happy on August 08, 2022, 12:37:40 AM
สกสว. ร่วมกับ บพข. เปิดฟลอร์รับฟังความเห็น
เพื่อขับเคลื่อนแผนวิจัยด้าน AI ของประเทศ

สกสว. ร่วมกับ บพข. จัดเสวนาออนไลน์ “การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน” เปิดรับฟังความเห็นจากวิทยากรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปออกแบบแผนวิจัยและนวัตกรรมด้าน AI ของประเทศ


              เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเสวนาออนไลน์ “การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน” เพื่อนำข้อมูลมาสังเคราะห์ และออกแบบแผนวิจัยและนวัตกรรมด้าน AI ของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นด้านการขับเคลื่อนธุรกิจ ทั้ง ทรัพยากรด้านกำลังคน รวมถึงการต่อยอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

              โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. และรักษาการผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน (O-Competitiveness) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อกำหนดทิศทางด้านการวิจัยของประเทศ และการจัดทำกรอบงบประมาณฯ เพื่อจัดสรรทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และ หน่วยบริหารจัดการทุน ทั้ง 9 แห่ง และ บพข. เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนหนึ่งที่ สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยให้ดำเนินงานและสนับสนุนการวิจัย แก่หน่วยงานต่าง ๆ ศึกษาสถานการณ์ภาพรวมด้านการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แผนงานสำคัญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ให้มีความสอคล้องกับบริบทในยุค New normal ที่เทคโนโลยีดิจิทัลหลายตัวถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

              อย่างไรก็ดี เพื่อให้แผนด้าน ววน. ที่เปรียบได้กับแผนที่นำทางด้านการวิจัย มีความแม่นยำสูงสุด สกสว.จึงร่วมกับ บพข. จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน” รับฟังข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อประเด็นเทคโนโลยีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาต่อยอดใช้ AI และยกระดับขีดความสามารถให้สูงขึ้น โดยข้อมูลสำคัญหลังจากการจัดเสวนา คณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้าน AI จะนำไปสังเคราะห์ข้อมูลสำคัญเพื่อดำเนินตามเป้าหมายของแผนวิจัยและนวัตกรรมด้าน AI ของประเทศต่อไป

              ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. กล่าวถึงแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570 ว่า ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่มุ่งเป้าในการสร้างคนและเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริการ และการพึ่งพาตนเอง ในด้านการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในส่วนที่พัฒนาขึ้นเอง หรือ มีการต่อยอดภายในและต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มเทคโนโลยีและดิจิทัลทางการแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหาร การใช้งานและบริการทางรัฐ โลจิสติกส์และการขนส่ง การศึกษา ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ความมั่นคงและความปลอดภัย อุตสาหกรรมการผลิต พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการเงินและการค้า ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในสถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

              อย่างไรก็ดี ในงานเดียวกันนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายภาคส่วนมาบรรยายและให้ข้อคิดเห็น ประกอบด้วย คุณอติพร เจริญศรี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายเทคโนโลยี (เอเชีย) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม (โลตัส), คุณธานินทร์ แซมมณี CEO of Deepscope, คุณธีรพันธุ์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค), ดร. อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร อนุกรรมการแผนงานดิจิทัล บพข.ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เพื่อให้มุมมองด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในด้านการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมดิจิทัล ในบทบาทของภาคเอกชน ทั้งด้านการบริหารจัดการสินค้า และบริการ, Fintech และการ transform รวมไปถึงบทบาทจากภาครัฐที่จะสามารถช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างกำลังคนด้าน AI เป็นต้น

#สกสว
#สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
#เคลื่อนไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม