happy on April 28, 2022, 11:35:01 PM
สกสว. จัดประชุม STO Forum ยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
โดยใช้กลไกคณะทำงานผูู้แทนหน่วยงานในการขับเคลื่อนกลยุทธ์สู่การพัฒนาความเป็นเลิศ


                เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุม​ Science and Technology Organization Forum (STO Forum7)” ครั้งที่ 2/2565 โดยเชิญผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ฟังการ​ บรรยาย เรื่อง “แพลตฟอร์มการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า : จากทฤษฎีอนุภาคฟิสิกส์สู่การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชิโนรัตน์ กอบเดช ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหารือ การยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยใช้กลไกคณะทำงานผู้แทนหน่วยงานในการขับเคลื่อน สำหรับโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบ ววน. เพื่อการพัฒนาประเทศ โดย ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว.


                โอกาสนี้​ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการจัดประชุม STO Forum ครั้งที่ 7 เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่จะช่วยกันมองไปข้างหน้า พร้อมกับกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดย สกสว. จะเก็บเกี่ยวรวบรวมทุกความคิดเห็นนำไปพิจารณาและดำเนินการให้คล้องกับยุทธศาสตร์และ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 - 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศที่สามารถก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้มอบไว้ให้ดำเนินการ

                ด้าน​ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว.​ นำเสนอถึงแนวการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยใช้กลไกคณะทำงานผู้แทนหน่วยงานในการขับเคลื่อนว่า สกสว. ได้จัดทำยุทธศาสตร์และ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 - 2570 ตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในหลากหลายมิติ ครอบคลุมถึงการพัฒนาต้นทุนทรัพยากรที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เทคโนโลยี โดยมีการกำหนดค่าเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ (OKR หรือ objective key result) ในการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ของไทยให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

                ดังนั้น เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างหน่วยงานนโยบาย หน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยงานปฏิบัติ ในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย สกสว. จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่เป็นผู้แทนของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผู้บริหารที่กำกับดูแลด้านกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรของหน่วยงานที่ร่วมเป็นคณะทำงานชุดนี้ จะมีบทบาทหน้าที่สำคัญดังนี้

                1. สร้างความเข้าใจต่อหน่วยงานต้นสังกัดถึงเป้าหมายและทิศทางการสนับสนุนด้านงบประมาณในการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยเข้าร่วมประชุมคณะทำงาน (Working Group) ที่ สกสว. จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ประสานงาน และสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่สอดรับกับแผนและนโยบายด้านการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

                2. ให้ความร่วมมือและสนับสนุนข้อมูลจากหน่วยงานต้นสังกัดสำหรับการวิเคราะห์ช่องว่างในการพัฒนา เพื่อให้เกิดแผนการยกระดับองค์กรให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการร่วมวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของโลก รวมถึงการประเมินและการร่วมสร้างตัวชี้วัดสำคัญในการยกระดับองค์กรเพื่อเทียบเคียงนานาชาติ (Benchmark Parameters & Metrices) ที่จะนำไปสู่การยกระดับสถาบันตามกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนการรวบรวมข้อเสนอแนะที่ได้รับตรงจากหน่วยงานในการออกแบบและพัฒนากลไกให้สถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถยกระดับให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป