sianbun on March 27, 2010, 10:34:47 PM
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติยกระดับความเป็นผู้นำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยด้วยการบุกเบิกการใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรฐาน EPCIS

กรุงเทพฯ 26 มีนาคม 2553  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) พัฒนาและบุกเบิกโครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจากรหัสมาตรฐานสากลเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ส่งออก และเกษตรกรไทย ตามมาตรฐาน EPCIS โดยอาศัยแอพพลิเคชันระบบฐานข้อมูล อ๊อปสมาร์ท (OpsSmart) ของบริษัท เอฟเอ็กซ์เอ และโซลูชันเทคโนโลยีการสื่อสารแบบอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ของบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก โดยในปี 2552 ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหาร รวมมูลค่า 559,609 ล้านบาท และถือเป็นประเทศที่ส่งออกทูน่ากระป๋อง ปลาแช่แข็ง และกุ้ง เป็นอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การร่วมมือของกรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และ บริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่ง ทั้งในภาคเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ส่งออก ได้ร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม การพัฒนามาตรฐานเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านมา เป็นมาตรฐานเฉพาะที่ใช้ภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดความพยายามในการผลักดันเพื่อยกระดับมาตรฐานที่เป็นอยู่ให้ได้ระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน EPCIS (Electronic Product Code Information Services) ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการให้บริการข้อมูล เลขรหัส EPC และข้อมูลอื่นๆ ที่มีโครงสร้างและข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับทั่วโลก

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ริเริ่มโครงการฯ และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย กล่าวว่า “โครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรฐานสากล” นี้ เป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553 – 2555 ในแผนยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการสร้างความมั่นใจในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยผลที่ได้จากการทำโครงการนี้ จะช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารภายในประเทศ อีกทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารและการเกษตรของไทย ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรได้อย่างละเอียดครบถ้วนในทุกขั้นตอน”

นอกจากนั้น นายธีระ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ความสำเร็จของโครงการฯ โดยการใช้เทคโนโลยีการกำหนดรหัสแปลงเกษตรกรด้วยรหัสสากลและเทคโนโลยีการสื่อสารการตรวจสอบย้อนกลับแบบอัตโนมัติที่ทันสมัยภายใต้มาตรฐานด้านเทคนิค EPCIS

(Electronic Product Code Information Services) นอกจากจะทำให้รัฐบาลไทยสามารถเพิ่มพูนศักยภาพในด้านระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าด้านอาหารและการเกษตรตามมาตรฐาน EPCIS แล้ว ยังทำให้ไทยมีจุดแข็งและได้เปรียบในการเจรจาทางด้านการค้าในเชิงรุกว่าด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มีความสมบูรณ์ และเป็นมาตรฐานต่อรัฐบาลคู่ค้าในทุกๆประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญด้านผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าการเกษตรของไทยอีกด้วย”

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) หน่วยงานผู้บริหารโครงการดังกล่าว ระบุเพิ่มเติมว่า “ประโยชน์ที่ได้จากโครงการฯ คือ ประเทศไทยจะได้ใช้เทคโนโลยีการกำหนดรหัสสากลและระบบสื่อสารการส่งข้อมูล (Message) การตรวจสอบย้อนกลับแบบอัตโนมัติ ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ที่ตั้งของโรงงาน วันที่ผลิตสินค้า วันหมดอายุสินค้า วันส่งสินค้า และอื่นๆ ได้ และ ผลลัพธ์ (Outcome) ของโครงการฯ คือ สามารถตรวจสอบแหล่งที่เป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาของสินค้าเกษตรและอาหาร และรู้สาเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เรียกคืนสินค้าเฉพาะที่เกิดปัญหาสามารถ ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ  สร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้า ทำให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้า โดยมีระบบการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้า ที่มีประสิทธิภาพ…..””

นายสมยศ ธนพิรุณธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีดังกล่าวว่า “โครงการนำร่องฯ ของ มอกช.ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมและทันสมัยที่สุดเพื่อให้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด CAT จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินโครงการฯดังกล่าว โดยได้คัดเลือกเทคโนโลยีการกำหนดรหัสสากลของสถาบันรหัสสากล GS1 ซึ่งสามารถระบุแหล่งที่มาของแปลงเกษตรกรได้จากการกำหนดรหัสสากลที่สามารถสื่อสารได้ทั่วโลก และเทคโนโลยีการสื่อสารการตรวจสอบแบบอัตโนมัติ อินโฟสเฟียร์ เทรสสิบิลิตี้ เซิร์ฟเวอร์ (InfoSphere Traceability Server) ซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็ม ที่รองรับการทำงานตามมาตรฐาน EPCIS (Electronic Product Code Information Services) ผนวกกับระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับ อ๊อปสมาร์ต (OpsSmart) ของทางเอฟเอ็กซ์เอ ซึ่งทั้งสองโซลูชันดังกล่าวสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของโครงการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี”

นายสมยศกล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้ CAT ได้ร่วมมือกับ มกอช. ในการเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้กับการดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงใบรับรองสินค้าเกษตรและอาหารกับต่างประเทศในปี 2551 และ โครงการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบตรวจสอบย้อนกลับ ในปี 2552 โดยการบริการให้คำปรึกษาโครงการทางด้านไอทีต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนี้ถือเป็นหนึ่งในบริการของ CAT  เพื่อการตอบสนองความต้องการลูกค้าในระดับองค์กรอย่างครบวงจร

นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว กล่าวว่า “ปัจจุบัน ไอบีเอ็มมีวิสัยทัศน์ในเรื่องการทำให้โลก ‘ฉลาดขึ้น’ (Smarter Planet) ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหา พัฒนาความเป็นอยู่ของคนและเอาชนะความท้าทายในหลาย ๆ ด้านของโลก ซึ่งรวมถึงปัญหาและความท้าทายด้านอาหารด้วย สำหรับโครงการฯ นี้ ไอบีเอ็มมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมและมีโอกาสนำเทคโนโลยี



ของเราไปช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าอาหารและการเกษตรซึ่งเป็นการช่วยสร้างคุณประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และตอบสนองวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศไทยยืนหยัดในการเป็น ‘ครัวโลก’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป”

นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอฟเอ็กซ์เอ จำกัด ซึ่งพัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับ “อ๊อปสมาร์ท (OpsSmart)” เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว กล่าวว่า  “การผนวกอ๊อปสมาร์ทเข้ากับอินโฟสเฟียร์ เทรสสิบิลิตี้ เซิร์ฟเวอร์ของไอบีเอ็มช่วยทำให้การตรวจสอบย้อนกลับทำได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระดับสินค้าส่งออก กระบวนการผลิตสินค้าอาหาร ไปจนถึงฟาร์ม อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ส่งออกและเกษตรกรของไทยสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าทางด้านอาหารอย่างเข้มงวดและต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น”

นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “ระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับ อ๊อปสมาร์ท จะทำหน้าที่ในการจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลรหัสแปลงเกษตรกรที่ได้จากโครงการฯ ในแต่ละชนิดสินค้าอาหาร เข้ากับข้อมูลโรงผลิต บรรจุ ถึงส่งออก ส่วน อินโฟสเฟียร์ เทรสสิบิลิตี้ เซิร์ฟเวอร์จะทำหน้าที่ในรับบันทึกข้อมูลผลิตภัณฑ์การส่งออก (Shipment Information) บางส่วนจากระบบอ๊อปสมาร์ทและทำการรับหรือส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติให้กับระบบอินโฟสเฟียร์ เทรสสิบิลิตี้ เซิร์ฟเวอร์หรือระบบอื่นๆ ที่รองรับมาตรฐาน EPCIS (Electronic Product Code Information Services)  ของคู้ค้าในห่วงโซ่อาหาร….”

โครงการฯ ดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้ผลิตอาหารและเกษตรกรเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 600 รายจากอุตสาหกรรม ไก่ อาหารทะเล และผัก-ผลไม้สด โดยระยะเวลาในการจัดทำโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เกี่ยวกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) เป็นหน่วยงานระดับกรมภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่กำกับดูแลงานด้านความปลอดภัยอาหารและสินค้าเกษตรเพื่อสนับสนุนการค้าสินค้าเกษตรของไทยในตลาดต่างประเทศ และเพื่อทำให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและทั่วโลกได้รับความปลอดภัยจากอาหารและผลิตผลการเกษตรจากประเทศไทย นอกจากนั้น มกอช ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตร และเป็นผู้ประสานงานหลักของประเทศภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศในองค์การการค้าโลกด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และความตกลงด้านการใช้มาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้าอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  (มกอช.) สามารถเข้าไปที่ www.acfs.go.th

เกี่ยวกับบริการให้คำปรึกษาทางด้านไอทีของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สามารถเข้าไปที่ www.cattellecom.com

เกี่ยวกับโซลูชันของไอบีเอ็มที่สนับสนุนระบบตรวจสอบย้อนกลับสามารถเข้าไปที่  www.ibm.com/software/data/infosphere/traceability-server/

เกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล อ๊อปสมาร์ท สามารถเข้าไปที่ http://www.fxagroup.com/
« Last Edit: March 30, 2010, 07:36:27 PM by sianbun »

sianbun on March 30, 2010, 07:36:44 PM
เทคโนโลยีของไอบีเอ็มที่เกี่ยวข้องกับโครงการนำร่อง
การใช้เทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไอบีเอ็ม ได้ให้บริการทางด้านโซลูชันและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. ไอบีเอ็ม อินโฟสเฟียร์ เทรสสิบีลิตี้ เซิร์ฟเวอร์ เวอร์ชัน 2.5 (IBM InfoSphere Traceability Server v2.5) ซอฟต์แวร์ที่ทำงานเพื่อรองรับและสนับสนุนแอพพลิเคชันทางด้านการตรวจสอบย้อนกลับ โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวมีความสามารถและจุดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น

สนับสนุนการบริหารจัดการ จัดเก็บ ตรวจสอบ ติดตาม ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารได้ในแบบเรียลไทม์
ช่วยองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพของระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจทางด้านเวชภัณฑ์ รถยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค ขนส่ง โลจิสติกส์ ค้าปลีก เป็นต้น  ด้วยความสามารถมากมาย เช่น การตรวจจับสินค้าปลอม หรือสินค้าที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หรือสินค้าที่หมดสต๊อก เป็นต้น รวมทั้งสามารถปรับสมรรถนะ (Scalability) ให้รองรับความต้องการการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การผลิต การบรรจุหีบห่อ การจัดจำหน่าย หรือ จุดวางสินค้า เป็นต้น
รองรับเทคโนโลยีของเซนเซอร์ในแบบต่าง ๆ เช่น อาร์เอฟไอดี บาร์โค้ดแบบ 1D และ 2D และได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน EPCIS 1.0 (Electronic Product Code Information Services) ขององค์กร EPCglobal
ผนวกความสามารถทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลเพื่อรายงานเชิงธุรกิจ (Analytics and Reporting Capabilities) รวมทั้งซอฟต์แวร์อื่น ๆ เช่น ค๊อกโนส ที่มีจุดเด่นเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถประมวลผลเพื่อทำรายงานในเชิงแนวโน้มเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารได้ หรือซอฟต์แวร์เว็บสเฟียร์ รวมทั้งดีบีทู ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานในด้านการบริหารจัดการข้อมูล เป็นต้น
มีความเสถียรและมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูง
ช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายและเวลา และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้แบบก้าวกระโดด
ทำงานได้บนระบบปฏิบัติการหลากหลาย เช่น วินโดวส์ ยูนิกซ์ หรือลินุกซ์ เป็นต้น

2. เครื่องแม่ข่าย เซิร์ฟเวอร์ ไอบีเอ็ม ซิสเต็ม เอ็กซ์3550 เอ็ม2 ที่ทำหน้าที่รองรับ สนับสนุนแอพพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ระบบที่ทำหน้าที่ในการกรองและส่งข้อความ และระบบ Camfrog และ ระบบ E-Library โดยมีจุดเด่นในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ขับเคลื่อนผ่านหน่วยประมวลผล อินเทล ซีออน ซึ่งมีสมรรถนะและประสิทธิภาพการทำงานขั้นสูง
ช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่าย แต่เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการความเสี่ยง และการบริการ
ประหยัดไฟ เนื่องจากมีระบบประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพ (Energy Smart Design for Quad Core Performance per watt) และเทคโนโลยีที่ช่วยในด้านการประหยัดพลังงานมากมาย เช่น ซอฟต์แวร์ไอบีเอ็ม ซิสเต็มส์ ไดเรคเตอร์ เป็นต้น
ความสามารถอันโดดเด่นด้านเทคโนโลยีเสมือนหรือเวอร์ชวลไลเซชัน ด้วยการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์วีเอ็มแวร์ ซอฟต์แวร์โซลูชันชั้นนำทางด้านเวอร์ชวลไลเซชัน
อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มสมรรถนะและประสิทธิภาพการทำงานของระบบ เช่น สถาปัตยกรรมเอ็กซ์ อาคิเทคเชอร์ ลิขสิทธิ์เฉพาะของไอบีเอ็ม หรือระบบไอเอ็มเอ็ม (Integrated Management Module –IMM) ซึ่งสนับสนุนในด้านความพร้อมใช้งานของระบบ เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชันและวิสัยทัศน์ของไอบีเอ็มที่สนับสนุนการบริหารจัดการอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ (Smarter Food) สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/smarterplanet/us/en/food_technology/ideas/index.html?re=sph หรือ www.ibm.com/software/data/infosphere/traceability-server/ หรือ www.ibm.com/systems/x