วิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุการพังถล่มของสะพานบัลติมอร์
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย จากเหตุสะพานบัลติมอร์ถล่มที่มลรัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลางดึกของคืนวันอังคารที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์สาเหตุการพังถล่มของสะพานดังกล่าว โดยอธิบายว่า สะพานบัลติมอร์ เป็นสะพานที่มี 4 ช่องทางจราจร และมีความยาวรวม 2.6 กิโลเมตร ระบบโครงสร้างของสะพานเป็นชนิดสะพานโครงถักเหล็กทะลุ (Through steel Truss Bridge) ชนิดโค้งต่อเนื่อง 3 ช่วง (Continuous arch) รองรับด้วยเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก
ศ.ดร.อมร วิเคราะห์ลำดับเหตุการณ์การพังถล่ม (Failure scenario) ว่าเกิดจากเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ชนปะทะที่เสาตอม่อต้นหลัก (Main Pier) ที่ตั้งอยู่กลางน้ำ ทำให้เสาตอม่อพังทลาย แล้วทำให้ตัวสะพานโครงถักเหล็กพังถล่มตามมาเนื่องจากสูญเสียจุดรองรับ โดยลักษณะของการถล่มเป็นการวิบัติต่อเนื่อง (Progressive collapse) เริ่มต้นจาก เสาตอม่อต้นกลางถูกเรือสินค้าชนจนหัก จากนั้น โครงเหล็กช่วงที่ตั้งอยู่บนเสาร่วงลงมา และเนื่องจากโครงสร้างที่มีลักษณะต่อเนื่อง จึงดึงรั้งให้โครงเหล็กช่วงที่เหลือร่วงตามลงมาด้วยในที่สุด
สำหรับปัจจัยที่นำไปสู่การชนของเรือและการวิบัตินั้น ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประเด็น ได้แก่
1. ความผิดพลาดจากคนที่บังคับเรือ ในช่วงกลางคืน อาจจะอยู่ในสภาพเหนื่อยล้า ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการบังคับเส้นทางเดินเรือ
2. มีความผิดพลาดในระบบทางกล หรือเครื่องยนต์หรือระบบนำทิศทางของเรือ ทำให้ไม่สามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของเรือได้
3. ในด้านโครงสร้าง กำลังรับน้ำหนักของเสาตอม่อไม่สามารถต้านทานแรงปะทะที่เกิดจากเรือชนได้ โดยสังเกตได้ว่าเรือสินค้ามีน้ำหนักมาก เมื่อชนปะทะกับเสาตอม่อ จะทำให้เกิดโมเมนตัมและแรงปะทะขนาดมหาศาล ทำให้เสาตอม่อพังทลายได้
ส่วนสาเหตุที่แท้จริง จะเป็นเช่นไรนั้น คงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ และคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการสรุปสาเหตุที่แท้จริง
ศ.ดร. อมร อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการออกแบบโครงสร้างสะพานทางวิศวกรรมนั้น ตามมาตรฐานสากล หากเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำหรือทะเล ที่มีเรือสัญจรผ่านไปมา นอกจากจะต้องออกแบบให้รองรับน้ำหนักรถที่วิ่งบนสะพานแล้ว จะต้องออกแบบให้เสาตอม่อต้านทานแรงปะทะจากเรือชนด้วย หรือมิฉะนั้นแล้ว จะต้องทำโครงสร้างเพื่อป้องกันเสาตอม่อต่างหาก หรือ สร้างเกาะเทียมล้อมรอบเสาตอม่อ เพื่อมิให้เรือเข้ามาปะทะเสาได้โดยตรง
สำหรับการถล่มของสะพานบัลติมอร์ เป็นโศกนาฏกรรมที่ใหญ่หลวงมาก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ทุกประเทศทั่วโลก ก็ย่อมเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้เหมือนกัน ดังนั้นสำหรับสะพานที่ตั้งอยู่ในลำน้ำที่มีเรือสัญจรผ่านไปมา จึงควรประเมินกำลังรับน้ำหนักของเสาตอม่อสะพานว่าสามารถต้านทานแรงปะทะจากเรือชนได้ขนาดไหน และกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุสะพานถล่มลักษณะนี้ในอนาคต