sianbun on April 21, 2010, 04:34:37 PM
บีเอสเอรณรงค์ให้ข้อมูลผู้นำธุรกิจ เร่งลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

กรุงเทพฯ (21 เมษายน พ.ศ. 2553) – เหลือเวลาอีกเพียงสองสัปดาห์ก่อนการประกาศผลการศึกษาประจำปีเกี่ยวกับอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ใน 64 ประเทศทั่วโลก กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ จึงได้ถือโอกาสนี้เปิดตัวโครงการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลครั้งใหญ่แก่ภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงให้ความรู้ในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 

   ภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ บีเอสเอได้จัดส่งหนังสือรณรงค์เผยแพร่ข้อมูล พร้อมแผ่นพับ “การใช้ซอฟต์แวร์ในวันนี้ มิใช่เกมส์ที่คุณต้องเสี่ยง” ไปยังองค์กรธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง บีเอสเอกำลังจะจัดส่งหนังสือรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลชุดใหม่อีกนับหมื่นชุดไปยังองค์กรธุรกิจต่างๆ ในเร็วๆ นี้ โดยเนื้อหาได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้บริหารในองค์กรธุรกิจสามารถดำเนินการตรวจสอบ จัดการ และบริหารซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ภายในองค์กรธุรกิจตามขั้นตอนง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจไม่ต้องเสี่ยงกับการกระทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ บีเอสเอกำลังจัดเตรียมทีมงานอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ และตอบคำถาม ผู้บริหารและผู้จัดการด้านไอทีขององค์กรธุรกิจทั่วประเทศ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ 

   “โครงการครั้งนี้เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของบีเอสเอ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของประเทศไทย โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ และเพื่อให้ภาคธุรกิจไทยตระหนักถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในช่วงสองปีที่ผ่านมา บีเอสเอได้ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา           กองบังคับการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จัดงานสัมมนา “การบริหารจัดการสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ (Software Asset Management - SAM)” ทั่วประเทศ โดยเปิดให้ ตัวแทนผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และผู้จัดการไอที จากองค์กรธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ภายในงานสัมมนาดังกล่าว บีเอสเอและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าว เพื่อให้สามารถดำเนินตามขั้นตอนการตรวจสอบ จัดการ และบริหารซอฟต์แวร์ ที่ใช้อยู่ภายในองค์กรธุรกิจได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย” นางสาววารุณี  รัชตพัฒนากุล ที่ปรึกษาบีเอสเอประจำประเทศไทยกล่าว

   “เราต้องการเห็นภาคธุรกิจไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และจำเป็นในการปรับเปลี่ยนการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย” วารุณีเสริม “เราหวังว่าโครงการรณรงค์ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนจากการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และการใช้ซอฟต์แวร์อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มาใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ และใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องต่อไป”

โครงการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลทางตรงของบีเอสเอโครงการล่าสุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้เรื่องการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ บีเอสเอมีแผนจะจัดงานสัมมนา “การบริหารจัดการสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ (Software Asset Management - SAM)” อีกครั้งในปีถัดไป   

“เรากำลังดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่องค์กรธุรกิจโดยตรง ทั้งโดยการส่งหนังสือรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลทางไปรษณีย์ และให้เจ้าหน้าที่ทำการติดต่อไปทางโทรศัพท์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และผู้จัดการไอทีในองค์กรธุรกิจ  ทำการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งขององค์กรธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรธุรกิจเอง” วารุณีกล่าว

การเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ภายในองค์กรธุรกิจให้เป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์เอง รวมถึงความพยายามของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังได้กลายเป็นสูตรสำเร็จสูตรหนึ่งของการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไปแล้ว
   
   ปัจจุบันอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอยู่ที่ 76% ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ ไอดีซีจะประกาศผลการศึกษาอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ครั้งที่ 7 การศึกษายังจะระบุถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้รับ หากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย
“เรากำลังรอฟังผลการศึกษาอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปีนี้” วารุณีกล่าว “เราหวังว่าการดำเนินงานอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่องมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมาจะส่งผลให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยลดลง”

 เกี่ยวกับบีเอสเอ

สมาชิกบีเอสเอรวมถึง อโดบี, อจิเล้นท์ เทคโนโลยีส์, อัลเตียม, แอปเปิ้ล, อควาโฟล,เออาร์เอ็ม, อาร์ฟิก เทคโนโลยี, ออโต้เดสค์, ออโต้ฟอร์ม, อวีวา, เอวีจี,  เบนลี่ ซิสเต็มส์, ซีเอ,คาเดนส์, ซิสโก้ ซิสเต็มส์,  ซีเอ็นซี/มาสเตอร์แคม, คอเรล,  แดสเซิลท์ ซิสเต็มส์ โซลิดเวิร์คส์ คอร์ปอเรชั่น,  เดลล์, เอ็มบาร์คาเดโร, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ – ในเครือบริษัทออร์โบเท็ค  วาเลอร์, เอชพี, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทุธ, แคสเปอร์สกาย แล็บ,  แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, มินิแท็บ, พาราเม็ทตริกซ์ เทคโนโลยี คอร์เปอเรชั่น,โปรเกรส, ควาร์ค, เควสท์ ซอฟต์แวร์, โรเซ้ตต้า สโตน, เอสเอพี, ซีเมนส์, ไซเบส, ไซแมนเทค,ซินนอปซิส, ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพร์ส และ เดอะ แมธเวิร์กส์