happy on July 20, 2022, 12:25:39 AM
สกสว. ชู ววน. ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

สกสว.ร่วมกับไทยพีบีเอส จัดเสวนา “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” เพื่อหยิบยกประเด็นปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ สู่การแก้ไขและทางออกใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย คนจนเมือง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คนไร้สถานภาพ คนพิการยากจน และ ผู้สูงอายุโดดเดี่ยว


                เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จัดการเสวนาออนไลน์ ออนไซต์​ “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” ใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย คนจนเมือง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คนไร้สถานภาพ คนพิการยากจน และ ผู้สูงอายุโดดเดี่ยว เพื่อระดมความคิดเห็นขยายพรมแดนความรู้ ความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง และร่วมหาทางแก้ปัญหาและทางออก ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย


                โอกาสนี้​ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ในฐานะผู้แทน รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.​ กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่ที่สำคัญ คือ การจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเปรียบได้กับแผนที่นำทางด้านการพัฒนาการวิจัยของประเทศ โดยแผนที่นำทางในพ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วย  4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเสวนาในวันนี้ คือ การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติด้านการศึกษา สุขภาพ รายได้และสวัสดิการผู้สูงอายุ การกระจายความเจริญและรายได้จากเมืองสู่ท้องถิ่น รวมถึงการรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต


                ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 เนื่องจาก สกสว. ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยในฐานะปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีรากเหง้าเกี่ยวข้องกับหลายสาเหตุ ปัจจัย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไขปัญหาโดยใช้เพียงความรู้ด้านวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน หลายระดับ รวมถึงอาศัยระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ประกอบกับการติดตามสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยล่าสุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสนับสนุนโดย สกสว. พบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินของไทยยังสูงติดอันดับโลก และมีแนวโน้มแย่ลงในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558-2562 สถานการณ์จริงของความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยแย่กว่าตัวเลขดัชนี และไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามที่ดัชนีจีนีบ่งบอก ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้รายได้ของผู้มีรายได้น้อยลดลงเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายจ่ายยังอยู่ในระดับเดิม และหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เป็นต้น

                ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น เป็นโจทย์สำคัญที่ตอกย้ำและยืนยันว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการสะสางคลี่คลายในหลายมิติ เพราะโครงสร้างที่อ่อนแอจะเป็นอุปสรรคและฉุดรั้งการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในส่วนของเครือข่ายภาควิชาการได้พยายามอย่างเต็มที่ในการสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจ และเสนอแนะแนวทางที่เป็นไปได้เพื่อให้สังคมไทยมีความเสมอภาคและเท่าเทียมมากขึ้น


                ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานเสวนา “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” เป็นก้าวแรกของความร่วมมือระหว่าง ส.ส.ท. และ สกสว. เพื่อหยิบยกประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน เนื่องจากปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” ได้รับการพูดถึงและอยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองโลก ความเสื่อมถอยของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี จะยิ่งส่งผลให้ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่มีอยู่เดิมมีความเข้มข้นมากขึ้น และกลายเป็นการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นในอนาคต

                อย่างไรก็ดี ความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในมิติต่าง ๆ บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และความรู้ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วนยังมีอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรับรู้และรู้สึกถึงการมีอยู่ของปัญหาดังกล่าวในสังคมไทย และความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำในความรู้สึกของผู้คนทั่วไปอาจสูงกว่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและภาคนโยบายก็ได้ใช้ความพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำผ่านการสื่อสาร โดยไทยพีบีเอสขอปักธง ภายใต้บทบาทและหน้าที่ของสื่อสาธารณะ ที่จะสื่อสารถึงปัจจัยและสาเหตุ และข้อเสนอแนะเพื่อเป็นทางออกจากความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม ภายใต้ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เสมอภาคและความเท่าเทียม