happy on December 26, 2022, 01:37:36 AM
มจธ. ร่วมกับ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 34 (TSB2022) พร้อมตั้งเป้าวิจัย BCG เดินหน้าหนุนวิชาการทุกด้าน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)


                เมื่อวันที่ 24 - 25 พฤศจิกายน 2565  ที่ผ่านมา​ มจธ. โดย ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ร่วมกับ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 34  : The 34th Annual Meeting of the Thai Society for Biotechnology and International Conference (TSB2022) ภายใต้หัวข้อ​ “Sustainable Bioeconomy: Challenges and Opportunities” ขึ้น ณ ห้องประชุม โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กว่า 300 คน


                รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การประชุมนี้ เป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy) สอดรับกับประกาศ ปฏิญญาของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดและมีประสิทธิภาพ โดยพยายามไม่ให้มีของเสียเหลือทิ้ง และต้องไม่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน

                “Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ หลักสำคัญหนึ่ง คือ ลดการเกิดของเสียเหลือทิ้ง พยายามนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้มีงานวิจัยด้าน BCG จำนวนมาก เช่น การแพทย์แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการเรียนการสอนคณะแพทย์ แต่เรามีวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการทำงานของแพทย์ และการทำวิจัยเรื่องกากเหลือทิ้งจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเราก็นำมาสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ได้ เป็นการเกื้อหนุนการทำงานในฐานะการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ด้านวิชาการในการช่วยเหลือสังคม ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ที่ทำให้การพัฒนาเดินไปได้ นอกเหนือจากการผลิตบัณฑิตและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกระตุ้นนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น”


                ด้าน​ ศ. ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้หัวข้อ Sustainable Bioeconomy ในปีนี้ที่ประชุมเน้นเรื่องทำอย่างไรที่จะพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ Bioeconomy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพเข้ามาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ value chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด


                “การดึงคนที่เกี่ยวข้องจากสาขาต่างๆ มารวมกลุ่มกัน เป็นความท้าทาย ทั้งห่วงโซ่คุณค่าที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปัจจัยการผลิตของสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ในการนำมาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ขณะที่ไทยเองก็มีวัตถุดิบมากแต่บางครั้งก็ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้น เราจึงต้องไปค้นไปปลุกให้เกิดความสนใจขึ้นมา ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการขยายองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่วิทยากรแต่ละท่านมานำเสนอมุมมอง ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมต่อได้ในที่สุด”


                ภายในงานประกอบด้วยการบรรยายของวิทยากรรับเชิญและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ในระดับแนวหน้าจากในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Prof. Dr. Kohsuke Honda จาก Osaka University ในหัวข้อเรื่อง “In Vitro Reconstitution of Synthetic Metabolic Pathway using Thermophilic Enzymes”  ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น​ สถาบันวิทยสิริเมธี ในหัวข้อเรื่อง “Enzymes, Biocatalysis and Metabolic Engineering for Sustainability” ศ. ดร.เทวัญ จันทร์วิไลศรี​ มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อเรื่อง “Alternative therapeutics to tackle AMR pathogens (ATTACK-AMR): A case of Clostridioides difficile” และ ศ. ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในหัวข้อเรื่อง “Collagen and hydrolyzed collagen from fish skin: Process development and bioactivities” และการนำเสนอผลงานของนักวิชาการและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ รวม 5 หัวข้อ ได้แก่ Molecular and Medical Biotechnology, Industrial and Environmental Biotechnology, Food Technology and Food Engineering, Agricultural Biotechnology, และ Microbiome and Systematic Biology


                ทั้งนี้ ในเวทีประชุมมีการมอบรางวัล 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัล “ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ” แก่นักวิจัยดีเด่นเทคโนโลยีชีวภาพประจำปี 2565 ครั้งที่ 34 ให้แก่ รศ. ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. จากผลงานวิจัยเรื่อง “โอลิโกเพปไทด์จากกากโปรตีนพืช ด้วยเทคโนโลยีสะอาด เป็นสารส่วนประกอบเชิงหน้าที่มูลค่าสูงในอาหารและการเกษตร”  พร้อมทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลค่า 100,000 บาท โดยรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลที่มอบให้กับงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ไม่เพียงแต่ตีพิมพ์ในวารสารเท่านั้น


                “งานวิจัยนี้ใช้เทคโนโลยีสะอาดหรือเทคโนโลยีสีเขียว (green technology) สำหรับการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสท ประกอบด้วยโอลิโกเพปไทด์และกรดอะมิโนอิสระ ผลิตจากกากโปรตีนพืชและธัญพืช และโปรตีนไอโซเลท ย่อยด้วยเอนไซม์โปติเอส โดยเน้นเฉพาะโบรมิเลน (Bromelain) ซึ่งสกัดได้จากแกนสับปะรดเป็นการลดการใช้สารเคมี ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมสับปะรดในไทย เป็นเศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โอลิโกเพปไทด์ได้นำมาใช้เป็นสารส่วนประกอบเชิงหน้าที่มูลค่าสูง โดยใช้เสริมโปรตีนในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ตลอดจนได้คิดค้นงานวิจัยและพัฒนาการผลิตทำให้ผลิตได้อย่างต่อเนื่องได้ปริมาณมาก ใช้เวลาน้อย ไม่มีกากเหลือทิ้ง ใช้ในอาหาร รวมทั้งได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสารกระตุ้นพืชในเชิงพาณิชย์ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)” รศ. ดร.ณัฎฐา กล่าว


                นอกจากนี้ภายในงานยังได้มอบห​ รางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น ให้แก่ ดร.วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าทีมวิจัย ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากผลงานวิจัยเรื่อง​ “การพัฒนาเทคโนโลยีการค้นหาและจีโนไทป์สนิปประสิทธิภาพสูงเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรไทยและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ถือเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิจัยที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และที่อุทิศตนให้กับงานวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและมีผลงานโดดเด่น มีคุณภาพ ศักยภาพและสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง
« Last Edit: December 26, 2022, 01:47:08 AM by happy »