happy on May 05, 2022, 01:20:32 AM
รมว.ดีอีเอส ลงพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ติดตามการดำเนินงานพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งแก่เยาวชน




29 เมษายน 2565, จังหวัดสิงห์บุรี – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งให้แก่เยาวชน ณ โรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุปถัมภ์” ด้าน ดีป้า​ พร้อมสานต่อการส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลด้าน Coding, STEM, IoT และ AI และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการเรียนรู้ เพื่อยกระดับเยาวชนสู่บุคลากรดิจิทัลของประเทศ

                นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย​ นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลฯ นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ​ และ​ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล​ หรือ​ ดีป้า​ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งให้แก่เยาวชน ณ โรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุปถัมภ์” โดยมี นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ว่าที่ร้อยตรี ชาญชัย กาศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุปถัมภ์” และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานในพื้นที่ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้แทนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในโครงการ Coding Thailand ร่วมกิจกรรมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยพร้อมเพรียง

                จากนั้นคณะได้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 การสาธิตการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งผ่านสื่อ Interactive Learning โดย บริษัท แบร์สเปซ จำกัด ดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ ดีป้า​ ให้การสนับสนุน และ Digital Bus เทคโชว์เคสจาก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

                นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนให้มีความพร้อมรองรับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม Learning Skill, Literacy Skill ตลอดจน Life Skill เพื่อให้เยาวชนไทยมีทักษะพื้นฐานในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และนำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง สามารถเรียนรู้ ค้นคว้า และต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมได้

                “วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความก้าวหน้าของการดำเนินงานพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้ง รวมถึงทักษะดิจิทัลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 แก่เยาวชนไทยโดยการผลักดันของ ดีป้า​ ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนไทยก่อนก้าวสู่การเป็นบุคลากรดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

                ขณะที่​ ดร.รัฐศาสตร์​ กล่าวว่า การดำเนินงานพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งให้แก่เยาวชนมีขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้โครงการ Coding Thailand แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศ​(CodingThailand.org) ที่ได้รับการพัฒนาโดย ดีป้า​ และ​ Code.org พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ Microsoft, Google ฯลฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับทักษะกำลังคนดิจิทัลผ่านการสร้างเสริมศักยภาพเยาวชนไทยสู่การเป็นผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านโครงการต่าง ๆ

                พร้อมกันนี้ ดีป้า​ ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนและบุคลากรครูอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาทักษะ Coding, STEM, IoT และ AI แก่โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และประสานความร่วมมือกับพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย)    เอไอเอ ประเทศไทย บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศรวม 99 โรงเรียนในปัจจุบัน

                “ระหว่างปี 2561-2564 ดีป้า​ สามารถสร้างการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ม Coding Thailand กว่า 1.5 ล้านคน พัฒนาบุคลากรครูมากกว่า 4,800 คน เยาวชนกว่า 3.87 แสนคน ส่งเสริมให้โรงเรียนเข้าถึงและสามารถยกระดับการเรียนการสอนเกี่ยวกับโค้ดดิ้งกว่า 2,700 แห่งทั่วประเทศ โดยปีนี้ ดีป้า​ ตั้งเป้าส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลด้าน Coding, STEM, IoT และ AI และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนรู้ทักษะดังกล่าว เพื่อต่อยอดการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนในเครือข่ายอีกกว่า 80 โรงเรียนทั่วประเทศ และต่อยอดการพัฒนาทักษะครูผ่านโครงการ depa Teacher Boot Camp: Season 2 รวมถึงพัฒนาทักษะเยาวชนกับโครงการ Coding in Your Area: Season 2 ที่มุ่งเสริมทักษะโค้ดดิ้งแก่เยาวชน จำนวน 10,000 คนทั่วประเทศให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในโลกเมตาเวิร์ส” รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

                นอกจากนี้ คณะยังได้ลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อเยี่ยมชมความก้าวหน้าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตรในโครงการเห็ดชุมชนอัจฉริยะ โดยวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตสิงห์บุรี อำเภอท่าช้าง ที่มีการนำเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm มาใช้ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิในโรงเพาะเห็ด รวมถึงโครงการโดรนอัจฉริยะ โดยศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองยาว ในอำเภอพรหมบุรี ที่นำโดรนเพื่อการเกษตรมาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรในการทำนาข้าว ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้รับการส่งเสริมผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท จาก ดีป้า
« Last Edit: May 05, 2022, 01:35:11 AM by happy »