happy on June 07, 2022, 04:35:33 PM
สบโขง กลยุทธ์หยุดหมอกควัน ปลอดการเผา
บนพื้นที่สูง ต.สบโขง อ.ออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ด้วยหลักการโครงการหลวง


               ภาพรวมจุดความร้อนในพื้นที่ดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ตาก, น่าน, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, กาญจนบุรี, รวมจำนวนพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯทั้งหมด 44 โครงการ พบจุดความร้อนปี 2565 ช่วงเดือนม.ค. – พ.ค. ใน 8 จังหวัด พบเพียง 951 จุด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่พบ 2,187 จุด ซึ่งตามสถิติถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง


               รวมทั้งจากผลการดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง ต.สบโขง อ.ออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเกษตรกรและพื้นที่อย่างชัดเจน ที่สามารถเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ด้วยหลักการโครงการหลวง นับตั้งแต่ปี 2547 ทำให้เกษตรกรในโครงการฯจำนวน 113 ครัวเรือนใช้พื้นที่ทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนลดลง 1,574.99 ไร่ ไม่พบจุดความร้อน (hotspot) ติดต่อกัน


               ทั้งนี้จะเห็นว่าในพื้นที่เกษตร อ.ออมก๋อย พบจุดความร้อน 819 จุด และบ้านบูแหมะ ในพื้นที่โครงการฯสบโขง ไม่มีจุดความร้อนตั้งแต่ 15 ม.ค.-30 มิ.ย. 2564 ในพื้นที่บ้านบูแหมะทั้งหมด 2,800 ไร่ และยังได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา (Haze Free Reward) ในปี 2564 จากบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 50,000 บาท อีกด้วย  ส่งผลให้พื้นที่ในโครงการฯมีการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้มแข็ง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม


               นายเดชธพล กล่อมจอหอ  หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง กลุ่ม 4 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า ผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเกษตรกรและพื้นที่ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่พื้นที่ตำบลสบโขง เป็นชุมชนต้นแบบ เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจาก 5,574.65 ไร่ เหลือเพียง 3,999.66 ไร่ (ลดลงร้อยละ 28.25) มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจำนวน 428.45 ไร่, ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 113 ครัวเรือน มีรายได้จากอาชีพทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จาก 101,005 บาท/ปี/ครัวเรือน (จปฐ.2560) เพิ่มขึ้นเป็น 154,486.36 บาท/ปี/ครัวเรือน (จปฐ. 2564) ภาพรวมกว่า 61,334.132 บาท, การผลิตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยมีเกษตกรได้รับรองจากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 55 ราย 44.75 ไร่ 7 ชนิด พืชส่งผลดีต่อสุขภาพของทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยผลผลิตในพื้นที่โครงการฯมีการจำหน่ายให้กับโรงเรียนและผู้บริโภค ด้านสังคม สวพส. ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยการพัฒนาเกษตรกรผู้นำและปัจจุบันมีผู้นำเกษตรกรจำนวน 19 คน และผู้นำเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวน 6 คน ที่มีความเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับ สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน


               ความสำเร็จของโครงการหลวงสบโขง ที่เห็นผลชัดเจน คือ ชาวบ้านมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้ไม่มีการขยายพื้นที่ทำการเกษตรบุกรุกพื้นที่ป่า การหมุนเวียนการใช้ประโยชน์พื้นที่ลดลง หลีกเลี่ยงหรือไม่เผาพื้นที่ทำการเกษตร, มีการนำข้อมูลสถิติผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในพื้นที่ของโครงการ สร้างแรงจูงใจหรือหาแนวทางลดสาเหตุของการป่วยที่เกิดจากปัญหาหมอกควันในพื้นที่, การใช้เครื่องมือแผนที่ดินรายแปลงมาวิเคราะห์ร่วมกับการเกิดจุดความร้อน (Hot spot) เพื่อแยกพื้นที่ป่าและพื้นที่การทำเกษตรให้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็พูดคุยกับชาวบ้านเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับมาตรการที่ภาครัฐกำหนดควบคุมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ มีความสนใจ ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้องค์ความรู้จากโครงการหลวง


               รวมทั้ง ความโดดเด่นที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง  ประกอบด้วย เน้นการมีส่วนร่วมเพื่อลดการเผาด้วยกลยุทธ์ 5 ระดับ ไม่ว่าจะเป็น ส่งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เพื่อให้สามารถติดตามงานและให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด สร้างความเข้าใจองค์ความรู้โครงการหลวงที่นำไปพัฒนาอาชีพใหม่, จัดทำแผนที่ดินรายแปรงกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินให้ชัดเจนใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนส่งเสริมการปลูกพืชให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมนโยบายสร้างป่าสร้างรายได้, สร้างเครือข่ายจิตอาสา กำหนดระเบียบ กิจกรรมเฝ้าระวังการเผา ป้องกันไฟป่า ส่งเสริมประเพณีชนเผ่าเพื่อเคารพป่า, จัดทำแผนการดำเนินการบริหารจัดการไฟป่าฝุ่นควัน การควบคุมตามหลักวิชาการ และมีมาตรการอย่างเคร่งครัด และกำหนดตัวชี้วัดลดจุด Hot Spot และพื้นที่เผาไหม้ใน อ.ออมก๋อยให้ลดลงร้อยละ 25 โดยจุดความร้อน ในพื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 8 จังหวัด พบว่าในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2565 พบจุดความร้อนเพียง  951 จุด นับว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่พบจุดความร้อน 2,187 จุด  อีกทั้ง สนับสนุนตามประกาศ จ.เชียงใหม่เรื่องกำหนดเขตควบคุมการเผาและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดเผาในพื้นที่ราว 5 แสนไร่ของทั้ง จ.เชียงใหม่


               นายสุเชาว์ นายหว่าง หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง กล่าวว่า สวพส.เริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวงสบโขง ตั้งแต่ปี 2547 พื้นที่ดำเนินงานจำนวน 6 กลุ่มบ้านอยู่ใน ต.สบโขง อ.ออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ประชากรเป็นชนเผ่ากระเหรี่ยง จำนวน 523 ครัวเรือน 2,499 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 98 มีอาชีพเกษตรกรรมทำไร่หมุนเวียน พืชหลัก คือ ข้าวไร่ ข้าวนา กะหล่ำปลี และมะเขือเทศ ซึ่งมีราคาไม่แน่นอน และต้องบุกรุกถาง เผาป่า ส่วนร้อยละ 2 มีอาชีพอื่น ๆ  เช่น รับจ้าง งานหัตกรรม ค้าขาย และหาของป่า พื้นที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งป่ามีสภาพถูกทำลาย สวพส.ได้เข้าดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างรายได้ที่มากกว่าการทำไร่หมุนเวียน ลดการใช้สารเคมี รวมทั้งมีการส่งเสริมปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน ด้วยองค์ความรู้แบบโครงการหลวง ทำให้ในปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าโครงการปลูกพืชโรงเรือนจำนวน 21 ราย โดย สวพส.ให้ทั้งคำปรึกษา ติดตามผลผลิต ควบคุมการใช้สารเคมีให้ลดน้อยที่สุด ก่อนส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ซึ่งเกษตรกรมีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยกว่า 1 แสนบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคย่อมมีบ้างในเรื่องของการแข่งขันกับพืชเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันทางสวพส.มีการนำพืชใหม่ ๆ  เข้าไปส่งเสริมเพิ่มเติม เช่น กาแฟ และอะโวคาโด


               ทั้งนี้ ผลสำเร็จ มาจากการดำเนินงานที่ยึดถึอแนวทางโครงการหลวง เน้นร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในรูปแบบการบูรณาการตามบทบาทและภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่ และความต้องการของคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง ตามแผนการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พ.ศ.2563-2570 เพื่อให้เกิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของหน่วยงานเครือข่าย 33 หน่วยงาน รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูง


               นายสมชาย นพรัตน์พงษ์ไพร ผู้ใหญ่บ้านแม่หลองน้อย หมู่ 2 ต.แม่หลอง อ.ออมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า​ ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะมีการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นมาบริหาร มีการลาดตระเวนตรวจตราในพื้นที่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 4-5 วันต่อครั้ง


               นายสมหวัง เสริมมติวงศ์ เกษตรกร ต.สบโขง อ.ออมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า​ ทำเกษตรบนพื้นที่สูงล้มเหลวบ้าง ดีบ้าง เป็นอย่างนี้มาตลอด ปลูกพืชมาหลายชนิด แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งมาทำการเกษตรแบบโรงเรือนจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สวพส.ที่ให้ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตมากกว่าในแนวของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถปลดหนี้สินที่มีอยู่ได้ แม่จะไม่ร่ำรวยมากแต่ถือว่าอยู่ได้แบบไม่ลำบาก และยังทำให้มีเวลามากพอที่จะไปทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าหน้าที่ เช่น การทำแนวกันไฟ

               นายพะสู สมานเกริกไกร เกษตรกร บ้านแม่หลองน้อย ต.สบโขง อ.ออมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ดั้งเดิมทำไร่ทั่วไป ได้ผลผลิตบ้างไม่ได้บ้างในบางปี ต่อมาได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่บ้านให้ทำเกษตรแบบโรงเรือนแบบโครงการหลวงเพราะให้ผลผลิตดีกว่าทำเกษตรแบบเดิม ซึ่งปีแรกที่เข้าโครงการทำให้มีรายได้อย่างพอเพียงแม้จะไม่มากแต่ก็ถือว่าคุ้มค่า คือจากที่เคยเป็นหนี้ สามารถปลดหนี้ได้ และทำให้ได้บ้านและมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ตามมา และมีเวลาอยู่กับครอบครัว บุกรุกป่าน้อยลง
« Last Edit: June 07, 2022, 04:38:50 PM by happy »