sianbun on May 13, 2010, 03:08:03 PM
คนไทยอย่าลืม "ลมหายใจ" ของพุทธศาสนา รู้แก่นธรรมง่าย ๆ เพื่อชีวิตที่สงบสุขได้จาก วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553



          คนไทยอย่าลืม “ลมหายใจ” ของพุทธศาสนา
          รู้แก่นธรรมง่าย ๆ เพื่อชีวิตที่สงบสุขได้จาก วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553
          นำคำสอนจากพระโอษฐ์ ของพระพุทธเจ้า มาใช้ในการดำเนินชีวิตกันจริง ๆ (เสียทีเถอะ)
 
          ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อชา สุภัทโท เคยพูดไว้ว่า  “ปลามันอยู่ในน้ำ แต่ไม่เห็นน้ำ ... ไส้เดือนกินดิน แต่มันไม่เห็นดิน... เหมือนกับคนไม่เห็นตัวเองก็เป็นอย่างนั้น  เหมือนสุนัขที่นอนอยู่บนกองข้าวเปลือก เวลาหิวก็วิ่งไปหาข้าวสุกที่เขาทิ้ง ทั้งที่ตัวเองนอนทับข้าวอยู่ แต่มันซ้อมข้าวไม่เป็น เลยไม่เห็นที่จะกิน”

          คนในสังคมไทย ส่วนใหญ่ก็กำลังมีอาการแบบนั้น  แม้อยู่ในพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาแห่งปัญญา  แต่กลับใช้ชีวิตห่างไกลจากคำสอนของพระศาสดามากขึ้นทุกขณะ

          ในวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 ในระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค.นี้ จะมีการจัดงานประชุมอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นในประเทศไทย ที่ทั่วโลกยอมรับว่า “ไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของโลก” โดยจะมีผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ กว่า 1,500 รูป/คน ที่เดินทางมาจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกเดินทางมาร่วมงาน

          จึงถือเป็นโอกาสอันพิเศษยิ่ง ที่ชาวไทยจะได้ร่วมกันเรียนรู้ว่า “แก่นคำสอน” ของพุทธศาสนา ซึ่งแท้จริงเรียบง่าย ปฏิบัติได้ทุกวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือสามัญชน ทุกคนสามารถบรรลุธรรม เข้าถึงความสุข สงบ สว่าง ได้ไม่แตกต่างกัน
 
          ความน่าสนใจของ “วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553” ยังรวมไปถึงการประชุมสัมมนาในหัวข้อ “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยมุมมองชาวพุทธ” เพื่อระดมความคิดของผู้นำพุทธ และปราชญ์ทั่วโลก ในการนำหลักทางพุทธศาสนามาช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก แม้จะประชุมเป็นภาษาอังกฤษแต่ก็มีเครื่องช่วยแปลภาษาให้ฟังเข้าใจง่าย กับผู้ที่ต้องการฟังเป็นภาษาไทย

          นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแสดงนิทรรศการ “พระไตรปิฎกนานาชาติ มรดกธรรม มรดกโลก” ซึ่งจัดแสดงพระไตรปิฎกเก่าแก่ที่หาชมได้ยาก ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รวบรวมไว้มากถึง 16 ชาติ เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้พระไตรปิฏกเก่าแก่เหล่านั้น

          รวมทั้งการแสดงหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวอันน่าสนใจเกี่ยวกับพระไตรปิฎก ฉบับ 2,000 ปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งพระไตรปิฎกฉบับนี้รอดพ้นจากการถูกทำลายโดยกลุ่มตาลีบันอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อครั้งที่มีการระเบิดทำลายพระพุทธรูปยืนสลักบนหน้าผาหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ประเทศอัฟกานิสถาน โดยนิทรรศการ “พระไตรปิฎกนานาชาติ มรดกธรรม มรดกโลก” นี้ จะจัดแสดงขึ้นที่ อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษามหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย พระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่ 23 – 25 พ.ค.  ศกนี้

          อีกหนึ่ง ไฮไลท์ ของงานวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 นี้ คือ พิธีเวียนเทียนอันศักดิ์สิทธิ์นำโดยผู้นำชาวพุทธทั่วโลก โดยพุทธศาสนิกชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมในพิธีเวียนเทียนนี้ เพื่อสร้างสัมมาสติ ความรักและสามัคคีร่วมกันของคนในชาติ ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในวันที่ 25 พฤษภาคม ศกนี้ เวลา 16.00 น.  โดยผู้สนใจสามารถ   ศึกษารายละเอียดของงานได้ที่ www.icundv.com/vesak2010 หรือ โทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (+66) 035-238098-9

          ศ.ดร. พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะประธานจัดงานวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 กล่าวว่า “เราได้เห็นชาวพุทธทั่วโลกเดินทางมาไทยอันเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เพื่อจาริกแสวงบุญ แต่คนไทยกลับมองข้ามในสิ่งพิเศษที่เรามีนี้ไป ซึ่งหวังว่างานวิสาขบูชาโลกจะช่วยดึงคนไทย   ยุคปัจจุบันให้มาสนใจธรรมะยิ่งขึ้น ฝึกเจริญสติ เพราะสติเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยรักษาโลกใบนี้ให้สงบสุข ไม่ต้องตกอยู่ในวังวนแห่งการแก้แค้น ช่วยให้คนสามารถเอาชนะกิเลสและอารมณ์ในใจตัวเอง การฝึกจิตและฝึกฝนตนเองจะช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุขมากขึ้น ผู้คนมีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น และช่วยลดความขัดแย้งลงได้”

          ด้านแม่ชีศันสนีย์  หนึ่งในคณะกรรมการสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICUNDV) กล่าวว่า “ขอชาวพุทธร่วมเฉลิมฉลองการตรัสรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันวิสาขบูชานี้ ...สังคมปัจจุบันกำลังตกอยู่ในภาวะของความหลง หลงรักแบบสุดโต่ง หลงชังแบบสุดโต่ง ผู้คนรู้สึกโกรธกันได้ง่ายมาก เราจึงควรหมั่นพิจารณา มีสติ รักษาจิตใจให้เป็นปกติ เมื่อได้ยินข่าวอะไร ก็ให้คิดเสียว่า เขาพูดให้เราฟัง ไม่ได้พูดให้เราเชื่อ ให้ตั้งสติ ใช้ปัญญาในการติดตาม …มาท้าทายตัวเองกันดีกว่าว่าพวกเราสามารถอยู่เหนือความทุกข์ได้ ด้วยการฝึกฝนตัวเอง ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมาแล้ว เพื่อการมีชีวิตที่มีความสุข สงบ และเป็นอิสระอย่างแท้จริง”

          หากหันกลับมาเรียนรู้พระธรรมคำสอนที่มาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า หรืออ่านพระไตรปิฎกฉบับประชาชนสักครั้ง หรือลองเข้ามาสัมผัสสาระของงานวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 ....แล้วท่านจะแปลกใจอย่างยิ่งว่า  “คำตอบที่ท่านวิ่งค้นหามาตลอดชั่วชีวิตนั้น ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาท่านแล้ว !”

          มาร่วมระลึกถึงพระพุทธเจ้า ด้วยการน้อมนำคำสอนของท่านมาปฏิบัติอย่างถูก ต้อง สร้างลมหายแห่งสติ เริ่มต้นที่วัน“วิสาขบูชาโลก ปี 2553” นี้ กันเถิด…..
« Last Edit: May 13, 2010, 03:16:53 PM by sianbun »

sianbun on May 15, 2010, 02:36:33 PM
ขอเชิญชาวไทยร่วมงาน “วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553” 23 – 25 พ.ค.นี้

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  หรือ มจร. ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมงาน “วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553”  ระหว่างวันที่ 23 – 25 พ.ค. 2553 โดยจะมีการจัดพิธีเปิดงานและการประชุมร่วมกันของประมุขสงฆ์ ผู้นำ และปราชญ์ชาวพุทธจากทั่วโลกในหัวข้อ “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลกตามทัศนะชาวพุทธ” ขึ้นที่อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย พระนครศรีอยุธยา  สำหรับพิธีปิดงานจะมีขึ้นในวันที่ 25 พ.ค. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ หลังจากนั้นผู้นำชาวพุทธจะเข้าร่วมพิธีเวียนเทียน ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจากงานวิสาขบูชาโลก ยังรวมไปถึงการได้ฟังสนทนาธรรมอันเป็นประโยชน์ มีสาระ ทำให้สังคมโดยรวมได้สติ และมีความรู้ ความเท่าทันมากขึ้นอีกด้วย ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถศึกษารายละเอียดงานได้ที่ www.icundv.com/vesak2010 หรือ โทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   (+66) 035-238098-9 

สื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

คุณสมหมาย สุภาษิต หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจร.

โทร. 089-779-3708  อีเมล์ ssuphasit@hotmail.com

หรือ

คุณภรณ์ธณัฐ, คุณฐิภา  หรือคุณอภิรา

ส่วนสนับสนุนเผยแพร่งานประชาสัมพันธ์ งานวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553

โทร. 02-953-9624-5 ต่อ 801,806,807 หรือ 081-834-8087, 087-152-6246

อีเมล์ gmmonday2020@gmail.com

sianbun on May 18, 2010, 03:49:41 PM
ดร. อริยะรัตเน ผู้นำขบวนการ สรรโวทัย พร้อมผู้นำชาวพุทธ 83  ประเทศทั่วโลก ร่วมงาน “วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553”



        ดร. อริยะรัตเน ผู้ก่อตั้งขบวนการสรรโวทัยในประเทศศรีลังกา และเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการขับเคลื่อนกลุ่มพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) และขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ได้ตอบรับเดินทางมาร่วมงาน “วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553” ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 25 พ.ค. นี้ ที่ประเทศไทย พร้อมกับผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ด้านศาสนา    และผู้แทนจากองค์กรพุทธทั่วโลก อีกจาก 83 ประเทศทั่วโลก โดย ดร. อริยะรัตเน จะกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลกตามทัศนะชาวพุทธ” พร้อมกับส่งสารล่วงหน้าแสดงความเชื่อมั่นว่า แนวทางของพุทธศาสนาจะช่วยให้ผู้คนในโลกมองเห็นหนทางในการรับมือกับวิกฤติและความท้าทายในขณะนี้

ทั้งนี้ ใจความจากสารของ ดร. อริยะรัตเน  มีว่า “วันนี้มนุษยชาติกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายระดับโลก หากไม่สามารถรับมืออย่างเหมาะสมแล้ว อาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของภัยพิบัติที่คาดไม่ถึงและจุดจบของเราเอง  ข้าพเจ้าเชื่อว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงให้เราเห็นวิถีทางในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างน่าพึงพอใจ และนำมนุษยชาติไปสู่ ความพอใจ ความสุข และสันติภาพได้”

พระธรรมโกศาจารย์, ศ.ดร., อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ กล่าวว่า “ขณะนี้มีผู้นำชาวพุทธ 83  ประเทศที่ยืนยันการเข้าร่วมงาน “วันวิสาขบูชาโลก 2553”  ...หวังว่างานวิสาขบูชาโลก จะช่วยดึงคนไทย   ยุคปัจจุบันให้มาสนใจการฝึกเจริญสติ เพราะสติเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยรักษาตัวเราเองและโลกใบนี้ให้สงบสุข ไม่ต้องตกอยู่ในวังวนแห่งการแก้แค้น ช่วยให้คนสามารถเอาชนะกิเลสและอารมณ์ในใจตัวเอง การฝึกจิตและฝึกฝนตนเองจะช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุขมากขึ้น ผู้คนมีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น และช่วยลดความขัดแย้งลงได้ เราได้เห็นชาวพุทธทั่วโลกเดินทางมาไทยอันเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เพื่อจาริกแสวงบุญ และร่วมกันนำแก่นคำสอนในพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิต  ขอคนไทยอย่ามองข้ามในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหา เป็นคำสอนที่พิสูจน์ได้ และเป็นจริงเสมอในทุกกาลเวลา”

มร. มาซาคาซึ มัสซึโมโต รองประธานของ Inner Trip Reiyukai International ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “ แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศพุทธขนาดใหญ่ แต่แก่นคำสอนของพระศาสดายังไม่ได้เข้าถึงจิตใจชาวพุทธในญี่ปุ่นอย่างเพียงพอ  ยังมีปัญหาต่างๆ มากมายทั้งทางการเมืองและสังคมอันเกิดจากผู้คนขาดจริยธรรมและการรู้คุณค่าแห่งพุทธศาสนา ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประนเทศญี่ปุ่นเท่านั้น  งานวันวิสาขบูชาโลก จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับสถานการณ์เช่นนี้  ซึ่งเราควรช่วยกันสร้างความเข้าใจและเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของการเป็นพุทธศาสนิกชน และความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาทางสังคม เพื่อสร้างสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนโลกใบนี้” 

ด้านพระ ดร. ที ธัมมรัตนะ รองประธานสมาคมวิสาขบูชาโลก และประธานพุทธสมาคมแห่งประเทศฝรั่งเศส  กล่าวว่า “ สังคมโลกเผชิญความทุกข์อย่างยิ่งจากผลกระทบจากวิกฤติด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม ที่อยู่เหนือความคาดหมาย ผู้คนหลายล้านคนต้องประสบปัญหาที่คาดไม่ถึง อาทิ ตกงาน สูญเสียรายได้  เป้าหมายในชีวิต กระทั่งสูญเสียชีวิต เนื่องจากไม่อาจหาทางออกจากปัญหาได้ ดังนั้น การประชุมสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “การฟื้นตัวจากวิกฤติโลก ตามทัศนะชาวพุทธ” จึงมีความสำคัญยิ่ง ผู้นำชาวพุทธและนักวิชาการด้านศาสนาจะต้องหารือร่วมกันโดยนำหลักคำสอนของพระศาสดามาใช้ ซึ่งเชื่อว่าเราจะได้ทางออกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาต่าง ๆ  เพื่อช่วยรักษาชีวิตมนุษย์หลายล้านบนโลกใบนี้ไว้”

ดร. อิททะมาร์ บัสฮัน และ ดร. ธอร์ โกเนน ผู้แทนจากบ้านภาวนา ศูนย์พุทธธรรม ประเทศอิสราเอล ได้ส่งสารล่วงหน้าก่อนการเดินทางมาถึงว่า “การเข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้ได้พบปะเรียนรู้จากเพื่อนชาวพุทธให้เรามีความกล้าหาญมีพลังใจในการเผยแพร่ธรรมะของพระพุทธเจ้าในอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่มีความแตกต่างและความขัดแย้งอย่างสูง รวมทั้งมีภัยคุกคามจากสงคราม ถือเป็นโอกาสอันดีที่อิสราเอล ประเทศแห่งน้ำนมและน้ำผึ้ง แต่ท่วมทับด้วยเลือดและความเกลียดชัง จะได้ฝึกฝนการปฏิบัติธรรม แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เราควรหว่านลงไปในสังคมที่มั่งคั่งร่ำรวย พึงพอใจ และกังวลใจอย่างอิสราเอล ก็คือการกระตุ้นให้ทุกคนฝึกฝนที่จะตระหนัก ตื่นรู้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”

ทั้งนี้ งานวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 25 พ.ค. 2553 นี้ ที่ประเทศไทย โดยมีประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพื่อต้อนรับประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ด้านศาสนา คณะสงฆ์  และผู้แทนจากองค์กรพุทธทั่วโลกกว่า 1,700 รูป/คน จาก 83 ประเทศ ที่พร้อมเดินทางมาร่วมงาน  โดยมีการจัดประชุมในหัวข้อใหญ่เรื่อง “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ”

ณ อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

          การประชุมยังแบ่งออกเป็นการสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อย 6หัวข้อ ประกอบด้วย 1. การฟื้นตัว    จากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยมุมมองชาวพุทธ  2. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการพัฒนาทางจิต 3. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการศึกษาเชิงพุทธ 4. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยนิเวศวิทยาเชิงพุทธ  6. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม นอกจากนี้ยังมี การประชุมปฏิบัติการ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) และกลุ่มที่ 2 พระไตรปิฎกฉบับสากล (Common Buddhist Text)

ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถศึกษารายละเอียดงานได้ที่ www.icundv.com/vesak2010 หรือ  โทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   (+66) 035-238098-9
« Last Edit: May 23, 2010, 03:20:03 PM by sianbun »

sianbun on May 22, 2010, 04:05:20 PM
กำหนดการจัดกิจกรรมนานาชาติ
เรื่อง “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ
Global Recovery: The Buddhist Perspective”
เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๕๓
วันที่ ๒๓ - ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

 

 

วันเสาร์ ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓

                             แขกผู้มีเกียรติต่างประเทศเดินทางถึงประเทศไทย และลงทะเบียน

 

วันอาทิตย์ ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓

๐๘.๐๐ น.                ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางถึงห้องประชุม มวก. ๔๘  พรรษามหาวชิราลงกรณ

                             มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๐๘.๓๐ น.                     ผู้นำชาวพุทธเข้าสู่ห้องประชุมตามลำดับประเทศ

๐๙.๐๐ น.                           สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
เดินทางถึงห้องประชุม มวก.๔๘ พรรษามหาวชิราลงกรณ์
- คณะกรรมการจัดงานถวายการต้อนรับ และนำเข้าสู่ห้องประชุม
- จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
- พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติกล่าวถวายรายงาน
- ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวสัมโมทนียกถา
- ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เดินทางกลับ

๐๙.๓๐ น                             พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติกล่าวต้อนรับ

๑๐.๑๕ น.                           สุนทรพจน์ เรื่อง "การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ"

                             โดย ดร.อริยะรัตเน

๑๑.๓๐ น.                      ฉันภัตตาหารเพล และรับประทานอาหารกลางวัน

๑๒.๓๐ น.                     ถ่ายภาพหมู่

๑๓.๐๐ น.                      พร้อมกันที่ห้องประชุม มวก. ๔๘ พรรษามหาวชิราลงกรณ

                             เจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา

๑๔.๐๐ น.                           สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนิน

                             ถึงห้องประชุม มวก.๔๘ พรรษามหาวชิราลงกรณ
- ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการจัดงานเฝ้ารับเสด็จฯ
- ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
- ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายรายงาน
- พระราชดำรัสเปิดการประชุม
- ถวายเครื่องไทยธรรมแก่พระสังฆราช และประมุขสงฆ์
- เสด็จฯ กลับ

๑๕.๐๐ น.                ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์

๑๕.๓๐-๑๗.๐๐ น.           สุนทรพจน์ สาส์นจากผู้นำชาวพุทธ และบุคคลสำคัญ

 

 

วันจันทร์ ที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓

๐๘.๐๐ น.                           ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางถึงมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

๐๘.๓๐ น.                การสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อย ประกอบด้วย

กลุ่มที่ ๑ การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยมุมมองชาวพุทธ
(Global Recovery-The Buddhist Perspective)
กลุ่มที่ ๒ การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการพัฒนาทางจิต
(Global Recovery through Mental Well-being)
กลุ่มที่ ๓ การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการศึกษาเชิงพุทธ
(Global Recovery through Buddhist Education)
กลุ่มที่ ๔ การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
(Global Recovery through Harmonious Co-existence)
กลุ่มที่ ๕ การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยนิเวศวิทยาเชิงพุทธ
(Global Recovery through Buddhist Ecology)
กลุ่มที่ ๖ การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเพื่อ สังคม
(Global Recovery through Engaged Buddhism)

การประชุมปฏิบัติการ ๒ กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ ๑ สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU)
กลุ่มที่ ๒ พระไตรปิฎกฉบับสากล (Common Buddhist Texts)

๑๑.๓๐ น.                            ฉันภัตตาหารเพล และรับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ น.                            การสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อย (ต่อ)

๑๘.๐๐ น.                           รับประทานอาหารเย็น

๑๙.๐๐ น.                ชมการแสดงทางวัฒนธรรมนานาชาติ

 

 

วันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓

๐๘.๐๐ น.                           ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางถึงศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร

๐๘.๓๐ น.                           กล่าวสุนทรพจน์
- ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์
- อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น กล่าวสุนทรพจน์

๐๙.๓๐ น.                           สุนทรพจน์และสาส์นจากบุคคลสำคัญ
- เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือผู้แทน
- เลขาธิการองค์การยูเนสโก หรือผู้แทน
- เลขาธิการบริหารองค์การสหประชาชาติ สำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
- สุนทรพจน์และสาส์นจากผู้นำประเทศต่าง ๆ

๑๑.๓๐ น.                            ฉันภัตตาหารเพล และรับประทานอาหารกลางวัน

๑๒.๓๐ น.                           ถ่ายภาพหมู่

๑๓.๐๐ น.                 สุนทรพจน์และสาส์นจากบุคคลสำคัญ
๑. ญี่ปุ่น
๒. ไทย

๑๓.๓๐ น.                รายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของกลุ่มต่างๆ พร้อมทั้งซักถาม

๑๕.๐๐ น.                           ประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร ๒๐๑๐/๒๕๕๓
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

                             กล่าวอนุโมทนากถาและกล่าวปิดการประชุม

๑๖.๐๐ น.                            เดินทางไปร่วมประกอบพิธีธรรมยาตรา และเวียนเทียน
ณ ลานหน้าองค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล

 

 

วันพุธ ที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

                                                เดินทางกลับประเทศ

sianbun on May 23, 2010, 04:32:50 PM
ไทยต้อนรับผู้นำชาวพุทธกว่า 83 ประเทศ ร่วมงานวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 7 ประจำปี 2553 




วันนี้ คณะผู้นำสงฆ์  ผู้นำชาวพุทธ  นักปราชญ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์กรพุทธจำนวนกว่า 1,700 รูป/คน จาก 83 ประเทศทั่วโลก ได้เดินทางมาร่วมการประชุมชาวพุทธนานาชาติในหัวข้อ “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ”  เนื่องในวัน   วิสาขบูชาโลก ประจำปี 2553 ซึ่งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกัน โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงเปิดการประชุม ณ อาคารหอประชุม มวก.48 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย พระนครศรีอยุธยา และองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพ  โดยงานวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. ที่ประเทศไทย

                คณะผู้นำสงฆ์ นำโดยพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ ถ่ายรูปร่วมกับผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ ผู้แทนจากองค์กรพุทธทั่วโลก ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
« Last Edit: May 24, 2010, 03:15:52 PM by sianbun »

sianbun on June 02, 2010, 10:56:12 AM
มุมคิดดี ๆ จากวันวิสาขบูชาโลก - อย่าทำดีแค่วันเดียว ชาวพุทธเร่งใช้ธรรมะ “พลิกชีวิตตน ...  พลิกชะตาประเทศ”



หลังการทำบุญใหญ่เพื่อศิริมงคลของชีวิต ในวันวิสาขบูชาได้ผ่านไป หลายคนพยายาม “ลืมอดีต” หันมาจดจ่อเฝ้ารอ “วันใหม่” หวังให้ชีวิตและบ้านเมืองจะคืนสู่ปกติสุขอีกครั้ง …

ถึงอย่างไรเสีย  เราก็ยังควรนำ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” มาเป็น “บทเรียนปัจจุบัน” เพื่อหลีกเลี่ยง “วิกฤติในอนาคต” โดยใช้ “ธรรมะ” เป็นเครื่องนำทาง

“ในสงครามไม่เคยปรากฏ ผู้ชนะตัวจริง สักครั้ง”  แม้เราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะ
(ทางกายภาพ) แต่หารู้ไม่ว่า เราได้ “แพ้กิเลสตัวเอง” ไปแล้ว ส่งผลให้กลายเป็นคนที่สะสมความโลภ คั่งแค้น มีจิตใจเอาเปรียบ ร้อนรุ่มตลอดเวลาด้วยความความอยากได้ อยากดี อยากชนะ สั่งสมจนเป็นนิสัย ... “กิเลสจึงเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย สามารถ “เปลี่ยนคนดีไปเป็นคนเลว” ได้อย่างเหลือเชื่อ”

วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือเริ่มที่ “ตัวเราเอง” ก่อน

ตั้ง “สัจจะอธิษฐานว่า จะคิด พูด ปฏิบัติ เฉพาะแต่สิ่งที่ดี ๆ ในทุก ๆ วันของชีวิต” แล้วลงมือปฏิบัติให้ได้ตามนั้น ท่านจะพบว่า “ชีวิตเริ่มพลิกไปสู่สิ่งที่ดี ๆ” และ “ประเทศฟื้นตัวเองได้อย่างรวดเร็ว” อะไรที่เป็นปัญหา หันมาพูดคุยกันอย่างสันติวิธี อย่าให้อคติครอบงำ

จากเหตุการณ์สำคัญที่ประมุขสงฆ์ ปราชญ์ และผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกได้เดินทางมาร่วมประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) วังน้อย พระนครศรีอยุธยา  ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล  เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะร่วมกันอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การประกาศ “ปฏิญญากรุงเทพ” 11 ข้อ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นในหมู่ชาวพุทธทุกนิกาย ทุกองค์กร ทั่วโลก

เหตุการณ์นี้ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่า นอกเหนือจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งสำคัญที่ชาวพุทธควรพัฒนาให้เกิดขึ้น คือ “ปัญญา” เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และความร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังเพื่อ “พลิกชีวิตตน พลิกชะตาประเทศ และพลิกวิกฤติการณ์ของโลก” ไปสู่การฟื้นตัวแบบยั่งยืน

พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และประธานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ กล่าวว่า ผลสรุปสำคัญจากการประชุมผู้นำชาวพุทธในหัวข้อเรื่อง “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ” ในมิติต่าง ๆ เพื่อเร่งนำไปใช้ทั่วโลก มีสาระสำคัญว่า “ชาวพุทธต้องเร่งพัฒนาจิต ฟื้นฟูศีลธรรมในใจของมนุษย์ ใช้กฎธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน จิตใจเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง จึงต้องสร้างสมดุลทางจิต โดยอาศัยกรรมฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา และนำหลักศีล 5 มาใช้ รวมทั้งการศึกษาเชิงพุทธ ควรเน้นการผสมผสานระหว่างการศึกษาพุทธศาสนาแนวใหม่กับแบบดั้งเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน”


นอกจากนี้ยังพูดถึง การอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยเฉพาะในประเทศที่มีความขัดแย้ง รวมทั้งการใช้นิเวศวิทยาเชิงพุทธ  เพื่อชี้ให้มนุษย์มองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งทุกสิ่งที่อยู่บนโลก หากคนรักษาศีลจะไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น อาทิ ภาวะโลกร้อน  การสร้างทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติ มีการลงนามสร้างเครือข่าย “พุทธนิเวศ” และสุดท้าย โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤติการณ์ทางด้านเศรษฐกิจโลก ทั้งในระดับบุคคลและระดับชุมชน”

ซึ่งผลสรุปของการประชุม ก็ได้กลายเป็นสาระสำคัญของ “ปฏิญญากรุงเทพฯ” จำนวน 11 ข้อ ที่เร่งให้ผู้นำศาสนาและผู้นำการเมืองส่งเสริมในประเด็นต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการลงนามร่วมกันของชาวพุทธทั่วโลกในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อาทิ การจัดสร้าง “พุทธอุทยานโลก” ขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ประเทศไทย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก!โครงการจัดทำ “พระไตรปิฎกฉบับสากล” ที่รวมคำสอนของพระพุทธศาสนาในนิกายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน โครงการจัดสร้างบัญชีตำราทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน

ในพิธีปิดงานวันวิสาขบูชาโลก ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ยังมีสารสำคัญมาจากผู้นำศาสนาสำคัญหลายท่าน อาทิ ท่านพระมหาเถระ โคจิน ฮันดะ แห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “ภาวะโลกร้อนเกิดจากความโลภที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์และการมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่ง เน้นให้คนเปลี่ยนค่านิยมจาก “วัตถุนิยม” ไปสู่ “ความสุข(ใจ)นิยม” 

ขณะที่มร. มอริส สตรอง ที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติ มองว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องมาจากการร่วมมือกันของคนทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับด้านจิตวิญญาณมากขึ้น  ส่วนพระมหาเถระ ชูนัน โมระตะเกะ ประธานสมาคมนานาชาติ ได้เน้นให้คนใช้ชีวิตโดยมีสำนึกของคำว่า “น่าเสียดาย” ใช้ทุกสิ่งอย่างรู้คุณค่า จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น และจิตใจก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ ดร.อริยะรัตเน ปราชญ์ชาวพุทธและผู้นำศาสนาคนสำคัญของประเทศศรีลังกา ได้ย้ำหลักธรรมสำคัญว่า “แม้การให้อภัยกับคนที่สร้างความทุกข์เดือดร้อนให้เราจะทำได้ยาก แต่หากทำได้ถือเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ ในทางกลับกัน คนที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ควรมีความละอายใจในสิ่งที่ทำ และหันกลับมาช่วยคนอื่น โลกมีความรุนแรงพอแล้ว”

ก่อนปิดงานวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 7 ไป ผู้นำศาสนาทั่วโลกได้มีการตกลงว่างาน
“วันวิสาขบูชาโลก” ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่เมืองไทยอีกครั้ง เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ดังนั้น ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ควรหันหน้ามาช่วยกันสร้างความดี สะสมวันละเล็ก วันละน้อย ให้เป็นอุปนิสัย ใช้ชีวิตบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง เพื่อความสุขที่ยั่งยืน นำชาติกลับสู่การเป็น “สยามเมืองยิ้ม” ก่อนที่วันวิสาขบูชา จะเวียนมาบรรจบอีกครั้งในปี 2554

อย่าให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอย (ปี 52 และ 53 ...เกิดเหตุการณ์ นองเลือดก่อนวัน
วิสาขบูชา) อีกเลย

คนไทยทุกคน ต้องช่วยกัน
« Last Edit: June 02, 2010, 10:58:39 AM by sianbun »