happy on July 01, 2022, 12:47:28 AM
“3 ธัช” กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย

               ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน และ การแข่งขันที่สูงขึ้น การออบแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง กับการหนุนเสริมการพัฒนาของประเทศในทุกมิติ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม


               ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ให้ข้อเสนอแนะแก่ที่ประชุมร่วมระหว่าง คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการอํานวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ และ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เข้ามาช่วย สกสว.กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) โดยการเชื่อมโยงการทำงานกับวิทยสถาน “3 ธัช” คือ ธัชชา ธัชวิทย์ และ ธัชภูมิ ให้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ ววน. หนุนเสริมการวิจัยและพัฒนา

               เริ่มจาก “ธัชชา” วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ (Thailand Academy of Social Sciences , Humanities and Arts –TASSHA) ทำหน้าที่ในการยกระดับการพัฒนาไปสู่อนาคตด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวิชาการด้านสังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ให้มีทิศทางการพัฒนาสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแทบทุกสรรพศาสตร์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนของขั้วการเมืองโลก

               “โดย ธัชชา จะเป็นหน่วยงานวิจัยหลักที่มีบทบาทในการพัฒนาความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาที่สร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดหลักการพัฒนาของโลก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถส่งออกศาสตร์และองค์ความรู้ออกไปสู่โลก รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมชาติมากขึ้น จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมกันของคนในชาติ และ การนำองค์ความรู้จากผลงานการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ฯ ไปสร้างงบประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดเป็นเศรษฐกิจฐานศิลปะและวัฒนธรรม” ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก กล่าวถึงความสำคัญของวิทยสถานสังคมศาสตร์ฯ ซึ่งมีการจัดตั้งและดำเนินการมาแล้ว 1 ปี

               ต่อด้วย “ธัชที่ 2” ธัชวิทย์ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย” (Thailand Academy of Sciences: TAS) หน่วยงานที่เป็นกลไกในการดึงศักยภาพของนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ มาช่วยในการคิดและขับเคลื่อนประเทศ หรือ Think Tank ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และสามารถที่จะเชิญชวน ชี้ทิศ และให้แนวทางความคิดได้ หรือเรียกว่าเป็น Public Advocacy ในเชิงนโยบาย

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเชิงทัศนคติสาธารณะ (Public Attitudes)  ซึ่งต้องอาศัยคนที่มีความรู้ และความน่าเชื่อถือ มาถ่ายทอดให้ประชาชนทั่วไปและชาวต่างชาติได้เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยและนักวิทยาศาสตร์ไทย ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ว่าคนไทยก็มีความสามารถในการทำเรื่องยาก ๆ ได้ นอกจากนี้ “ธัชวิทย์” ยังเสมือนการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ New Generation เพื่อให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศได้

               สุดท้าย “ธัชที่ 3” ธัชภูมิ วิทยสถานใหม่ล่าสุด ที่รัฐมนตรีกระทรวง อว. เปิดเผยถึงแนวคิดของการจัดตั้งองค์กรใหม่ที่สร้างองค์ความรู้เชิงพื้นที่ (area based knowledge) ทำหน้าที่วิจัย ให้ความรู้เกี่ยวกับเชิงพื้นที่ แต่ไม่ได้ตัดขาดจากศาสตร์และศิลป์ ที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดการพัฒนาของประเทศอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี กลไกการทำงานทั้ง “3 ธัช” นี้ จะช่วยเชื่อมโยงให้เกิดการปฏิรูปของระบบ ววน.


               ในส่วนนี้ของการกำหนดการพัฒนาแบบองค์รวม ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาระบบ ววน. อย่างมีเอกภาพ ทั้งในส่วนของการกำหนดหัวข้อทิศทางการวิจัย การบริหารจัดการงบประมาณทางด้านการวิจัย ที่จะเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงาน และการขับเคลื่อน ววน. ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการ เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนากำลังคน และวิธีการกำหนดความสำคัญของสาขาที่ต้องการขับเคลื่อน อาทิ ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ให้เห็นพลังอำนาจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ และจะทำอย่างไรที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมไทยหันมาสนใจ และเข้าใจการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีประเด็นที่ท้าทายอยู่หลายอย่าง ทั้งในเชิงการแก้ปัญหาและในเชิงของโอกาส อาทิ การตั้งเป้าหมาย GHG Net Zero 2065 ที่ต้องอาศัยนวัตกรรม และฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ในการไปสู่เป้าหมาย

               รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่ต้องขับเคลื่อนด้วยการทำนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ที่ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของประเทศต่อไป


               ขณะที่​ รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.​ กล่าวว่า สกสว.พยายามมองความต้องการของประเทศในทุกระดับและทุกมิติ ทั้งการแก้ปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ กรณีโควิด-19 งานวิจัยของไทยหลายส่วนสามารถดึงออกมาและตอบสนองเพื่อบรรเทาปัญหาได้ดีในระดับหนึ่ง ความสามารถในการแข่งขันและการพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ แต่สิ่งที่ถูกถามทุกครั้ง คือ ประชาชนได้อะไร ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงจากการวิจัยได้อย่างไร

               คำถามที่ไม่อาจตอบได้ทันท่วงที เพราะงานวิจัยในบางเรื่องไม่อาจเสร็จสิ้นในช่วง 1-2 ปี ดังนั้นการที่จะทำให้สังคมเข้าใจถึงการจะส่งมอบผลการวิจัยที่มีผลกระทบกับประเทศ จำเป็นต้องหาวิธีหรือแนวทางให้นักวิจัย หน่วยงานรับทุน และหน่วยบริหารจัดการทุน กว่า 170 หน่วยงาน ได้มองเห็นภาพรวมของความต้องการเชิงเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วย ววน. ซึ่งจะต้องหารือกับนักวิจัย หน่วยงานรับทุน และหน่วยบริหารจัดการทุน เพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมกันทั้งห่วงโซ่ของผลลัพธ์ (Chain of Outcome) เช่น การสร้างความเข้มแข็ง และทำงานร่วมกับหน่วยงาน ววน. เกิดการขับเคลื่อนองค์ความรู้ และจุดคานงัดในระบบ ววน. ของประเทศต่อไป