happy on September 05, 2023, 01:03:25 AM
สกสว. เปิดเวทีชี้แจงงบ ววน. ปี 68
เชื่อมโยงบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรม มุ่งยกระดับชาติอย่างยั่งยืน




สกสว. เดินหน้าเปิดเวทีชี้แจงงบกองทุน ววน. ปี 2568 เดินเครื่องเชื่อมโยง บูรณาการ งานวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับชาติยั่งยืน ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาประเทศ เป็น 2% ของ GDP ภายในปี 2580 ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนรายแผนงานเฉลี่ย 2.98 เท่า คิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนรวม 134,100 ล้านบาท จากการลงทุนรวม 45,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา


ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ​ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง งานวิจัยและนวัตกรรมกลายเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมไม่ถึง 2% ของ GDP เทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในประเทศส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ  ซึ่งในปัจจุบันมีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ​ กองทุนส่งเสริม ววน. เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ สร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะไปใช้ประโยชน์ ให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน


กองทุนส่งเสริม ววน.​ มีเป้าหมายชัดเจน ด้วยการลงทุนด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร มุ่งเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาของประเทศเป็น 2% ของ GDP ภายในปี 2580 ครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติ ได้แก่​ “ด้านความยั่งยืน” โดยไทยตั้งเป้าหมาย SDG index เป็น 35 อันดับแรกของโลก ในปี 2570 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ GHG Net Zero ที่ 40% ในปี 2573​ “ด้านเศรษฐกิจ” รัฐมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น BCG เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และเศรษฐกิจฐานราก “ด้านการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม” มุ่งเพิ่มปริมาณและคุณภาพ เพื่อเป็นฐานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พร้อมก้าวสู่อนาคต​ “ด้านสิ่งแวดล้อม” ผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างน้อย 20 จังหวัด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุน กสว. ในการบริหาร กองทุนส่งเสริม ววน. มีบทบาทสำคัญเป็น System Integrator ผู้เชื่อมโยงและบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบ ววน. ในทุกมิติ


รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี  โพชนุกูล​ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ในปีนี้ได้จัดการประชุมชี้แจงเป้าหมายการสนับสนุนงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบ ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อให้หน่วยงานในระบบ ววน. มีความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบ แผน แนวทางการจัดสรรงบประมาณ มีข้อมูลพร้อมสำหรับการเตรียมการจัดทำคำของบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐานของหน่วยงาน


ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนส่งเสริม ววน. เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศ ให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 6 ด้าน คือ 1. ส่งเสริมการผลิตและพัฒนากำลังคน และยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม  2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ รวมถึงปัจจัยเอื้อที่สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม 3. ส่งเสริมให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศหรือโครงการลงทุนที่รัฐเห็นสมควรกำหนด เป็นกลไกของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 4. สนับสนุนการเพิ่มสมรรถนะในการเลือก การรับ การถ่ายทอด และการร่วมมือกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อให้ได้วิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม 5. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาชุมชนและพื้นที่ และ 6. บุกเบิกการวิจัยขั้นแนวหน้าและการสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


“ การปฏิรูประบบ ววน. ส่งผลให้เกิดการพัฒนากำลังคนด้าน ววน. ช่วยให้มีทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนานักวิจัยระดับต่าง ๆ กว่า 238,363 คน เพิ่มทักษะ Up-skills/Re-skills กว่า 544,371 คน ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิทยาการหุ่นยนต์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำนวน 567 ราย เกิดองค์ความรู้จากการวิจัยขั้นพื้นฐานและการวิจัยขั้นแนวหน้า เกิดโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อรองรับนวัตกรรมขั้นแนวหน้าที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชน กว่า 415,322,361 ล้านบาท เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนรายแผนงาน เฉลี่ย 2.98 เท่า คิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนรวม 134,100 ล้านบาท จากการลงทุนรวม 45,000 ล้านบาท ในปี 2563 – 2565 ” ผอ.สกสว. กล่าวทิ้งท้าย