“OsseoLabs” บริษัท Spin-off จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มจธ. เพื่อต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
ผศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมทางการแพทย์มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงเห็นว่าการนำงานวิจัยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D print) ที่ทำอยู่ในห้องแล็บมาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์จะช่วยแพทย์ในการผ่าตัดได้มีประสิทธิภาพสะดวก แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะการผ่าตัดศัลยกรรมกราม ขากรรไกร และใบหน้า เพราะข้อดีของ 3D print คือ สามารถขึ้นรูปทรงที่มีความซับซ้อนได้ เช่น รูปทรงรูพรุนที่ไม่สามารถขึ้นรูปด้วยการกลึงหรือการหล่อได้ ประกอบกับเรามีผลการศึกษาวิจัย “วัสดุทดแทนกระดูก” โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านเครื่องกลและเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติในการออกแบบและขึ้นรูป พัฒนาขึ้นเป็น “วัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนเฉพาะ” สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายกระดูกบริเวณขากรรไกรและใบหน้า “งานวิจัยนี้มีความร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำผลงานไปใช้ในการผ่าตัดในผู้ป่วยเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าสามารถใช้งานได้ดีและมีประสิทธิภาพมาก ทำให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ป่วยขากรรไกรใบหน้าในประเทศไทยที่รอการผ่าตัด มีอยู่จำนวนมากอย่างน้อยปีละ 3,000-5,000 ราย จึงนำมาสู่การจัดตั้งบริษัท ออสซีโอแล็บส์ จำกัด ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่อต่อยอดและขยายผลในเชิงธุรกิจ ในฐานะเป็นบริษัท Spin-off ของ มจธ.และเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อไป” ดร.วิกรม อาฮูยา CEO และ Co-Founder บริษัท ออสซีโอแล็บส์ จำกัด (OsseoLabs) กล่าวว่า ตนเองอยู่ในธุรกิจสตาร์ทอัพ และทำงานร่วมกับ ผศ. ดร.พชรพิชญ์ มานาน จึงอยากผลักดันงานของนักวิจัยไทยที่มีศักยภาพในระดับสากลที่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งมองว่าการทำงานวิจัยเชิงลึกในลักษณะนี้ของนักวิจัยไทยที่ผ่านมายังมีค่อนข้างน้อยที่จะ Spin-off ออกมาเชิงพาณิชย์ได้ แต่สำหรับผลงานวิจัย “วัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนเฉพาะ” นี้ บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมาก การผลิตขายในเชิงพาณิชย์เชื่อว่าจะสามารถทำการรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นกว่าพันรายต่อปี นอกจากยังมีแผนที่จะขยายไปต่างประเทศ เน้นประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะมีการระดมทุน การสร้างการรับรู้ การจัดหาสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐาน ISO ภายใน 6 เดือน และเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียน อย. เพื่อให้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยขณะนี้การดำเนินงานผลิตต้องขออนุญาตเป็นรายๆ ไป ส่วนการไปร่วมแข่งขันที่ผ่านมานั้น เพื่อต้องการสร้างการรับรู้ในตลาดของไทยและเป็นผลลัพธ์ที่ดีส่วนหนึ่งเพื่อนำไปสนับสนุนการพูดคุยกับนักลงทุนต่างประเทศต่อไป ด้าน ธีระพงศ์ พลตื้อ Research Engineer ของ OsseoLabs ศิษย์เก่าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มจธ. กล่าวว่า หลังจบปริญญาตรี ได้มีโอกาสไปทำวิจัยที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นได้มาช่วยอาจารย์ทำงานวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำรากฟันเทียมและ 3D print โดยตนรับผิดชอบงานวิจัยพื้นฐาน เช่น การเพิ่มรูพรุน การปรับเปลี่ยนรูพรุนแต่ละบริเวณของกระดูกที่แตกต่างกัน เพราะกระดูกจริงๆ ในแต่ละตำแหน่งจะไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องใช้ศาสตร์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลในการออกแบบรูปทรงที่มีความเหมาะสมกับกระดูกของแต่ละบุคคล และต้องมีความสามารถในการรับแรง โดยการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ รวมถึงงานวิจัยวิเคราะห์โครงสร้างรูพรุน เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัท ออสซีโอแล็บส์ จำกัด (OsseoLabs) ล่าสุด ได้เข้าร่วมการแข่งขัน Startup Pitching for Smart Hospital 2022 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้โจทย์ “Convergent Technology for Emerging Smart Healthcare” เพื่อนำเสนอผลงานนวัตกรรมสำหรับการวินิจฉัยและการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย การวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการบริการ กระบวนการลดขั้นตอนการทำงานเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น การตรวจติดตามสุขภาพเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยผลงานการวางแผนผ่าตัดด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำ Virtual surgical planning for highly precise surgery และวัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนเฉพาะ Osseo-enhanced TPMS™ porous implants ของบริษัท ออสซีโอแล็บส์ ติด 1 ใน 5 ทีมสุดท้าย ใน 5 สาขา และได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน (Popular vote) พร้อมทุนสนับสนุนมูลค่า 50,000 จากบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)