happy on December 13, 2022, 12:45:52 AM
“UNFPA” จับมือภาครัฐ- องค์กรภาคี ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง
หนุนสร้างสังคมแห่งโอกาสและเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


กรุงเทพฯ ธันวาคม 2565 – จากรายงาน UNFPA พบว่าร้อยละ 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลก ถูกกระทำรุนแรงด้านร่างกายจากสามีของตน และปัจจุบันผู้หญิงไทยมีแนวโน้มถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในประเทศไทย ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากผลกระทบทางลบสามารถมีต่อครอบครัวโดยตรง ซึ่งจากข้อมูลการบาดเจ็บ รวบรวมโดยกองป้องกันการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จากโรงพยาบาล 51 แห่งทั่วประเทศระหว่างปี 2562-2564 พบว่ามีผู้หญิงโดยเฉลี่ย 8,577 คน ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกายในแต่ละปี และมากกว่า 7 คนต่อวัน และมีการร้องเรียน 30,000 รายการเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและการร้องขอเพื่อพักฟื้นในแต่ละปี


คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) เป็นหน่วยงานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งสหประชาชาติ มุ่งมั่นเดินหน้าทำงานร่วมกับองค์กรภาคี นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมสิทธิและทางเลือกทางด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ส่งเสริมศักยภาพสูงสุดให้วัยรุ่น แม่ตั้งครรภ์ได้รับความปลอดภัยตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์จนคลอดบุตร โดยเดินหน้ากรอบการทำงานในรอบที่ 12 (2565-2569) UNFPA มุ่งสนับสนุนการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์และกรอบการพัฒนาตลอดช่วงชีวิต ผลักดันนโยบายด้านประชากรและสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ สุขภาวะทางเพศและพลังผู้หญิง เด็ก วัยรุ่นและผู้สูงวัย เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยนั้นเป็นสังคมแห่งโอกาสที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”


ดร. โอซา ทอคิลส์สัน (Dr. Asa Torkelsson) ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและผู้แทนประจำประเทศมาเลเซีย กองทุนประชากรแห่งสหประชาติ (UNFPA) หน่วยงานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า UNFPA จัดงาน “Orange Night : Strategic Partnership for Rights and Choices for all เพื่อขอบคุณและฉลองความสำเร็จต่อโครงการความร่วมมือต่างๆ ของ UNFPA และภาคีที่ผ่านมา รวมทั้งจุดประกายและเริ่มต้นความร่วมมือใหม่ๆ ในการทำงานเพื่อสิทธิและการมีทางเลือกของทุกคน และรวมพลังเป็นหนึ่งเสียงเนื่องในโอกาส 16 วัน รณรงค์ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ร่วมด้วยผู้สนับสนุนทั้งองค์กรภาคี ภาครัฐ  เอกชน สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวจากทั่วเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งจากในประเทศไทย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยพันธมิตรในประเทศไทย”

“การให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ สนับสนุนโครงสร้างครอบครัวที่หลากหลาย รวมไปถึงการขยายและการพัฒนาการอนามัยมารดา และอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทำงาน ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ สภาพการทำงานให้เอื้อต่อผู้หญิง และความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัว รวมทั้งแบ่งความรับผิดชอบระหว่างหญิงและชาย และให้มีการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น” ดร. โอซา ทอคิลส์สัน กล่าวสรุป

UNFPA ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรเพื่อผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และหุ้นส่วนอื่นๆ ในการพัฒนามาตรฐานด้านบริการที่จำเป็นสำหรับเหยื่อจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งจิตสังคมบำบัด กฎหมาย ที่อยู่อาศัย และผลพวงเกี่ยวกับสุขภาพหลังเกิดเหตุรุนแรง เช่น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งประเทศไทยมีกรอบทางกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพื่อส่งเสริมกลไกแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ และร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมทั้งคนหนุ่มสาว เพื่อให้มั่นใจถึงการให้บริการสุขภาพทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์แก่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ทุกคนรวมทั้งเด็กหญิงและวัยรุ่น



จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ประเทศไทยมีประชากรเกิน 71 ล้านคน  และโลกมีการเฉลิมฉลองประชากร 8 พันล้านคนเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเด็กที่เกิดในยุคดิจิทัลมีจำนวนน้อยลง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำ ทำให้ทรัพยากรมนุษย์ตึงเครียดสำหรับการพัฒนาในอนาคต ในขณะที่การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างไม่ต้องสงสัย  รวมถึงจำนวนเด็กและประชากรวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นจะทำให้การเติบโตของประเทศลดลง โครงสร้างประชากรของไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีลักษณะของครอบครัวที่หลากหลายมากขึ้น ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะส่งผลต่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สวนทางกับทิศทางการพัฒนาประเทศ 

งาน Orange Night จัดขึ้นโดยมีรายละเอียดสำคัญครอบคลุมมิติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และความไม่เท่าเทียมทางเพศ ภายในงานจัดแสดงนิทรรศการบทบาทของผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิง และ Inspirational Talk เพื่อสร้างแรงบันดาลใจของผู้หญิงที่มุ่งมั่น ในการบรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งพูดได้ครอบคลุมประเด็นบริบทด้านสิทธิมนุษยชน และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคุณสายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเหรียญทอง และคุณคริสติน่า อากีล่าร์ Queen of Dance เมืองไทย


คุณสายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเหรียญทองพาราลิมปิกของประเทศไทย กล่าวว่า “ภายหลังประสบอุบัติเหตุ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่ด้วยความเข้มแข็งจึงสู้อีกครั้ง และมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนได้เข้าฝึกอาชีพที่ศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการจนได้โอกาสเป็นนักกีฬาอาชีพและคว้าเหรียญทองแรกให้กับประเทศไทย ต่อมามีครอบครัวและตั้งท้องแต่ก็ค่อนข้างเสี่ยงเนื่องจากอายุมากและร่างกายไม่แข็งแรง หลายคนกังวลและแนะนำให้เอาออก แต่เราอยากมีลูก จึงพร้อมยอมรับได้ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นแต่ดูแลตัวเองอย่างดี จนในที่สุดก็คลอดลูกออกมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรง นั่นคือสิ่งที่วิเศษที่สุด  อยากจะบอกทุกคนว่า ขอเป็นตัวแทนต่อสู้เพื่อความเป็นแม่ ทุกคนมีสิทธิ สิทธิที่จะเลือกได้ และสิทธิเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันทุกคน”

“การใช้ความรุนแรงยังส่งผลกระทบในระดับนโยบายของประเทศไทยและในระดับโลกด้วยเพราะเป็นการกระทำที่ขวางกั้นทำให้เราไม่สามารถบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน  หรือ Sustainable Development Goal เป้าหมายที่ 5 หรือ SDG 5 ที่มุ่งเน้นให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ให้ยุติหรือขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง อีกทั้งขอให้กำลังใจ Survivors หรือผู้ข้ามผ่านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกท่าน และขอยืนยันในจุดยืนว่า ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะต่อเพื่อนมนุษย์คนไหนก็ตาม” คุณคริสติน่า อากีล่าร์ กล่าว


สุดท้าย UNFPA ได้ประกาศมอบโล่ขอบคุณให้หน่วยงานภาคีที่ร่วมดำเนินโครงการสำคัญอย่างสำเร็จลุล่วงในปีนี้ ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมกิจการผู้หญิงและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งประกาศความร่วมมือกับบริษัท Reckitt เพื่อมุ่งมั่นและผลักดันให้โลกปราศจากความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง และจะรณรงค์อย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าความรุนแรงจะหมดไป

ทุกท่านสามารถร่วมแป็นส่วนหนึ่งกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ UNFPA ได้ที่  https://thailand.unfpa.org/


###

เกี่ยวกับ UNFPA

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA เป็นหน่วยงานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์แห่งสหประชาชาติ เริ่มโครงการสนับสนุนประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 และเป็นหน่วยงานชั้นนำของสหประชาชาติที่ขยายโอกาสให้ผู้หญิงและเยาวชนสามารถมีชีวิตทางเพศและเจริญพันธุ์ที่ดีเพื่อลดความต้องการที่ไม่ได้รับการวางแผนครอบครัวและลดเพศภาวะ – ความรุนแรงจากพื้นฐาน (GBV) และการปฏิบัติที่เป็นอันตรายทั้งหมดต่อผู้หญิงและเด็กหญิง  โครงการต่างๆ ได้ทำเพื่อให้แน่ใจว่าการเสียชีวิตของมารดาลดลงโดยเน้นการคลอดอย่างปลอดภัยและสนับสนุนให้ผู้หญิงและสมาชิกในครอบครัวคลอดบุตรที่สถานพยาบาลที่มีอยู่ 
 
เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติที่มีเป้าหมาย 17 ด้าน ซึ่งรวมถึงการขจัดความยากจน การต่อสู้เพื่อความไม่เท่าเทียมและความไม่ยุติธรรม และจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ผู้นำทั่วโลกได้ให้คำมั่นสัญญาไว้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งครอบครัวคือหัวใจของภารกิจขององค์การสหประชาชาติที่สนับสนุนให้เกิดขบวนการพัฒนาที่เน้นการรับประกันสิทธิที่ทุกคนจะมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และบนพื้นฐานนี้ครอบครัวจะสร้างสันติภาพและชุมชนที่คงอยู่อย่างถาวร จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่รัฐจะสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถขยายขอบเขตการดูแลซึ่งกันและกันให้กว้างออกไป และเพิ่มความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อที่จะสร้างสังคมที่สงบสุขและทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งจะเป็นสิ่งที่รับประกันได้ว่าทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่มีการคำนึงถึงความแตกต่างที่แต่ละคนมีอยู่




“UNFPA” จับมือภาครัฐ - องค์กรภาคี ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง
หนุนสร้างสังคมแห่งโอกาสและเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


ดร. โอซา ทอคิลส์สัน  (ยืนกลาง) ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย เป็นประธานจัดงาน “Orange Night” เพื่อขอบคุณและฉลองความสำเร็จต่อโครงการความร่วมมือต่างๆ จากทุกภาคีที่ผ่านมา ที่ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ 

โดยมี (จากซ้าย) นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์  ซึ่งเป็นตัวแทนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  คุณภัทรพร เล้าวงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพัฒนาสังคม เป็นผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คุณสิริลักษณ์  เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย  ดร. โอซา ทอคิลส์สัน (ยืนกลาง) ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย  คุณจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณนงลักษณ์ โงวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการกองสถิติสังคม สำนักสถิติแห่งชาติ คุณคริสติน่า อากีล่าร์ คุณสายสุนีย์ จ๊ะนะ ให้เกียรติร่วมงาน ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี  เมื่อวันก่อน
« Last Edit: December 13, 2022, 12:48:34 AM by happy »