มุมคิดดี ๆ จากวันวิสาขบูชาโลก - อย่าทำดีแค่วันเดียว ชาวพุทธเร่งใช้ธรรมะ “พลิกชีวิตตน ... พลิกชะตาประเทศ”
หลังการทำบุญใหญ่เพื่อศิริมงคลของชีวิต ในวันวิสาขบูชาได้ผ่านไป หลายคนพยายาม “ลืมอดีต” หันมาจดจ่อเฝ้ารอ “วันใหม่” หวังให้ชีวิตและบ้านเมืองจะคืนสู่ปกติสุขอีกครั้ง …
ถึงอย่างไรเสีย เราก็ยังควรนำ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” มาเป็น “บทเรียนปัจจุบัน” เพื่อหลีกเลี่ยง “วิกฤติในอนาคต” โดยใช้ “ธรรมะ” เป็นเครื่องนำทาง
“ในสงครามไม่เคยปรากฏ ผู้ชนะตัวจริง สักครั้ง” แม้เราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะ
(ทางกายภาพ) แต่หารู้ไม่ว่า เราได้ “แพ้กิเลสตัวเอง” ไปแล้ว ส่งผลให้กลายเป็นคนที่สะสมความโลภ คั่งแค้น มีจิตใจเอาเปรียบ ร้อนรุ่มตลอดเวลาด้วยความความอยากได้ อยากดี อยากชนะ สั่งสมจนเป็นนิสัย ... “กิเลสจึงเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย สามารถ “เปลี่ยนคนดีไปเป็นคนเลว” ได้อย่างเหลือเชื่อ”
วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือเริ่มที่ “ตัวเราเอง” ก่อน
ตั้ง “สัจจะอธิษฐานว่า จะคิด พูด ปฏิบัติ เฉพาะแต่สิ่งที่ดี ๆ ในทุก ๆ วันของชีวิต” แล้วลงมือปฏิบัติให้ได้ตามนั้น ท่านจะพบว่า “ชีวิตเริ่มพลิกไปสู่สิ่งที่ดี ๆ” และ “ประเทศฟื้นตัวเองได้อย่างรวดเร็ว” อะไรที่เป็นปัญหา หันมาพูดคุยกันอย่างสันติวิธี อย่าให้อคติครอบงำ
จากเหตุการณ์สำคัญที่ประมุขสงฆ์ ปราชญ์ และผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกได้เดินทางมาร่วมประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) วังน้อย พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะร่วมกันอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การประกาศ “ปฏิญญากรุงเทพ” 11 ข้อ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นในหมู่ชาวพุทธทุกนิกาย ทุกองค์กร ทั่วโลก
เหตุการณ์นี้ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่า นอกเหนือจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งสำคัญที่ชาวพุทธควรพัฒนาให้เกิดขึ้น คือ “ปัญญา” เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และความร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังเพื่อ “พลิกชีวิตตน พลิกชะตาประเทศ และพลิกวิกฤติการณ์ของโลก” ไปสู่การฟื้นตัวแบบยั่งยืน
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และประธานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ กล่าวว่า ผลสรุปสำคัญจากการประชุมผู้นำชาวพุทธในหัวข้อเรื่อง “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ” ในมิติต่าง ๆ เพื่อเร่งนำไปใช้ทั่วโลก มีสาระสำคัญว่า “ชาวพุทธต้องเร่งพัฒนาจิต ฟื้นฟูศีลธรรมในใจของมนุษย์ ใช้กฎธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน จิตใจเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง จึงต้องสร้างสมดุลทางจิต โดยอาศัยกรรมฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา และนำหลักศีล 5 มาใช้ รวมทั้งการศึกษาเชิงพุทธ ควรเน้นการผสมผสานระหว่างการศึกษาพุทธศาสนาแนวใหม่กับแบบดั้งเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน”
นอกจากนี้ยังพูดถึง การอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยเฉพาะในประเทศที่มีความขัดแย้ง รวมทั้งการใช้นิเวศวิทยาเชิงพุทธ เพื่อชี้ให้มนุษย์มองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งทุกสิ่งที่อยู่บนโลก หากคนรักษาศีลจะไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น อาทิ ภาวะโลกร้อน การสร้างทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติ มีการลงนามสร้างเครือข่าย “พุทธนิเวศ” และสุดท้าย โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤติการณ์ทางด้านเศรษฐกิจโลก ทั้งในระดับบุคคลและระดับชุมชน”
ซึ่งผลสรุปของการประชุม ก็ได้กลายเป็นสาระสำคัญของ “ปฏิญญากรุงเทพฯ” จำนวน 11 ข้อ ที่เร่งให้ผู้นำศาสนาและผู้นำการเมืองส่งเสริมในประเด็นต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการลงนามร่วมกันของชาวพุทธทั่วโลกในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อาทิ การจัดสร้าง “พุทธอุทยานโลก” ขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ประเทศไทย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก!โครงการจัดทำ “พระไตรปิฎกฉบับสากล” ที่รวมคำสอนของพระพุทธศาสนาในนิกายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน โครงการจัดสร้างบัญชีตำราทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน
ในพิธีปิดงานวันวิสาขบูชาโลก ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ยังมีสารสำคัญมาจากผู้นำศาสนาสำคัญหลายท่าน อาทิ ท่านพระมหาเถระ โคจิน ฮันดะ แห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “ภาวะโลกร้อนเกิดจากความโลภที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์และการมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่ง เน้นให้คนเปลี่ยนค่านิยมจาก “วัตถุนิยม” ไปสู่ “ความสุข(ใจ)นิยม”
ขณะที่มร. มอริส สตรอง ที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติ มองว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องมาจากการร่วมมือกันของคนทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับด้านจิตวิญญาณมากขึ้น ส่วนพระมหาเถระ ชูนัน โมระตะเกะ ประธานสมาคมนานาชาติ ได้เน้นให้คนใช้ชีวิตโดยมีสำนึกของคำว่า “น่าเสียดาย” ใช้ทุกสิ่งอย่างรู้คุณค่า จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น และจิตใจก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้
นอกจากนี้ ดร.อริยะรัตเน ปราชญ์ชาวพุทธและผู้นำศาสนาคนสำคัญของประเทศศรีลังกา ได้ย้ำหลักธรรมสำคัญว่า “แม้การให้อภัยกับคนที่สร้างความทุกข์เดือดร้อนให้เราจะทำได้ยาก แต่หากทำได้ถือเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ ในทางกลับกัน คนที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ควรมีความละอายใจในสิ่งที่ทำ และหันกลับมาช่วยคนอื่น โลกมีความรุนแรงพอแล้ว”
ก่อนปิดงานวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 7 ไป ผู้นำศาสนาทั่วโลกได้มีการตกลงว่างาน
“วันวิสาขบูชาโลก” ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่เมืองไทยอีกครั้ง เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ดังนั้น ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ควรหันหน้ามาช่วยกันสร้างความดี สะสมวันละเล็ก วันละน้อย ให้เป็นอุปนิสัย ใช้ชีวิตบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง เพื่อความสุขที่ยั่งยืน นำชาติกลับสู่การเป็น “สยามเมืองยิ้ม” ก่อนที่วันวิสาขบูชา จะเวียนมาบรรจบอีกครั้งในปี 2554
อย่าให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอย (ปี 52 และ 53 ...เกิดเหตุการณ์ นองเลือดก่อนวัน
วิสาขบูชา) อีกเลย
คนไทยทุกคน ต้องช่วยกัน