ของซวอร์ทในการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน อารมณ์ตลกร้ายและการคัดเลือกนักแสดงที่ยอดเยี่ยม
ซวอร์ทได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Agent Cody Banks ภาพยนตร์แอ็กชันผจญภัยที่นำแสดงโดยแฟรงค์กี้ มูนิซและฮิลารี ดัฟฟ์ ก่อนที่เขาจะไปสร้างเรื่องราวให้กับ Cody Banks II ซวอร์ทได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Pink Panther 2 ที่นำแสดงโดยสตีฟ มาร์ติน, ฌอง เรโน, เอมิลี มอร์ติเมอร์, แอนดี้ การ์เซีย, อัลเฟรด โมลินา, ไอศวรรยา ไร, จอห์น คลีส, เจเรมี ไอรอนส์และลิลลี ทอมลิน
   ซวอร์ทแบ่งเวลาการใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิสและออสโล เขายังคงกำกับโฆษณาและพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ผ่านทางซวอร์ท อาร์บิด บริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งกับเวสเลโมอี้ รัดด์ ซวอร์ท

   คริสโตเฟอร์ เมอร์ฟีย์ (บทภาพยนตร์โดย) สำเร็จการศึกษาเอกอังกฤษและวรรณคดีจีนจากฮาร์วาร์ด คอลเลจ ซึ่งรวมถึงการศึกษาภาษาจีนนานสามปี ซึ่งทำให้เขาเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่อง The Karate Kid นี่เป็นบทภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ นอกจากนี้ เมอร์ฟีย์ยังได้เขียนบท Body of Proof ตอนไพล็อตให้กับเอบีซี ที่นำแสดงโดยดานา เดลานีย์ ในบทแพทย์ชาวฟิลาเดลเฟีย ซีรีส์เรื่องนี้จะแพร่ภาพในฤดูใบไม้ร่วงปี 2010 เขาใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิส

   โรเบิร์ต มาร์ค คาเมน (เรื่องราวโดย) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการศึกษาอเมริกันจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียอันทรงเกียรติ ก่อนที่เขาจะเบนเข็มมาทางฮอลลีวูด คาเมนได้ขายบทภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา Crossings ให้กับวอร์เนอร์ บรอส. ในปี 1978 ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาคือ Taps ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชม หลังจากนั้น เขาก็ได้เขียนบท The Karate Kid ซึ่งกลายเป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์สามภาค ที่เขาเองได้เขียนบททุกภาค
   หลังจากนั้น คาเมนก็ได้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Gladiator, The Power of One, A Walk in the Clouds และบล็อกบัสเตอร์เรื่อง Lethal Weapon 3 ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90s เขาได้สร้างชื่อให้กับตัวเองในฐานะมือเขียนบทที่เป็นที่ต้องการตัวสูงสุดในฮอลลีวูด โดยผลงานของเขาได้แก่ The Devil’s Own และ The Fifth Element นอกจากนั้น เขายังได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง The Professional กับลุค เบซงอีกด้วย
   คาเมนได้ร่วมเขียนบทกับลุค เบซงอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น The Transporter, Kiss of the Dragon, Transporter 2, Bandidas, Taken และ Transporter 3 เขารับหน้าที่ที่ปรึกษาฝ่ายศิลป์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Unleashed

   เจอร์รี ไวน์ทร็อบ (ผู้อำนวยการสร้าง) รับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างในภาพยนตร์ The Karate Kid ทุกภาคคือ The Karate Kid, The Karate Kid Part II, The Karate Kid Part III และ The Next Karate Kid
   ก่อนหน้าที่จะจับงานภาพยนตร์ ไวน์ทร็อบเคยเป็นเอเยนต์นักแสดง โดยเขาเคยเป็นตัวแทนให้กับนักร้องนักแสดงชื่อดังอย่างแฟรงค์ ซินาตรา, เอลวิส เพรสลีย์, บ็อบ ดีแลน, โจอี้ บิช็อป, นีล ไดมอนด์, จอห์น เดนเวอร์, คาเรน คาร์เพนเตอร์และเดอะ โฟร์ ซีซันส์มาแล้ว นอกจากนี้ เขายังเป็นอดีตผู้อำนวยการและซีอีโอของบริษัทยูไนเต็ด อาร์ติสท์อีกด้วย
   ผลงานภาพยนตร์สองเรื่องแรกในฐานะผู้อำนวยการสร้างของเขาได้แก่ภาพยนตร์โดยโรเบิร์ต อัลท์แมนเรื่อง Nashville และ Oh, God ที่นำแสดงโดยจอร์จ เบิร์นส์และจอห์น เดนเวอร์ ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ Diner, รีเมก Ocean’s Eleven ในปี 2001, Ocean’s Twelve, Ocean’s Thirteen, The Specialist, Pure Country และ Nancy Drew
   ในปี 1986 และปี 2007 โชเวสต์ได้ยกย่องเจอร์รี ไวน์ทร็อบให้เป็นผู้อำนวยการสร้างแห่งปี และในปี 2001 โชเวสต์ก็ได้มอบรางวัลโกดัก อวอร์ดให้กับเขา ในปี 1991 เขาได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการของศูนย์เคนเนดี เซ็นเตอร์ เขาเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างอิสระคนแรกๆ ที่ถูกนำชื่อไปประดับบนฮอลลีวูด วอล์ค ออฟ เฟม และได้ประดับรอยมือและรอยเท้าที่เกราแมนส์ ไชนีส เธียเตอร์

   วิลล์ สมิธ (ผู้อำนวยการสร้าง) ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการทำงานในแวดวงจอเงิน จอแก้วและเพลง การแสดงในบทมูฮัมเหม็ด อาลีในภาพยนตร์โดยไมเคิล แมนน์เรื่อง Ali ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเป็นครั้งแรก ตามมาด้วยการได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเป็นครั้งที่สองจากดรามาชีวิตจริงเรื่อง The Pursuit of Happyness
   ผลงานบล็อกบัสเตอร์ที่น่าทึ่งของเขาได้แก่ I Am Legend และ Hancock นอกจากนี้ เขายังได้สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมในภาพยนตร์ฮิตหลายเรื่องเช่น I, Robot, Independence Day, Men in Black และ Men in Black II เขาไม่ได้จำกัดการทำงานของตัวเองอยู่ที่การแสดงเท่านั้น แต่เขายังได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ร่วมกับเจมส์ แลสซีเตอร์ หุ้นส่วนที่โอเวอร์บรูค เอนเตอร์เทนเมนต์ด้วย เช่นภาพยนตร์เรื่อง Hitch, The Pursuit of Happyness, The Secret Life of Bees, Seven Pounds, Lakeview Terrace และ The Human Contract ซึ่งเป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของจาดา พิงเก็ตต์ สมิธ เมื่อเร็วๆ นี้ สมิธเพิ่งเซ็นสัญญานำแสดงภาพยนตร์โดยโคลัมเบีย พิคเจอร์สเรื่อง Men in Black III ซึ่งจะกำกับโดยแบร์รี ซอนเนนเฟลด์ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดที่จะลงโรงในวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 2012
   สมิธได้รับรางวัลสี่รางวัลในงานเวิลด์ มิวสิค อวอร์ดครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นที่มอนติคาร์โล และรางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจ อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากการแสดงของเขาใน Seven Pounds ในปี 2009 นอกจากนี้ สมิธยังได้รับรางวัลคิดส์ ชอยส์ อวอร์ดหลายรางวัลจากภาพยนตร์เรื่อง Independence Day, Wild Wild West, Shark Tale, Hitch และ Hancock สมิธได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ดสาขาการแสดงแร็ปยอดเยี่ยมครั้งแรกในปี 1989 จากเพลง Parents Just Don’t Understand และได้รับรางวัลแกรมมีอีกสามครั้งจาก Summertime, Men In Black และ Getting Jiggy Wit It
   สมิธตั้งภารกิจให้กับตัวเองในการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นผ่านทางกิจกรรมเพื่อมนุษยธรรมของเขา ประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับสมิธคือการศึกษาและความเป็นอยู่ของเด็กๆ สมิธได้สนับสนุนโรงเรียนทั่วประเทศในรูปแบบหลากหลาย โดยเขาได้พยายามจะสร้างความแตกต่างผ่านทางมูลนิธิวิลล์ แอนด์ จาดา สมิธ แฟมิลี ฟาวน์เดชัน ซึ่งเขาและภรรยาร่วมกันก่อตั้งในปี 1997 เมื่อปีที่แล้ว คู่สามีภรรยาสมิธได้ก่อตั้งสถาบันนิววิลเลจ ลีดเดอร์ชิพ อคาเดมี ซึ่งเป็นโรงเรียนไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนหลักสูตรก้าวหน้าที่หลากหลาย ที่คาลาบาซัส
   นอกจากนี้ ผ่านทางมูลนิธิแฟมิลี ฟาวน์เดชัน สมิธยังเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิคานิแมมโบ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ใช้หลักสูตรแปลกใหม่ในการพัฒนาการศึกษาและการดูแลเด็กกำพร้าและการศึกษารวมถึงการรักษาโรคเอดส์ในประเทศโมซัมบิคอีกด้วย
   ความสำเร็จส่วนหนึ่งของเขาคือการได้รับการยกย่องจากมิวเซียม ออฟ เดอะ มูฟวิง อิเมจในปี 2006 และได้รับรางวัลไซมอน วีเซนธัล ฮิวแมนิทาเรียน อวอร์ดในปี 2009 เขาได้รับรางวัลไซมอน วีเซนธัลจาก “ความมุ่งมั่นที่เขามีต่อการศึกษา ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความรับผิดชอบทางสังคม”
   สมิธรับหน้าที่เป็นทูตให้กับมูลนิธิ 46664 ของเนลสัน แมนเดลลา ซึ่งเป็นองค์กรแอฟริกาที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์โรคเอดส์ทั่วโลก เมื่อปีที่แล้ว สมิธกลายเป็นสมาชิกคณะกรรมการมาลาเรีย โน มอร์ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีเป้าหมายในการหยุดยั้งการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียในทั่วโลก และสมิธก็มีบทบาทสำคัญในโครงการเมค อะ วิช ที่ได้ช่วยทำให้ความปรารถนาเป็นจริงและสนับสนุนความพยายามของมูลนิธิในการทำให้ชีวิตของเด็กๆ ที่ป่วยหนักมีสภาพดีขึ้น ตลอดสิบห้าปีที่ผ่านมา

   จาดา พิงเก็ตต์ สมิธ (ผู้อำนวยการสร้าง) นำแสดงในดรามาการแพทย์ทางทีเอ็นทีเรื่อง HawthoRNe ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำซีซันที่สอง และมีกำหนดจะแพร่ภาพในวันที่ 22 มิถุนายน ปี 2010 นอกจากนี้ พิงเก็ตต์ สมิธยังได้ควบคุมงานสร้างซีรีส์นี้ผ่านทาง 100% วูมอน บริษัทโปรดักชันของเธอเองด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ พิงเก็ตต์ สมิธเพิ่งพากย์เสียง กลอเรียในภาพยนตร์เรื่อง Madagascar: Escape 2 Africa มา นอกจากนี้ เธอยังได้แสดงประกบเม็ก ไรอันและอีวา เมนเดสในรีเมก The Women จากผู้กำกับ/มือเขียนบท ไดแอน อิงลิชอีกด้วย
พิงเก็ตต์ สมิธ เคยร่วมแสดงกับอดัม แซนด์เลอร์และดอน ชีเดิลใน Reign Over Me ให้กับโคลัมเบีย พิคเจอร์ส นอกจากนี้ เธอยังได้รับบทสำคัญประกบทอม ครูซและเจมี ฟ็อกซ์ในภาพยนตร์โดยไมเคิล แมนน์เรื่อง Collateral พิงเก็ตต์ สมิธอาจเป็นที่รู้จักดีที่สุดจากบท ไนโอบี ในซีเควลที่ประสบความสำเร็จ Matrix Reloaded และ Matrix Revolutions
พิงเก็ตต์ สมิธมักจะท้าทายตัวเองด้วยโปรเจ็กต์หลากหลาย เธอได้กำกับ เขียนบท และร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง The Human Contract ซึ่งถูกอำนวยการสร้างผ่านทางบริษัทโปรดักชันของเธอ ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยเจสัน คลาร์ก และแพซ เวกา
นอกเหนือจากนั้น พิงเก็ตต์ สมิธยังได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ปี 2008 เรื่อง The Secret Life of Bees ที่สร้างขึ้นจากนิยายขายดีโดยซู มังค์ คิดด์อีกด้วย พิงเก็ตต์ สมิธเป็นนักเขียนตัวยงและเธอก็ได้เขียนหนังสือสำหรับเด็กเรื่อง Girls Hold Up This World ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2005 และกลายเป็นเบสต์เซลเลอร์ในนิวยอร์ก ไทม์ไป
พิงเก็ตต์ สมิธและวิลล์ สมิธ สามีของเธอได้สร้างและควบคุมงานสร้างซีรีส์ All of Us ทางซีดับบลิว เน็ตเวิร์คด้วย
พิงเก็ตต์ สมิธเป็นชาวแมรีแลนด์ เธอได้ศึกษาการเต้นและการแสดงที่บัลติมอร์ สคูล ออฟ อาร์ตส์และนอร์ธ แครอไลนา สคูล ออฟ เดอะ อาร์ตส์ เธอได้แจ้งเกิดในวงการเมื่อเธอได้แสดงในซีรีส์เอ็นบีซีเรื่อง A Different World

เจมส์ แลสซิเตอร์ (ผู้อำนวยการสร้าง) เป็นหุ้นส่วนกับวิลล์ สมิธและเคน สโตวิทซ์ ที่โอเวอร์บรูค เอนเตอร์เทนเมนต์ บริษัทโปรดักชันภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์
แลสซิเตอร์ได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Seven Pounds, Hancock, I Am Legend, The Pursuit of Happyness และ Hitch ที่นำแสดงโดยวิลล์ สมิธทุกเรื่อง นอกจากนี้ เขายังได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Lakeview Terrace ที่นำแสดงโดยซามวล แอล. แจ็คสันและ The Secret Life of Bees นอกเหนือจากนั้น เขายังได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์โดยจาดา พิงเก็ตต์ สมิธเรื่อง The Human Contract, ไซไฟทริลเลอร์เรื่อง I, Robot, คอเมดีเรื่อง Showtime ที่นำแสดงโดยโรเบิร์ต เดอ นีโรและเอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์อีกด้วย เขารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมเรื่อง Ali และในปี 2006 เขาก็ได้อำนวยการสร้าง ATL ที่นำแสดงโดยศิลปินเจ้าของรางวัลแพลตินัม ที.ไอ.
ด้านจอแก้ว แลสซิเตอร์ได้ควบคุมงานสร้างซีรีส์คอเมดี Getting Personal ที่นำแสดงโดยดูแอน มาร์ตินและวิวิกา เอ. ฟ็อกซ์ และรับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างให้กับซีรีส์ซีดับบลิวเรื่อง All Of Us
แลสซิเตอร์ได้โปรดิวซ์อัลบัมซาวน์แทร็คให้กับ Wild Wild West และ Men In Black ซึ่งทั้งสองเรื่องได้รับรางวัลอเมริกัน มิวสิค อวอร์ดสาขาซาวน์แทร็คยอดนิยม ผลงานอื่นๆ ที่โดดเด่นของแลสซิเตอร์ได้แก่การได้รับรางวัลเอาเตอร์ คริติกส์ เซอร์เคิล อวอร์ดปี 2001 จาก Jitney ละครออฟบรอดเวย์ที่เขียนบทโดยออกัสต์ วิลสัน

เคน สโตวิทซ์ (ผู้อำนวยการสร้าง) ได้เป็นหุ้นส่วนในโอเวอร์บรูค เอนเตอร์เทนเมนต์ร่วมกับวิลล์ สมิธและเจมส์ แลสซิเตอร์ในปี 2007 นับตั้งแต่นั้นมา เขาก็ได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Hancock ซึ่งทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 600 ล้านเหรียญ และ Seven Pounds ซึ่งทำให้สมิธได้ร่วมงานกับผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างจาก The Pursuit of Happyness อีกครั้ง รวมถึง Lakeview Terrace, The Secret Life of Bees และ The Human Contract อีกด้วย
สมิธ, แลสซิเตอร์และสโตวิทซ์ได้สร้างโอเวอร์บรูคให้เป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ นอกเหนือจากภาพยนตร์ที่พวกเขาอำนวยการสร้างภายใต้สัญญาเสนองานก่อนให้กับโซนี พิคเจอร์ส เอนเตอร์เทนเมนต์แล้ว โอเวอร์บรูคยังได้ทำสัญญาากับยูทีวี ในอินเดีย ซึ่งจะให้เงินทุนสนับสนุนภาพยนตร์ที่จะอำนวยการสร้างโดยสมิธและแลสซิเตอร์ โดยมีโซนีเป็นผู้จัดจำหน่าย
สโตวิทซ์ได้เป็นตัวแทนให้กับสมิธและโอเวอร์บรูคเป็นเวลาสิบห้าปีที่ครีเอทีฟ อาร์ติสท์ เอเจนซี เขาได้เข้าสู่วงการบันเทิงเป็นครั้งแรกด้วยการทำหน้าที่ทนายความที่พิลส์เบรี, เมดิสัน แอนด์ ซูโทร หลังจากทำงานที่อินเตอร์เนชันแนล ครีเอทีฟ เมเนจเมนต์เป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้ว เขาก็ได้ทำงานที่ซีเอเอในปี 1989

โรเบิร์ต แพรท, บีเอสซี (ผู้กำกับภาพ) เป็นชาวเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ผลงานที่น่าประทับใจของเขาได้แก่ Harry Potter and the Goblet of Fire, Harry Potter and the Chamber of Secrets, Dorian Grey, Inkheart, Troy, Chocolat, Batman, Shadowlands และ Frankenstein เขามักจะได้ร่วมงานกับผู้กำกับเทอร์รี กิลเลียมบ่อยครั้ง โดยเขาได้รับหน้าที่ผู้กำกับภาพในภาพยนตร์เรื่อง Twelve Monkeys, Brazil และ The Fisher King เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตาและออสการ์จากผลงานของเขาใน The End of the Affairและเขายังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตาจาก Chocolat อีกด้วย

   ฟรังซัวส์ เซกวิน (ผู้ออกแบบงานสร้าง)    เริ่มต้นทำงานในแวดวงจอเงินในแคนาดา ในตำแหน่งนักตกแต่งฉากและนักตกแต่ง ผลงานของเขาในฐานะผู้ออกแบบงานสร้างได้แก่ Afterglow, The Red Violin, Lucky Number Slevin, Silk และ Push
   ฮัน เฟ็ง (ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย) เป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในโลก ไม่เพียงแต่เพราะการออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับของเธอเท่านั้น แต่ยังด้วยคอสตูมและการออกแบบงานนิทรรศการของเธอด้วย เธอเป็นที่รู้จักดีที่สุดจากโอเปราที่ได้รับรางวัลเรื่อง Madame Butterfly ที่กำกับโดยแอนโธนี มิงเกลลา ซึ่งจัดแสดงในปี 2005 ที่อีเอ็นโอในลอนดอนและที่เดอะ เม็ทในนิวยอร์ก ซิตี้ในปี 2006
   เครื่องแต่งกายที่ฮันออกแบบได้รับเลือกจากเอมี แทนและผู้กำกับเฉินชีเจงสำหรับ The Bonesetter’s Daughter ที่เปิดตัวในโรงละครซานฟรานซิสโก โอเปราในปี 2008 และสำหรับละครโดยฮันเดลเรื่อง Semele ที่เปิดตัวที่บรัสเซลส์ ลา มอนเน โอเปรา เฮาส์ในเดือนกันยายน ปี 2009 ปัจจุบัน เธอกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมงานสำหรับโอเปราอิตาเลียนเรื่อง Misfortune ที่จะกำกับโดยเฉินชีเจง และดนตรีประกอบโดยจูดิธ เวียร์ ละครเรื่องนี้จะจัดแสดงในปี 2012 ที่โคเวนท์ การ์เดน กรุงลอนดอน
   ฮันเกิดในเมืองนานจิง ประเทศจีน เธอสำเร็จการศึกษาจากสถาบันไชนา อคาเดมี ออฟ ไฟน์ อาร์ตส์ ในเมืองหังโจว ในช่วงต้นยุค 80s เธอย้ายไปนิวยอร์ก ซิตี้ในปี 1985 ที่ซึ่งเธอได้จับงานด้านแฟชันอย่างรวดเร็ว ด้วยความต้องการในผ้าพันคอและเครื่องประดับอื่นๆ ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของเธอ ฮันจึงได้เริ่มต้นไลน์เครื่องประดับพร้อมสวมใส่ของเธอขึ้นในปี 1993 ที่งานแฟชันโชว์ไบรแอนท์ ปาร์คในนิวยอร์ก หลังจากความสำเร็จและรางวัลมากมายในฐานะดีไซเนอร์ชาวอเมริกันในอเมริกา เธอก็ได้หวนคืนสู่บ้านเกิด และย้ายโชว์รูมของเธอไปเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบัน เธอมักจะเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านของเธอในจีนและอเมริกา
   ผลงานของเธอถูกจัดแสดงที่งานแสดงต่างๆ ทั้งในอเมริกาและยุโรป งานผ้าไหมของเธอถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ทในกรุงลอนดอน

   โจเอล เน็กรอน (มือลำดับภาพ) ล่าสุดได้ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์เรื่อง Transformers: Revenge of the Fallen ให้กับผู้กำกับไมเคิล เบย์และ The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor ให้กับผู้กำกับร็อบ โคเฮน
   ผลงานล่าสุดของเน็กรอนได้แก่การลำดับภาพให้กับภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจเรื่อง Gridiron Gang ที่นำแสดงโดยดเวย์น “เดอะ ร็อค” จอห์นสัน และกำกับโดยฟิล โจนู และเขายังรับหน้าที่มือลำดับภาพให้กับรีเมกภาพยนตร์คลาสสิกของวอร์เนอร์ บรอส. เรื่อง House of Wax ให้กับผู้อำนวยการสร้างโจเอล ซิลเวอร์ ที่กำกับโดยฌอม โกเลท์-เซอร์รา และภาพยนตร์แอ็กชันเรื่อง xXx ให้กับผู้กำกับโคเฮน
   เน็กรอนเริ่มต้นทำงานเป็นผู้ช่วยลำดับภาพที่หนึ่งในภาพยนตร์โดยเจมส์ คาเมรอนเรื่อง True Lies ก่อนที่จะได้ร่วมงานกับผู้กำกับทิม เบอร์ตันในภาพยนตร์สี่เรื่องติด เริ่มต้นจาก Mars Attacks! และเขาก็ได้ขยับขึ้นไปเป็นมือลำดับภาพและมือลำดับภาพเพิ่มเติมในภาพยนตร์เรื่อง Sleepy Hollow, Planet of the Apes, Big Fish และ Radio
   เน็กรอนมีผลงานการลำดับภาพที่น่าประทับใจหลายเรื่อง ที่เขาได้ร่วมงานกับผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี บรัคไฮเมอร์ เช่นในบล็อกบัสเตอร์เรื่อง Gone in Sixty Seconds ที่กำกับโดยโดมินิค เซนา, Enemy of the State ที่กำกับโดยโทนี สก็อตต์ และ Pearl Harbor และ Armageddon ที่กำกับโดยไมเคิล เบย์ทั้งสองเรื่อง
   เน็กรอนได้ช่วยงานพ่อของเขา นักวาดภาพ/ดีไซเนอร์ เดวิด เน็กรอน ตั้งแต่เด็กๆ ด้วยการเตรียมงานสตอรีบอร์ดให้กับภาพยนตร์เรื่อง Raiders of the Lost Ark

   เจมส์ ฮอร์เนอร์ (ดนตรี) ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจากดนตรีในเรื่อง Avatar เป็นหนึ่งในคอมโพสเซอร์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยุคใหม่ที่ได้รับการยกย่องสูงสุด หลังจากที่เขาได้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่น่าจดจำและประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ฮอร์เนอร์ก็ได้รับสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและสองรางวัลลูกโลกทองคำสองครั้งจากภาพยนตร์โดยเจมส์ คาเมรอนเรื่อง Titanic นอกเหนือจากนั้น เขายังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจากดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง House of Sand and Fog, A Beautiful Mind, Braveheart, Apollo 13, Field of Dreams และ Aliens และสำหรับเพลงประกอบภาพยนตร์ดั้งเดิม Somewhere Out There จากภาพยนตร์เรื่อง An American Tale นอกจากนี้ เขายังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำอีกแปดครั้ง และได้รับหกรางวัลแกรมมี อวอร์ด ซึ่งรวมถึงสาขาเพลงแห่งปี ในปี 1987 (Somewhere Out There) และปี 1998 (My Heart Will Go On)
   ในเดือนเมษายน ปี 1998 ซาวน์แทร็คจากเรื่อง Titanic ของฮอร์เนอร์ติดอันดับ 1 บนบิลบอร์ด ท็อป 200 อัลบัม ชาร์ต นานถึง 16 สัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งเป็นสถิติใหม่สำหรับอัลบัมดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ครองอันดับหนึ่งติดต่อกันนานที่สุด
   ผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ล่าสุดของฮอร์เนอร์ ผู้โด่งดังจากสไตล์ที่หลากหลายของเขาได้แก่ The Spiderwick Chronicles, Apocalypto, All The King’s Men, The New World, The Legend of Zorro, The Chumscrubber, Flightplan, The Forgotten, Troy, The Missing, Bobby Jones, Stroke of Genius, Radio, Beyond Borders, Enemy at the Gates, Dr. Seuss’ How the Grinch Stole Christmas, The Four Feathers, The Perfect Storm, Freedom Song, Bicentennial Man, Mighty Joe Young, The Mask of Zorro, Deep Impact, The Devil’s Own, Ransom, Courage Under Fire, To Gillian on Her 37th Birthday, The Spitfire Grill, Casper, Legends of the Fall, Clear and Present Danger, The Pagemaster, Bopha!, The Pelican Brief, The Man Without a Face, Patriot Games, Thunderheart, Sneakers, The Rocketeer, Glory, In Country, Field of Dreams, Honey, I Shrunk the Kids, The Land Before Time, Willow, An American Tail, The Name of the Rose, Cocoon and Cocoon: The Return, Gorky Park, 48 Hrs. และ Another 48 Hrs., Star Trek II และ Star Trek III นอกจากนี้ เขายังได้แต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ปี 2006 The Good Shepherd อีกด้วย
   
   "Academy Award®" และ "Oscar®" เป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการจดทะเบียนของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์