happy on July 08, 2023, 08:39:24 PM
มุมมองทางวิศวกรรมต่อกรณีเสาตอม่อสะพาน
โดย ศ.ดร. อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย


               จากกรณีเสาตอม่อสะพานแห่งหนึ่งที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีความบางนั้น​ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า สะพานดังกล่าวเป็นสะพานขนาดใหญ่ มีช่วงยาว และมีความสูงมาก เมื่อมองด้วยสายตา เสาตอม่อดูแล้วก็ค่อนข้างบาง อย่างไรก็ตาม การออกแบบสะพานและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการจ้างวิศวกรออกแบบ และ ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง จึงเชื่อได้ว่าจะมีมาตรฐานทางวิศวกรรมอยู่แล้วระดับหนึ่ง

               การออกแบบสะพานและเสาตอม่อ จะต้องคำนึงถึงน้ำหนักบรรทุกประเภทต่างๆ ที่สะพานต้องรองรับ เช่น น้ำหนักของตัวสะพานเอง น้ำหนักรถบรรทุกที่มาวิ่ง แรงลม แรงแผ่นดินไหว แรงจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนการทรุดตัวของเสาเข็ม และถ้าเป็นเสาตอม่อในแม่น้ำ ก็ต้องออกแบบให้ต้านแรงปะทะจากเรือชน และแรงกระแสน้ำด้วย

               จากรูปที่เห็น ระบบโครงสร้างของสะพาน ตัวเสาตอม่อยึดติดแน่นกับพื้นสะพานด้านบน ส่วนปลายด้านล่างยึดแน่นกับฐานราก และมีเสาหลายต้นในแนวตามยาวของสะพาน จึงมีพฤติกรรมการรับน้ำหนักเป็นโครงข้อแข็งต่อเนื่อง(Rigid frame)เป็นระบบโครงสร้างที่แข็งแรง แตกต่างจากสะพานอื่นๆ ที่นำคานสะพานมาวางบนเสาตอม่อเฉยๆ

               สำหรับประเด็นที่เป็นกระแสข่าวนั้น เนื่องจากว่าสะพานดังกล่าวก่อสร้างมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ต้องไปดูว่าข้อกำหนดในการออกแบบ(TOR) ของสะพานตัวนี้ ว่ามีการระบุน้ำหนักที่ต้องพิจารณาไว้อย่างไรบ้าง ครบถ้วนและใช้ค่าที่เป็นปัจจุบันหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องแรงแผ่นดินไหว ซึ่งในอดีต กฎหมายและมาตรฐานต่างๆ ยังไม่เป็นค่าปัจจุบัน เพราะยังไม่ได้มีการศึกษาเรื่องแรงแผ่นดินไหวอย่างจริงจังนัก ดังนั้นคาดว่าหน่วยงานต่างๆ คงจะกำหนดแรงแผ่นดินไหว โดยการอ้างอิงจากมาตรฐานต่างประเทศเช่นมาตรฐาน AASHTO มาใช้ในการออกแบบสะพาน

               สำหรับประเด็นนี้ มีเรื่องที่ควรพิจารณาคือ ค่าแรงแผ่นดินไหวและแนวทางการออกแบบที่อ้างอิงตามมาตรฐานต่างประเทศ อาจจะแตกต่างจากมาตรฐานแผ่นดินไหวของประเทศไทยที่กำหนดในปัจจุบัน ซึ่งมีมาตรฐานออกมาในปี 2550 และที่ปรับปรุงใหม่ปี 2561 รวมทั้งรายละเอียดสภาพชั้นดินอ่อนของ กทม. มีผลต่อการขยายคลื่นแผ่นดินไหวด้วย และด้วยเหตุที่ว่าสะพานช่วงยาวมีการขยับตัวมาก ก็อาจทำให้เสาเคลื่อนที่ และเสาสูงที่มีความชะรูดมาก ก็อาจเกิดปัญหาในการรับน้ำหนักขึ้นได้ ภายใต้แผ่นดินไหวที่รุนแรงในอนาคต ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวว่า แม้โดยส่วนตัวจะเชื่อว่าสะพานดังกล่าวได้มาตรฐานทางวิศวกรรมและมีความแข็งแรงระดับหนึ่ง แต่ก็คงไม่สามารถยืนยันได้โดยเพียงการสังเกตด้วยตาเปล่าเท่านั้น

               ในกรณีดังกล่าว ในทางวิศวกรรมสามารถพิสูจน์กำลังรับน้ำหนักของโครงสร้างได้โดยการวิเคราะห์และประเมินซ้ำใหม่ ภายใต้ชุดข้อมูลแรงของแผ่นดินไหวที่เป็นค่าปัจจุบัน และไม่แต่เฉพาะสะพานเท่านั้น โครงสร้างสำคัญอื่นๆ เช่น เขื่อน หากมีข้อมูลแรงแผ่นดินไหวหรือแรงอื่นๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามการศึกษาใหม่ ก็ควรมีการวิเคราะห์และประเมินซ้ำเช่นกัน

               ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวต่อว่า ไม่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าว แต่ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบ ให้ประชาชนหายสงสัย พร้อมทั้งมีผลการวิเคราะห์ประเมินกำลังรับน้ำหนักของสะพานภายใต้แรงกระทำที่เป็นปัจจุบัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน