happy on September 22, 2022, 12:19:38 AM
สกสว. พร้อมประสานภาคีสนับสนุน “วิจัยและนวัตกรรม” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ


สกสว. ร่วมจัดสานเสวนา “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR/TTTR)” เนื่องในวัน Thai-BISPA DAY 2022


เมื่อวันที่ 21 กันยายน 65 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ​ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ สมาคม TBAN จัดเสวนา ในหัวข้อ “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR/TTTR)” โดยมี​ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว., รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย บพข., นายเท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กราฟีน ครีเอชั่น จำกัด และ นายนริศชา ต่อสุทธิ์กนก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสพี ครีเอทีฟ เมกเกอร์ ร่วมเป็นวิทยากร


รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว.​ กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือนักวิจัย นักนวัตกร นักเทคโนโลยีที่ทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งมาตรการในการสร้างธุรกิจใหม่ หรือขยายกิจการเดิมเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่สูงขึ้นพอสมควร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เอื้อประโยชน์ให้มีการลงทุนทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น และส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย


ต่อความสำคัญดังกล่าว สกสว. จึงร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ออกมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR: Thailand Business Innovation Research / TTTR: Thailand Technology Transfer Research) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 โดยแนวคิดนี้เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์กับบริบทของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการกระตุ้นให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีหลักการคือ เป็นกลไกการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมตรงไปยังภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการทำวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมเอกชนขนาดกลางที่มีความพร้อมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation driven enterprise) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สกสว. ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ทดลองประกาศให้ทุนตามมาตรการ TBIR/TTTR ในลักษณะโครงการนำร่อง (Pilot Project) และได้มอบหมายให้สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการ คัดเลือกโจทย์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมกับสรรหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อวางแนวทางในการขยายผลการให้ทุนตามมาตรการ TBIR/TTTR ไปยังทุกหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมอื่น ๆ ในประเทศต่อไป


ด้าน​ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย บพข. กล่าวถึงมาตรการ TBIR ว่า เป็นมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จาก 2 ส่วน คือ ส่วนของการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาของสังคมของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทมากในทุก ๆ ด้าน หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กฯ นี้จะสร้างความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม ยกตัวอย่างเช่น ระบบการให้บริการด้านสุขภาพของรัฐ รวมถึงการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ การใช้เทคโนโลยีติดตามการจราจรเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เทคโนโลยีสำหรับการจัดการน้ำ เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้นวัตกรรมและการทำงานของภาครัฐและผู้ประกอบการร่วมกัน

เช่นเดียวกับส่วนของผู้ประกอบการ เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นจำนวนมากและเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ มาตรการนี้เป็นการสนับสนุนเงินแก่ผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมและให้สิทธิความเป็นเจ้าของผลงานแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากผลงานนั้น ๆ ได้ อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถนำนวัตกรรมนั้นไปต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง จนสามารถเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ปัจจุบัน บพข. ได้สนับสนุนโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเสื้อกันกระแทกที่ใช้วัสดุกราฟีน บริษัท กราฟีนครีเอชั่นส์ จำกัด  (โจทย์ตามความต้องการภาคเอกชน) และ โครงการพัฒนาเครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล ชนิดสื่อสารไร้สายด้วยสัญญาณบลูทูธ บริษัท เอสพี ครีเอทีฟ เมกเกอร์ จำกัด (โจทย์ตามความต้องการภาครัฐ) ซึ่งผู้ประกอบการผู้รับทุน ต่างเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 โครงการ จะช่วยแก้ปัญหาทางสังคมในเรื่องของความปลอดภัย และ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศอยู่ในช่วงวิกฤติทางสุขภาพ
« Last Edit: September 24, 2022, 12:42:10 AM by happy »