pooklook on May 25, 2010, 09:08:02 PM
ดีเดย์ 3 กรกฎาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับขึ้นค่าโดยสาร ต่ำสุด 15 บาท สูงสุด 40 บาท

ในการประชุม ครม.วันที่ 18 พ.ค. กระทรวงคมนาคม เสนอให้ ครม.พิจารณา ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหา นคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... โดยทางกระทรวงคมนาคมเสนอว่า

1. สัญญาโครงการระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) วันที่ 1 สิงหาคม 2543 กำหนดว่าอัตราค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้า (MRTA Initial System Fare Rates) จะมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 24 เดือน แล้วจึงมีการปรับให้เท่ากับอัตรา ค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง (Basic Reference Fare Rates) ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการปรับอัตราค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้า ตามวิธีการคำนวณในผนวก VI ของสัญญาฯ บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) โดยเทียบจากอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2545 ซึ่งมีอัตราเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 36 บาท โดยอาจเป็นการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้

2. การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันของ รฟม. ตามข้อบังคับ รฟม. ซึ่งเริ่มต้นใช้บังคับเมื่อปี 2551 จะครบกำหนด 24 เดือน ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 สมควรมีการปรับอัตราค่าโดยสารตามสัญญาข้อ 1. ซึ่ง รฟม.ได้ดำเนินการคำนวณอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิงตามวิธีการคำนวณตามที่ กำหนดในสัญญาแล้ว โดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคของสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลในการคำนวณ และในคราวประชุมคณะกรรมการ รฟม. ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ได้มีมติอนุมัติอัตราค่าโดยสารฯ ใหม่ ซึ่งมีอัตราเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 40 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 (รวม 24 เดือน)

โดยสาระสำคัญของร่างข้อบังคับเป็นการ กำหนดให้ข้อบังคับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เป็นต้นไป กำหนดให้ยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. 2551 กำหนดให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นไปตามตารางอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าท้ายข้อบังคับนี้ (เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 40 บาท) และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้ลดหย่อนค่าโดยสารและได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระ ค่าโดยสาร รวมทั้ง กำหนดให้คณะกรรมการ รฟม. มีอำนาจออกประกาศลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้เป็นครั้งคราวเพื่อส่งเสริมการ ใช้บริการรถไฟฟ้า หรือเพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล



http://www.thairath.co.th/content/eco/83577