sianbun on June 05, 2009, 11:56:13 AM
ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ครองอันดับ 1 ส่วนแบ่งตลาด เอ็กซ์เทอร์นัล ดิสก์ สตอเรจในประเทศไทย ปี 2551



กรุงเทพฯ...5 มิถุนายน 2552:  บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ประกาศความเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งตลาดเอ็กซ์เทอร์นัล ดิสก์ สตอเรจ (External Disk Storage) ในประเทศไทย ในปี 2551 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 26.4% จากรายงานของไอดีซี ดิสก์ เอเชีย แปซิฟิก สตอเรจ ซิสเต็มส์ แทรกเกอร์ ไตรมาสสี่ ปี 2551

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า  “ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์สตอเรจของไอบีเอ็มในประเทศไทย ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจไอที  รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจถดถอยในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องยืนยันความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ ของไอบีเอ็ม” นอกจากนั้น นายธนพงษ์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ความสำเร็จดังกล่าว เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นที่ไอบีเอ็ม ทุ่มเทเพื่อความสำเร็จและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นที่ตั้ง ไอบีเอ็มขอขอบคุณ กับความไว้วางใจที่ลูกค้ามอบให้อย่างต่อเนื่อง และจะมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ๆ ต่อไป”
« Last Edit: June 05, 2009, 12:08:21 PM by sianbun »

sianbun on June 05, 2009, 11:57:20 AM
5 ขั้นตอนในการจัดการสภาพแวดล้อมระบบสตอเรจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดย ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

ปัจจุบัน การบำรุงรักษาพื้นที่จัดเก็บข้อมูลหรือสตอเรจภายในดาต้าเซ็นเตอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้จัดการฝ่ายไอที สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและทรัพยากรเพื่อรองรับการทำงานของระบบสตอเรจทุกวันนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้น ล่าสุด นักวิเคราะห์ของไอดีซีประเมินว่า ในปี 2549 องค์กรต่างๆ เฉพาะในสหรัฐฯ ต้องใช้จ่ายราว 29,000 ล้านเหรียญไปกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการระบายความร้อนให้ระบบไอที ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

นอกเหนือไปจากนั้น หลายๆ องค์กรทุกวันนี้ ต่างมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ดาต้า เซ็นเตอร์หลายแห่งก็พยายามหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์ด้านการจัดเก็บข้อมูล ลดการใช้พลังงาน และตอบสนองความต้องการด้านไอทีขององค์กรได้อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกัน ล่าสุด ตัวอย่างจาก หน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐฯ พบว่าค่าไฟฟ้าในองค์กรธุรกิจของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2548 ถึง 2549  ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ทำให้องค์กรหลายแห่งต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดเก็บข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานควบคู่กันไป ซึ่งหนึ่งในวิธีจัดการเรื่องดังกล่าว ก็คือการพิจารณานำ “กลยุทธ์สตอเรจสีเขียว (Green Storage Strategy) มาใช้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานสตอเรจ การติดตั้ง อัพเดตฮาร์ดแวร์สตอเรจที่มีอยู่ หรือ แม้กระทั่งการติดตั้งซอฟต์แวร์ไอแอลเอ็ม (Information Lifecycle Management - ILM) เพื่อหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพ มาจัดการการใช้พลังงานและระบายความร้อนในระบบสตอเรจ ไม่ว่าจะเป็นจากการใช้ของเหลวหรืออากาศก็ตาม 

ขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้ ถือเป็นข้อพึงพิจารณาต่อองค์กรที่ต้องการทำให้ระบบสตอเรจของตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 1: วินิจฉัยประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Diagnose your energy efficiency)

ปัจจุบัน หลายๆ องค์กรพยายามรวบรวมข้อมูลภายในเพื่อประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานของดาต้า เซ็นเตอร์ของตน รวมทั้งหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านพลังงานทุกรูปแบบ  ที่ผ่านมา ไอดีซีระบุว่าความต้องการทางด้านสตอเรจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 50% ทุกปี อีกทั้งสตอเรจถือเป็นอุปกรณ์หนึ่งภายในดาต้า เซ็นเตอร์ ที่ใช้พลังงานมากที่สุด เพราะโดยทั่วไปแล้ว อุปกรณ์สตอเรจมักใช้พลังงานมากกว่าโปรเซสเซอร์ถึง 13 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น หากดาต้า เซ็นเตอร์ไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม เช่น มีข้อบกพร่องในการจัดวางอุปกรณ์ การบริหารพื้นที่ไม่ถูกต้อง หรือมีการจัดการที่ทำให้เกิดการปะปนกันของอากาศร้อนและเย็นภายใน ปัจจัยเหล่านี้ก็มีผลทำให้ดาต้า เซ็นเตอร์นั้นมีการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ขั้นตอนแรกสุดในการลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดเก็บข้อมูลก็คือ จะต้องวิเคราะห์ว่าข้อมูลชนิดใดถูกจัดเก็บไว้บ้าง และอะไรคือความต้องการที่จำเป็นสำหรับข้อมูลนั้นๆ  ซึ่งหลังจากที่วิเคราะห์ความต้องการในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลในองค์กรแล้ว ผู้จัดการฝ่ายไอทีก็สามารถปรับใช้ระบบจัดการพลังงานแบบ 3 มิติ (3-D Power Management) เลือกใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลความร้อน (Thermal Analytics) หรือใช้ระบบระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Cooling Systems) เพื่อลดการใช้พลังงานภายในดาต้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขั้นตอนที่ 2: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม (Build the right infrastructure)

หลังจากที่เข้าใจความต้องการในการใช้งานสตอเรจขององค์กรแล้ว องค์กรนั้น ๆ สามารถกำหนดส่วนประกอบต่างๆ รวมถึง ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีไอแอลเอ็มที่จำเป็นต้องใช้ ให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรนั้น ๆ  อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสตอเรจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในเบื้องต้นบ้าง ซึ่งความคุ้มค่าที่องค์กรจะได้รับ อาจสูงถึง 10 เท่าหลังจากติดตั้งและใช้เทคโนโลยีเพื่อลดพลังงานดังกล่าวไปแล้ว นอกเหนือจากนั้น การระบุความจำเป็นที่แท้จริงของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดขนาด คุณลักษณะ ความจุ และระยะเวลาตอบสนองอย่างชัดเจน ก็ยังมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ดาต้า เซ็นเตอร์ที่ใช้เทปสตอเรจเป็นหลักจะใช้พลังงานน้อยกว่าดาต้า เซ็นเตอร์ที่ใช้ดิสก์สตอเรจ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้พลังงานน้อยกว่าก็มีส่วนช่วยองค์กรประหยัดค่าไฟฟ้าได้อย่างมหาศาลทีเดียว 

ขั้นตอนที่ 3: จัดการและใช้เทคโนโลยีเสมือนกับข้อมูลที่จัดเก็บ (Manage and virtualize your data)

องค์ประกอบหลักอีกประการหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานสตอเรจสีเขียว ก็คือ การนำโซลูชั่นทางด้านไอแอลเอ็ม (ILM) และการปรับใช้เทคโนโลยีเสมือนหรือเวอร์ชวลไลเซชั่น (Virtualization) ที่เพิ่มการใช้ประโยชน์จากดิสก์และเทปให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทั่วไปแล้ว เทคโนโลยีเสมือน สามารถเพิ่มการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สตอเรจได้ถึง 20% ซึ่งมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานโดยรวมได้อย่างมาก  ซึ่งทั้งนี้ ในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมสตอเรจให้เป็นแบบเวอร์ชวล ผู้จัดการฝ่ายไอทีจำเป็นที่จะต้องพิจารณาความต้องการและประสิทธิภาพทางด้านพลังงานในส่วนต่างๆ ของระบบสตอเรจขององค์กร  จากนั้นอาจจำเป็นต้องพิจารณาการติดตั้งซอฟต์แวร์สตอเรจเวอร์ชวลไลเซชั่นเพิ่มเติมเพื่อรองรับการย้ายข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สตอเรจที่มีอยู่และทำให้การใช้งานมีผลกระทบต่อข้อมูลที่จัดเก็บน้อยที่สุด

จากข้อมูลของไอดีซีที่ผ่านมา ระบุว่าเทคโนโลยีสตอเรจเวอร์ชวลไลเซชั่นจะช่วยเพิ่มอัตราการใช้งาน (use rate) จาก 25% เป็น 60% ขึ้นไป ซึ่งมีส่วนช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการพลังงานและลดจำนวนอุปกรณ์สตอเรจที่ต้องใช้งานเป็นประจำลงได้  นอกจากนี้ เทคนิคไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความหนาแน่นในการใช้งาน (usage density) เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของดิสก์ (disk density) การปรับใช้เทคโนโลยีเซิร์ฟเวอร์เวอร์ชวลไลเซชั่น (Server Virtualization) การจัดสรรพื้นที่สตอเรจแบบธิน โพรวิชันนิ่ง (Thin Provisioning) รวมทั้งการขจัดข้อมูลซ้ำซ้อน (Data De-duplication) เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยรองรับการผนวกรวมข้อมูลและลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรได้อย่างมากทีเดียว

ขั้นตอนที่ 4: ตรวจสอบอัตราการใช้งานของคุณ (Monitor your utilization rates)

ไม่ว่าองค์กรจะมีการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน  หรือติดตั้งฮาร์ดแวร์และโซลูชั่นไอแอลเอ็ม ไว้เรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่หากต้องการให้ดาต้า เซ็นเตอร์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดการใช้พลังงานได้ดี จำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีด้วย โดยทั่วไปแล้ว การจัดสรรทรัพยากรภายในดาต้า เซ็นเตอร์ขององค์กรมักทำขึ้นเพื่อรองรับเวิร์คโหลดสูงสุด แต่ขณะเดียวกัน ดาต้า เซ็นเตอร์ส่วนมากมักจะทำงานน้อยกว่าระดับสูงสุด (peak capacity) เสมอ ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มักใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองแม้กระทั่งในช่วงเวลาที่ไม่มีการใช้งาน  ดังนั้น แนวทางที่ควรพิจารณาคือ การหาวิธีการปรับใช้ซอฟต์แวร์ที่รองรับการจัดการสตอเรจแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีส่วนช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เครื่องมือซอฟต์แวร์แบบเรียลไทม์เพื่อตรวจสอบระดับการใช้พลังงานที่แท้จริง อาจเกี่ยวโยงไปถึงการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ความจุและการใช้งานซอฟต์แวร์จัดการระบบสตอเรจเพื่อทำให้การย้ายข้อมูลที่ไม่ค่อยได้ใช้งานจากดิสก์ประสิทธิภาพสูงไปยังเทปสตอเรจที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า แนวทางต่าง ๆ ดังกล่าวล้วนมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายด้วยเช่นเดียวกัน 

ขั้นตอนที่ 5: ระบายความร้อน (Cool things down)

เนื่องจากดาต้า เซ็นเตอร์มีฮาร์ดแวร์จำนวนมากติดตั้งอยู่ ดังนั้นระบบระบายความร้อนจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงในขั้นตอนการบำรุงรักษาดาต้า เซ็นเตอร์ ปัจจุบัน มีการคาดการณ์กันว่า ทุก ๆ ปี องค์กรต่างๆ ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับค่าไฟฟ้า ค่าระบายความร้อน และค่าใช้จ่ายด้านพื้นที่เพื่อจัดวางระบบต่างๆ  ดังนั้น หากดาต้า เซ็นเตอร์ขาดการระบายความร้อนที่เหมาะสม ก็มีผลทำให้เครื่องจ่ายไฟสำรองในช่วงที่ไฟฟ้าดับมีโอกาสหยุดทำงานภายในเวลาไม่กี่นาทีด้วยเช่นกัน วิธีที่อาจช่วยจัดการในเรื่องนี้ได้ก็คือ การประเมินระดับความร้อนอย่างสม่ำเสมอและหาทางเลือกในการใช้ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว ทั้งภายในและภายนอกดาต้า เซ็นเตอร์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาดาต้า เซ็นเตอร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้วยแนวทางการปฏิบัติที่เสนอมา 5 ข้อนี้ คาดว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับองค์กรหลาย ๆ แห่งที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานภายในดาต้า เซ็นเตอร์ รวมทั้งสร้างระบบพื้นฐานที่ทำให้อุปกรณ์สตอเรจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสุดท้ายก็มีผลช่วยทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น นั่นเอง