ธนาคารโลก ชูเว็บไซต์บีโอไอพัฒนายอดเยี่ยม พร้อมจัดเวิร์คช็อปการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนในไทย
ธนาคารโลก ยกให้เว็บไซต์ของบีโอไอ เป็นเว็บไซต์ที่มีการพัฒนามากที่สุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมจัดเวิร์คช็อปในไทยให้ 12 ชาติสมาชิกเอเปค ยกระดับการให้ข้อมูลแก่นักลงทุน ด้านบีโอไอเตรียมยกเครื่องบริการด้านข้อมูลอีกรอบ
นายโรเบิร์ต ไวท์ ผู้จัดการ หน่วยนโยบายและส่งเสริมการลงทุนของธนาคารโลก เปิดเผยถึงผลการสำรวจและประเมินการให้บริการข้อมูลแก่นักลงทุน ของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนจากทั่วโลก ในปี 2552 หรือ GIPB 2009 (Global Investment Promotion Benchmarking 2009) ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ มีศักยภาพ ในการให้บริการด้านข้อมูลแก่นักลงทุนสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับการประเมินในปี 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบริการข้อมูลทางเว็บไซต์ของบีโอไอ
นายโรเบิร์ต ไวท์ กล่าวต่อไปว่า ผลการประเมินดังกล่าว ธนาคารโลกจึงได้จัดเวิร์คช็อป ในประเทศไทย เพื่อให้การอบรมแก่หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนจากประเทศกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสมาชิก (เอเปค) จำนวน 12 ประเทศ ซึ่งจัดมาตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เพื่อให้หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ได้รับคำชี้แนะเรื่องวิธีการ และประสบการณ์ในการแก้ปัญหาประสิทธิภาพการให้ข้อมูลแก่นักลงทุน
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวถึงการที่เว็บไซต์ของบีโอไอ ซึ่งมีศักยภาพในการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนมากขึ้น ว่า เว็บไซต์บีโอไอมีคะแนนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24 จากเดิมที่มีระดับคะแนนจากการสำรวจและประเมินในปี 2549 ในระดับคะแนน ร้อยละ 54 ในปี 2549 และเพิ่มมาเป็นร้อย 78 ในปี 2551
“ บีโอไอให้ความสำคัญในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการข้อมูลบนเว็บไซต์ เพราะเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาจากทุกสถานที่ทั่วโลก ซึ่งข้อมูลบนเว็บไซต์บีโอไอก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 7 ภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ดังนั้น การที่เว็บไซต์บีโอไอได้รับการจัดอันดับ ให้ดีขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงผลของการพัฒนาการบริการข้อมูลของบีโอไอ” รองเลขาธิการบีโอไอกล่าว
ทั้งนี้ จุดเด่นที่ทำให้เว็บไซต์ของบีโอไอได้รับการประเมินว่ามีประสิทธิภาพดีขึ้น ได้แก่
1. ความสะดวกในการหาข้อมูล ซึ่งสามารถเชื่อมโยงจากหน้าแรกไปยังส่วนอื่นๆของเว็บไซต์ ได้อย่างชัดเจน เช่น ข้อมูลของบุคคลที่จะสามารถติดต่อได้ ข้อมูลของอุตสาหกรมหลัก
2. ความสะดวกในการอ่าน ซึ่งมีการใช้ตัวอักษรและวิธีการใช้งานที่ชัดเจน
3. มีข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งเว็บไซต์ของบีโอไอ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มทางธุรกิจ ทำเลที่ตั้งในการทำธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดของที่ตั้งโครงการ
4. ความเที่ยงตรงและแม่นยำของข้อมูล ซึ่งมีการเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงสถิติ หรือความเคลื่อนไหวของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนความถูกต้องของข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
5. การดาวโหลดข้อมูล ก็เป็นจุดเด่น เพราะเว็บไซต์ของบีโอไอมีข้อมูลของภาคธุรกิจต่างๆในรูปแบบที่สามารถดาวโหลดได้ 6.การมีข้อมูลสำหรับการติดต่อแก่นักลงทุน ซึ่งเว็บไซต์บีโอไอ มีรายละเอียดในการติดต่อ ทั้งเบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ ที่ยังใช้งานได้สะดวก
นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เร็วๆ นี้ บีโอไอจะมีการปรับปรุงเว็บไซต์ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น อาทิ การออกแบบเว็บไซต์ให้สวยงามและน่าสนใจมากขึ้น จะมีบริการออนไลน์มากขึ้น เพื่อสามารถให้บริการนอกเวลาทำงานได้ รวมทั้งจะเพิ่มปริมาณเนื้อหา และภาษามากขึ้น
สำหรับการประเมินผลบริการข้อมูลโดยรวม บีโอไอได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 66 จาก 181 อันดับทั่วโลก หรือระดับคะแนน 55 โดยมีคะแนนด้านเว็บไซด์สูงถึงร้อยละ 78 และการให้บริการด้านข้อมูลอยู่ที่ระดับร้อยละ 33 ซึ่งคะแนนรวม 55 ถือว่าสูงกว่าระดับคะแนนเฉลี่ยในภูมิภาคถึง 15 คะแนน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการให้บริการของบีโอไอที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศที่ได้รับคะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่งคือออสเตรีย ซึ่งได้คะแนนรวมทั้งหมดถึงระดับ 89 ส่วนหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนในเอเชียตะวันออกที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดได้แก่ฮ่องกง ระดับคะแนนโดยรวมอยู่ที่ 74 และอยู่ในอันดับที่ 15