pooklook on May 16, 2010, 04:16:15 PM


นักเขียนกวีซีไรท์ปี 2527 วาณิช จรุงกิจอนันต์ วัย 62 ปี เสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมีย

นายวาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนกวีซีไรท์ปี 2527 เสียชีวิตแล้วเมื่อเวลา 06.00 น.ที่ผ่านมา
ด้วยวัย 62 ปี ที่ รพ.พร้อมมิตร จากโรคลูคีเมีย กำหนดพิธีรดน้ำศพวันนี้ เวลา 17.00 น.ที่วัดธาตุทอง


ประวัติย่อ
                วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน บิดาทำงานโรงสีข้าว มารดาทำขนมขาย

การศึกษา

                พ.ศ. 2507 จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบางปลาม้า "สูงสุมารผดุงวิทย์" อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

                พ.ศ. 2510 จบหลักสูตรประโยคประถมการช่างจากโรงเรียนช่างศิลป์ กรมศิลปกร กรุงเทพฯ

                พ.ศ. 2515 จบหลักสูตรปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และการพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปกร (ศิลปบัณฑิตสาขาภาพพิมพ์)

                พ.ศ. 2520 จบหลักสูตรปริญญาโท จากคณะศิลปะมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองลองบีช ประเทศสหรัฐอเมริกา (ศิลปมหาบัณฑิตสาขาวิชาภาพพิมพ์)

ประวัติงาน

                พ.ศ. 2515 เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ไปสมัครงานทำงานหนังสือที่ "สตรีสาร" อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง รับไว้ให้ช่วยงานตอนเย็นๆ กลางวันไปทำงานที่ฝ่ายศิลป์ที่หนังสือพิมพ์ "ประชาธิปไตย" รายวัน

                พ.ศ. 2516 ทำงานฝ่ายศิลป์ หน่วยออกแบบธนาคารกสิกรไทย จนกระทั้งเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี 2518

                พ.ศ. 2521 กลับจากสหรัฐอเมริกา ไปทำงานนอกเวลาที่นิตยสาร "สรีสาร" เหมือนเดิมพร้อมกับทำงานที่บริษัทพรีเมียร์ พับลิบลิชชิ่ง ทำงานวารสารบ้านของการเคหะแห่งชาติและทำงานอื่นอีกหลายแห่ง รวมทั้งเป็นนักเขียนอิสระไปด้วยจนในที่สุดเข้าไปทำงานประจำแผนกละคร บริษัทแกรมมี่เอนเทอร์เทนเมนท์ จำกัด และเป็นนักเขียนประจำให้แก่บริษัท มติชน จำกัด

                ในส่วนที่เกี่ยวกับงานประพันธ์ วาณิช จรุงกิจอนันต์ หัดแต่งกลอนตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา มีผลงานกลอนตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร     "แม่บ้านการเรียน" ปี 2507 และสนใจการเขียนกลอนเรื่อยมา      เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย เคยเป็นนักกลอนทีมศิลปากรชนะเลิศแข่งขันโต้กลอนสดระดับอุดมศึกษา ปี 2515 และมีเรื่องสั้น 3-5 เรื่อง ได้พิมพ์ในหนังสือวรรณศิลป์ หนังสือรับน้องของมหาวิทยาลัยศิลปกร และหนังสือรับน้องของโรงเรียนช่างศิลป์ ส่วนผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารทั่วไปชื่อ "ในคืนแห่งความเซ็ง" ในนิตยสาร "ลลนา" รายปักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2515 และเริ่มเขียนคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติรายวัน" เมื่อ พ.ศ. 2517 แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ งานเขียนชุด "จดหมายถึงเพื่อน" ซึ่งเขียนเล่าเรื่องระหว่างไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยเสนอในรูปแบบจดหมายที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน แล้วส่งจากสหรัฐอเมริกามาลงในนิตยสาร "ลลนา" ตั้งแต่ปี 2518 รวมจดหมายทั้งหมดได้ 20 ฉบับ เมื่อกลับจากสหรัฐอเมริกาจึงยึดการประพันธ์เป็นอาชีพจริงจังขึ้น มีผลงานหลายรูปแบบทั่งเรื่องสั้น นวนิยาย ร้อยกลอง บทความ สารคดี บทละครโทรทัศน์ บทภาพยนตร์ และงานเขียนเบ็ดเตล็ดที่โดดเด่นในการใช้สำนวนกวนอารมณ์ขันอีกมากซึ่งนอกจากจะปรากฎอยู่ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับแล้ว ยังมีผลงานรวมพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่อยู่เสมอหลายเรื่องได้รับรางวัลจากองค์กรต่างๆ

 

นามปากกา

                สุริยฉาย (ตอบปัญหาชีวิตใน "ลลนา" )และใช้นามจริงเป็นส่วนมาก

งานเขียนครั้งแรก

                มีผลงานกลอนตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร     "แม่บ้านการเรียน" ปี 2507

 

ผลงานรวมเล่ม

                - เรื่อง "เด็กชายกมลเที่ยวบ้านทุ่ง" ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทหนังสือสำหรับเด็กในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2521

                - เรื่อง "เมนูผู้กล้าหาญ" ได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2523

                -    เรื่อง "ลูกเสือหาเหยื่อให้แม่" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ การประกวดหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กของธนาคารกสิกรไทย จำกัด ปี 2524

                -    เรื่อง "เลาะยุโรป ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2525

                -  เรื่อง "ซอยเดียวกัน" ได้รับรางวัลซีไรต์ หรือรางวัลวรรณากรรมสรางสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประเภทรวมเรื่องสั้น ปี 2527

                -    เรื่อง "แม่เบี้ย" ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทนวนิยายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2530

                นอกจากนี้ยังมีบทกวีที่ได้รับการยกย่องจากกลุ่ม "วรรณกรรมพินิจ" หลายชิ้น เรื่อง "มิชิแกนเทสต์" ได้รับคัดเลือกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยเบน แอนเดอร์สัน และนวนิยายหลายเรื่อง เช่น แม่เบี้ย ตุ๊กตา และ เคหาสน์ดาว มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง วณิช จรุงกิจอนันต์ สมรสกับ ทอรุ้ง จรุงกิจอนันต์ อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรหญิงและชายรวม 3 คน คือ เพกา กงพัด และ สงฟาง โดย วาณิช จรุงกิจอนันต์ ยึดการประพันธ์เป็นอาชีพตลอดมา และมีผลงานเผยแพร่อยู่เสมอ

 

เกียรติยศที่ได้รับ

                - เด็กชายกมลเที่ยวบ้านทุ่ง ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทหนังสือสำหรับเด็กในงานสัปดาห์หนังสือ แห่งชาติ ปี 2521

                -    เขี้ยวสิงโต ได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กในงานสัปดาห์หนังสือ แห่งชาติ ปี 2522

                -   แม่หนูผู้กล้าหาญ ได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กในงานสัปดาห์หนังสือ แห่งชาติ ปี 2523

                -  ลูกเสือหาเหยื่อให้แม่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ การประกวดหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กของธนาคารกสิกรไทย ประจำปี 2524

                -   เลาะยุโรป ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี ในงานสัปดาห์หนังสือ แห่งชาติ ปี 2525

                -   ซอยเดียวกัน ได้รับรางวัลซีไรท์ ปี 2527

                -   แม่เบี้ย ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายในงานสัปดาห์หนังสือ แห่งชาติ ปี 2530

                นอกจากนี้ก็มีเรื่องสั้นหลายเรื่องได้รับรางวัลจากกลุ่มวรรณกรรมพินิจ เรื่องสั้นมิชิแกนเทสต์ ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ แม่เบี้ย   ตุ๊กตา และเคหาสน์ดาว มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และ ละครโทรทัศน์

 

ปัจจุบัน

                เขียนเรื่องสนุกๆ ให้กับนิตยสาร ต่วย’ ตูน และเล่มอื่นๆ ตามโอกาส
« Last Edit: May 16, 2010, 04:18:21 PM by pooklook »