happy on April 19, 2023, 10:00:36 PM
หลงลืม พูดติดขัด! รู้จักและเข้าใจอาการ “โรคสมองเสื่อม”
แพทย์ รพ. วิมุตชี้แนวทางรับมือก่อนสาย เมื่อผู้ใหญ่ที่บ้านมีพฤติกรรมเสี่ยง








ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยหรือ Aging Society อย่างสมบูรณ์ไปเมื่อปี 2565 และกลุ่มผู้สูงอายุก็จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ สำหรับลูกหลานแล้ว ร่างกายและความคิดความอ่านที่เสื่อมถอยของคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน ก็อาจทำให้เราเป็นห่วงและไม่สบายใจ หลาย ๆ คนก็กลัวว่าผู้ใหญ่ที่บ้านเมื่ออยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็จะหลงลืมจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตเพียงลำพังนั่นเอง วันนี้เราได้ชวน นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลวิมุต มาช่วยเล่าถึงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม รวมถึงอาการที่เข้าข่าย และแนวทางการดูแลเมื่อคนใกล้ตัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าว


โรคสมองเสื่อม ไม่ใช่แค่อัลไซเมอร์

“ก่อนอื่นเลยอยากให้เข้าใจความแตกต่างของโรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์ โดย ‘กลุ่มโรคสมองเสื่อม หรือ Dementia’ หมายถึง ภาวะที่การทำงานของการรับรู้ลดลง โดยเริ่มจากการทำงานของสมองขั้นสูงด้านในด้านหนึ่งในทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสมาธิ ด้านการตัดสินใจและการวางแผน ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ และด้านการเข้าสังคม ซึ่งความผิดปกตินี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่ ‘โรคอัลไซเมอร์’ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อความจำ กระบวนการคิด และพฤติกรรม เป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าผู้เป็นโรคสมองเสื่อมบางรายอาจไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์” นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อธิบาย

ทำไม “สมองเสื่อม” จึงพบมากในผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

โรคสมองเสื่อม รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัย 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความเสื่อมถอยของร่างกาย เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เซลล์สมองและหลอดเลือดในสมองอาจได้รับความเสียหายมากขึ้น  โดยจะมีการสะสมของโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid)’ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของโครงข่ายประสาทในสมอง นอกจากนี้ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ที่จะมาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น “จากการวิจัยยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าพฤติกรรมใดที่นำไปสู่โรคสมองเสื่อม แต่ปัจจัยด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ล้วนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดโรค นอกจากนี้ ยังพบว่าคนอายุน้อยก็สามารถเป็นโรคสมองเสื่อมได้ แต่สาเหตุมักเกิดจากพันธุกรรม การประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเนื้อสมอง การใช้สารเสพติดหรือยานอนหลับบางชนิด การติดเชื้อเอชไอวีหรือซิฟิลิส หรือโรคสมองอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิต้านทานตัวเอง (Autoimmune encephalitis)” นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง กล่าว

แพทย์ชวนส่องสัญญาณเตือนและอาการเข้าข่ายที่ควรสังเกตของโรคสมองเสื่อม

“อาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมที่คนที่บ้านควรช่วยกันสังเกต คืออาการหลงลืมเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน รวมถึง ความลำบากในการใช้ภาษาสื่อสาร ใช้คำผิด พูดจาติดขัด หลงทิศทางและสถานที่ เริ่มมีปัญหาในการจัดการงานที่เป็นขั้นเป็นตอน หรือไม่สามารถทำการตัดสินใจ วางแผน และคิดวิเคราะห์ได้เหมือนเดิม ซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้ เมื่อมีอาการเหล่านี้คนที่บ้านสามารถสังเกตและรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการประเมินได้”

ภาวะสมองเสื่อม จะวินิจฉัยโดยอาศัยประวัติทางการแพทย์จากผู้ป่วยและญาติ การตรวจร่างกายโดยแพทย์ การตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ และการตรวจคัดกรองปริชานปัญญา (MoCA หรือ TMSE) เพื่อประเมิน ความตั้งใจ, สมาธิ, การบริหารจัดการ, ความจำ, ทักษะสัมพันธ์ของสายตากับการสร้างรูปแบบ, ความคิดรวบยอด, การคิดคำนวณ และการรับรู้สภาวะรอบตัว


เป็นสมองเสื่อมแล้วหายได้ไหม ชวนรู้จักแนวทางการป้องกัน

“ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามียาที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่อาจมียาบางกลุ่มที่สามารถใช้รักษาบรรเทาอาการและการรักษาประคับประคองโรค โดยวิธีเลือกยารักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาโดยไม่ใช้ยาเช่น กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) สามารถช่วยฟื้นฟูความจำและให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจกรรมประจำวันได้ นอกจากนี้ยังมีอรรถบำบัด (Speech therapy) ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการพูดสื่อสาร รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตัวผู้ป่วยเอง (Lifestyle modification) ก็มีประโยชน์อย่างมากในการช่วยฟื้นฟูอาการของโรคสมองเสื่อม และตอนนี้ยังไม่มียาที่ใช้ป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ แต่เราก็มีวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพและรักษาโรคเรื้อรังประจำตัวให้หาย ทำกิจกรรมที่ฝึกสมอง เช่น อ่านหนังสือ และสุดท้าย คือการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อรู้เท่าทันทุกโรคภัย นั่นเอง” นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง กล่าวสรุป

ผู้ที่สนใจต้องการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 6 ศูนย์สมองและระบบประสาท หรือโทรนัดหมาย 02-079-0068 เวลา 08.00 – 20.00 น. หรือสามารถเรียกรถฉุกเฉินได้ที่ เบอร์โทร 02-079-0191