happy on Today at 11:44:35 AM
สศอ. ปลื้ม ขับเคลื่อนอุตฯ ฮาลาลไทยในปี พ.ศ. 2567 สร้างมูลค่าการค้า 335 ล้านบาท
เสริมแกร่งไทย พร้อมขึ้นแท่น“ศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน” (ASEAN Halal Hub)




สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงผลสำเร็จโครงการกิจกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2567 – 2570) ในปี พ.ศ. 2567 (Quick Win) และโครงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Food of the Future) ขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เผยลุล่วงตามแผนด้วยดี ทั้งการจัดตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” การร่วมเจรจาขยายตลาดการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือทวิภาคีและพหุพาคี การยกระดับผลิตภัณฑ์มาตรฐานฮาลาลเชิงลึกเพื่อการส่งออกให้แก่ 32 สถานประกอบการ การพัฒนาอาหารฮาลาลแปรรูปต้นแบบ (Future Food) 10 ผลิตภัณฑ์ การจัดแสดงศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาลของไทยเชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ  ในภาพรวมสร้างมูลค่าการค้าสูงถึง 335 ล้านบาท มั่นใจไทยจะก้าวทะยานขึ้นเป็นผู้นําด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ได้ภายในปี พ.ศ. 2570 พร้อมเดินหน้าให้บริการด้านอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจรแก่ผู้ประกอบการ ผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และยกระดับมาตรฐาน เร่งขยายตลาดส่งออกสินค้าฮาลาลอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป


นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภารกิจตามแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน   ได้กำหนดจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2567 - 2570) ในปี พ.ศ. 2567 (Quick Win) ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว และสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ประกอบด้วย


(1) การจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Kick Off) ในงาน Halal Inspirium เป็นการเปิดตัว “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” มีการจัดแสดงสินค้าและบริการฮาลาลไทย จากผู้ประกอบการไทย จำนวน 40 บูธ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยเชิญคู่ค้าที่สนใจเข้าร่วมงานทั้งหมด 37 บริษัท เกิดการจับคู่ธุรกิจ 139 คู่เจรจา รวมมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 88.7 ล้านบาท

(2) กิจกรรมการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยภายในประเทศ โดยเข้าร่วมงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 จัดพื้นที่แสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสินค้าฮาลาล 22 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล จากสถาบันอาหาร โดยการสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ 6 ผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว เเละขนมหวาน 5 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ อาทิ ซอส น้ำพริก เเละผงแป้งสำเร็จรูป 5 ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม อาทิ เช่น รังนก เเละนมเเพะ 3 ผลิตภัณฑ์ สินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ผลไม้อบเเห้ง เเละไข่ผำ 2 ผลิตภัณฑ์ และ Plant Based เช่น สเต็กเห็ดเเครง 1 ผลิตภัณฑ์ พร้อมการจับคู่เจรจาธุรกิจ มีมูลค่าการซื้อขายเกิดขึ้น รวมทั้งสิ้น 47.62 ล้านบาท จากผู้ซื้อหลายประเทศ

(3) กิจกรรมการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-บรูไน  ณ ประเทศบรูไน โดยได้จัดแสดงและนำเสนอสินค้าและบริการฮาลาลของไทย จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วยสินค้าประเภทอาหาร เครื่องแต่งกาย และเครื่องสำอาง  มีผู้เข้าร่วมงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม หอการค้า ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงสื่อต่างๆ จำนวน 147 คน มียอดสั่งซื้อสินค้าแล้ว 3.2 ล้านบาท ประมาณการว่าจะมีมูลค่าการค้าภายในปีนี้ทั้งสิ้นราว 16.9 ล้านบาท


(4) กิจกรรมการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (The IMT-GT Ministerial Meeting) ณ ประเทศมาเลเซีย และการประชุมกลุ่มย่อย โดยร่วมออกบูธนิทรรศการ และจัดแสดงศักยภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าฮาลาลของไทย ได้แก่ แคปปลาหมึก ซอสผัดกะเพรา ผงโรยข้าว ทูน่าหยอง น้ำพริกกุ้ง โจ๊กคัพ เครื่องแต่งกายมุสลิม พร้อมจัดทำแบบสำรวจความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการด้านฮาลาลไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการผลิต การค้าและบริการภายใต้แผนงาน IMT-GT ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เวชภัณฑ์ โรงแรม การท่องเที่ยว และร้านอาหาร “เฉพาะตลาดอาหารฮาลาลโลกปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 61 ของตลาดฮาลาลโลกที่มีมูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว ประเมินว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1.89 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2027 และในระยะยาวมีแนวโน้มขยายตัวเร็วกว่าอาหารทั่วไป ตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่จะเพิ่มขึ้น โดยมีตลาดใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดอาหารฮาลาลโลก ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันกันเองระหว่างประเทศ Non-Muslim Country โดยมีอินเดีย บราซิล จีน และสหรัฐฯ เป็นผู้นำตลาด สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก แต่สัดส่วนในการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยยังค่อนข้างต่ำ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 2.70 ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”


นางศิริเพ็ญ กล่าวต่อว่า สศอ. ในฐานะหน่วยงานผลักดันนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เพื่อชี้นำทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเสนอจัดทำโครงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Food of the Future) ขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจแปรรูปอาหารฮาลาลไปสู่การยกระดับมาตรฐานการผลิตในระดับสากล มุ่งเน้นการจัดทำต้นแบบแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องปรุง อาหารสด การแปรรูป  ไปจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยใช้จุดแข็งของอัตลักษณ์อาหารไทย (Soft Power) ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน จนสามารถผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลาม เพื่อส่งออกสู่ตลาดสากล และผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกได้ภายในปี พ.ศ. 2570  ทั้งนี้ ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดังนี้


(1) สำรวจและประเมินศักยภาพตลาดอาหารฮาลาลในต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ทราบศักยภาพตลาดอาหารฮาลาลในภูมิภาคต่างๆ รองรับการส่งออกอาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Food of the Future) ของไทย
(2) ยกระดับมาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก โดยการให้คำปรึกษาเชิงลึกตลอดห่วงโซ่อุปทานแก่สถานประกอบการไทยทั้งหมด 32 สถานประกอบการ
(3) จัดทำ Role Model แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) แบ่งออกเป็น 3 แนวทางดังนี้ 1) คู่มือสำหรับอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน 2) คู่มือเครื่องปรุงและซอสปรุงรส และ 3) คู่มือโรงเชือดสัตว์และชำแหละเนื้อสัตว์
(4) พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลแปรรูปต้นแบบ รูปแบบ Future Food ประเภท Functional Food อาหารเพื่อสุขภาพที่มีประโยชน์ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อสร้าง Soft Power อาหารฮาลาลไทยให้เป็นรู้จักมาพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยสำเร็จแล้วทั้งหมด 10 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นโปรตีนไข่ผำซอสแกงคั่วเห็ดแครง  เครื่องดื่มรังนกแพลนต์เบสผสมสมุนไพร กาแฟเมล็ดอินทผลัมผสมคาเคานิบส์  ชีสแพลนต์เบส สูตรคีโต แกงเลียงซุปเปอร์ฟู้ด ซอสไก่กอและผง สูตรลังกาสุกะ  แกงมัสมั่นเนื้อโคขุน สูตรปักษ์ใต้  แครกเกอร์สาหร่ายผมนาง ซุปโปรตีนเข้มข้นจากปลากะพงสามน้ำ และขนมบดินสูตร Low-GI
(5) การเชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 2 ครั้ง ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในกิจกรรมยกระดับมาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก และผู้ประกอบการทั่วไปที่มีความสนใจ จำนวนทั้งสิ้น 23 ราย โดยในประเทศ เข้าร่วมแสดงสินค้าและจัด Business Networking ภายในงาน WORLD HAPEX THAILAND 2024 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เกิดมูลค่าการสั่งซื้อภายในงาน 5 ล้านบาท จำนวนการจับคู่เจรจาธุรกิจ 40 คู่ สำหรับในต่างประเทศ ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า (Malaysia International Halal Showcase) หรือ MIHAS 2024 ณ ศูนย์นิทรรศการและการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีมูลค่าการค้าราว 191 ล้านบาท





นางศิริเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2567 ในภาพรวมสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้สูงถึง 335 ล้านบาท เกิดจากความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในประเทศและต่างประเทศ กิจกรรมต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผนงานและเป้าหมาย ถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการของไทยมีความพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันในตลาดฮาลาลโลกได้อย่างมั่นใจ สำหรับในปี พ.ศ. 2568 กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมฮาลาลเพิ่มเติม อาทิ พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit) ประกอบด้วยฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการครอบคลุมในทุกมิติ เร่งขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับโลกในภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Future Food) อาทิ อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มมุสลิมรุ่นใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นฮาลาล โดยมุ่งเน้นด้านการออกแบบ เชื่อมโยงเอกลักษณ์พื้นถิ่น รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง  เป็นต้น ทั้งนี้ทุกฝ่ายได้ให้การตอบรับที่จะร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามแผน คือ ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ภายในปี พ.ศ. 2570”[/size









« Last Edit: Today at 03:14:33 PM by happy »