โฟร์ ฟูดส์ เดินหน้ายกระดับคุณภาพการผลิตขั้นสูงสุด แต่ยังคงราคาเดิม พร้อมทุ่มทุนกว่า 40 ล้าน ขยายโรงงานใหม่รองรับธุรกิจเกิดใหม่ เผยยอดขายโตสวนกระแสทะลุ 500 ล้านในปี 65
โฟร์ ฟูดส์ ยกระดับคุณภาพการผลิตอีกขั้น ตอกย้ำผู้นำผงโรยอาหารอันดับ 1 พร้อมเผยผลประกอบการปี 2565 กวาดยอดขายรวม 500 ล้านบาท กางแผนรุกตลาดปี 66 ปรับปรุงไลน์ผลิต สร้างแวร์เฮาส์ รองรับฐานลูกค้าใหม่ งัดกลยุทธ์การบริหารลดต้นทุนและคงราคาเดิม นายสมเจตน์ ปัญจวัฒนางกูร กรรมการผู้จัดการบริษัท โฟร์ ฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผงโรยอาหารมายาวนานกว่า 20 ปี เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ต้องประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่สำหรับ โฟร์ ฟูดส์ ถือได้ว่าเติบโตสวนกระแสทำให้ยอดขายทะลุเป้ากว่า 500 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นของบริษัทแม่ โฟร์ ฟูดส์ 90% และสินค้าแบรนด์ไทเชฟอีก 10% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยอดขายในประเทศ 80% และต่างประเทศอีกประมาณ 20% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยปีที่ผ่านมาด้านการขายต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ และขยันมากขึ้น ถึงแม้จะมีลูกค้าบางกลุ่มที่หยุดสั่งของ เช่น โรงแรม ร้านอาหารฟาสฟูดส์ ร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า แต่ยังมีกลุ่มลูกค้าเกิดใหม่ที่สามารถทำเดลิเวอรี่ได้ หรือทำแพ็คเกจที่เก็บได้หลายวันมาเป็นลูกค้าเรา ในปีนี้จึงได้มีการวางแผนและประชุมกับทีมขายเพื่อปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายในการขาย และหาโอกาส หรือหาช่องทางในการขายให้มากขึ้น “สำหรับภาพรวมยอดขายยังไม่ตก ด้านออนไลน์ยังคงขายได้สม่ำเสมอ เพราะสถานการณ์โควิดทำให้คนทำมาหากินมากขึ้น อยู่บ้านและเข้าครัวทำอาหารมากขึ้น และหันมาสั่งเดลิเวอรี่แทน เพราะเมื่อคนไม่ออกจากบ้านก็จะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนหน้าร้านทั่วไปถือว่าได้รับการตอบรับดี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น โรงงานลูกชิ้น เนื่องจากในช่วงโควิดโรงเรียนปิด มีการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหน้าโรงเรียนต้องหยุดขายและไปขายที่อื่นแทน เช่น หน้าโรงงาน หน้าหมู่บ้าน หรือตามตลาดสด ตลาดนัด มีร้านเปิดใหม่มากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าต้องหาที่ขายใหม่ อาจจะต้องเปลี่ยนช่องทางการขาย หรือหาตลาดใหม่ ทางเราเองก็ต้องปรับช่องทางการขายใหม่ด้วยเหมือนกัน” นายสมเจตน์ กล่าวเพิ่มเติม โฟร์ ฟูดส์ เป็นโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล และในปัจจุบันมีการอัพเดตระบบมาตรฐานต่าง ๆ ให้เป็นเวอร์ชั่นที่สูงขึ้น ทันสมัยมากขึ้น เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมาตรฐานทั้งหมดเป็นมาตรฐานเดิม แต่มีการเปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นที่ละเอียดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น FSSC 22000 จะมีเวอร์ชั่นที่สูงขึ้น คือ ข้อมูลจะเข้มข้นขึ้น โรงงานสีเขียวเป็นโรงงานสีเขียวที่อัพเกรดขึ้น หรือข้อมูล Sedex ที่เกี่ยวกับแรงงาน สิ่งแวดล้อม เรื่องของความปลอดภัยก็อัพเกรดขึ้น หรือโรงงานที่ได้ GMP ในก่อนหน้า ปัจจุบันจะเรียกเป็น GHP ซึ่งจะมีเงื่อนไขมากขึ้นกว่าเดิม “สำหรับทิศทางของปีนี้ ถึงแม้จะมีสินค้าและต้นทุนบางอย่างที่มีเกณฑ์ปรับขึ้นราคา แต่เรายังจะไม่ปรับราคา เพื่อช่วยประคองพ่อค้าแม่ค้าหลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด โดยจะใช้วิธีการบริหารจัดการที่รัดกุมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ปกติเคยสั่งพริกป่นเข้ามา 4 ครั้ง/เดือน ครั้งละ 500 กก. เพราะอยากให้ลูกค้าใช้สินค้าที่สด ใหม่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาสั่ง 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง/เดือน หรือแม้แต่น้ำตาลทราย เกลือ ฯลฯ ปัจจุบันจะสั่งครั้งเดียวประมาณ 70 คัน แล้วหาที่จัดเก็บเองเพื่อให้สินค้าคงคุณภาพ และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าขนส่ง” นายสมเจตน์ กล่าวปิดท้าย นอกจากนี้ โฟร์ ฟูดส์ ยังมีการขยายโรงงานสร้างโกดังเพิ่ม และปรับปรุงเรื่องของ Warehouse ให้โรงงานสะอาด มีความทันสมัย เนื่องจากโฟร์ ฟูดส์มีวัตถุดิบว่า 2,000 ชนิด อาทิ เกลือ น้ำตาล ผงชูรส สารให้ความหวาน ฯลฯ และเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเกิดใหม่หลังโควิดด้วย