happy on April 22, 2022, 12:44:37 AM
12 แนวคิด 24 นักสร้างสรรค์ เบื้องหลังการออกแบบพาวิลเลียน งานสถาปนิก'65


มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องพึ่งพาคนรอบตัวอยู่เสมอ เวลากินข้าวเราก็ต้องสั่งจากพ่อค้าแม่ค้า เวลาเดินทาง บางคนก็ใช้บริการพนักงานขับรถโดยสาร เวลาเจอโจรผู้ร้ายก็ต้องแจ้งตำรวจ ไม่เว้นแม้แต่ สถาปนิกเองก็ต้องพึ่งพา วิศวกร ผู้รับเหมา หรือ ผู้ค้าวัสดุ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

งานสถาปนิก’65 ปีนี้ จึงน่าสนใจมาก เพราะกลับมาด้วยแนวคิด “CO-WITH CREATORS: พึ่งพา-อาศัย” พร้อมจัดแสดงนิทรรศการสุดอลังการที่รวบรวมผลงานการสร้างสรรค์พาวิลเลียนของสถาปนิกและนักสร้างสรรค์หลายสิบคน รวมทั้งหมด 12 ผลงาน ซึ่งแต่ละผลงานจะทำให้ผู้ชมเกิดแรงบันดาลใจและได้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ กลับบ้านไปอย่างแน่นอน


1. Co-with COVID : ชีวิต-ก้าวผ่าน-วิกฤต

               นิทรรศการที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ สาริน นิลสนธิ สถาปนิกหนุ่มผู้เชี่ยวชาญการออกแบบพื้นที่ขนาดเล็กจาก D KWA Design Studio และ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิจาก Patani Artspace ซึ่งทั้งสองคนได้ยกการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาเป็นไอเดียในการสร้างสรรค์พาวิลเลียนแห่งนี้ ทีมออกแบบได้ใช้ผ้าเป็นวัสดุหลักในการทำโครงสร้างและตัวกำหนดขอบเขตของพาวิลเลียน และภายในมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ เพื่อสอดแทรกเนื้อหาที่พยายามตอบคำถามเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันในยุคโรคระบาด

               นอกจากนี้ พวกเขายังจำลองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตด้วยเอฟเฟคที่เกิดขึ้นจากวัสดุต่างๆ เช่น ท่อนำแสง (Lighting tube) แทนสิ่งมีชีวิต หรือ วัสดุสะท้อนแสงแทนเชื้อไวรัส เป็นต้น ซึ่งการจำลองนี้พยายามแสดงให้เห็นว่ามีชีวิตคู่ขนานที่ต้องอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่พวกเขาเกิดจนกลับสู่ธรรมชาติ และยังทำให้ผู้ชมคิดถึงเรื่องกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย


2. Local Innovation : ภาคภูมิ-ภูมิภาค Co-breathing house

               Co-breathing house เป็นพื้นที่ส่วน Local Innovation pavilion ของงานสถาปนิกประจำปีนี้ ซึ่งถูกออกแบบโดย คำรน สุทธิ สถาปนิกจาก Eco Architect ผู้เชื่อว่าสถาปัตยกรรมทุกหลังที่ออกแบบจะต้องอยู่สบายและหายใจร่วมกับธรรมชาติ และ จีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์ หรือ Joez19 ช่างภาพสายธรรมชาติที่เคยถ่ายภาพโฆษณาให้ Apple จนมีโอกาสพา Tim Cook ไปท่องเที่ยวเมืองไทย

               จุดเด่นของพาวิลเลียนนี้ คือ การแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็น 6 ห้องที่สามารถเข้าถึงได้เป็นลำดับแบบ linear circulation โดยแต่ละห้องจะมีการนำวัสดุพื้นถิ่นไทยมาทดลองทำเป็นเปลือกอาคาร (Facade) และมีการออกแบบผนังกั้นภายในห้องให้มีความกลมกลืนกับวัสดุพื้นถิ่นที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการเล่นภาพ เสียง และสัมผัส เพื่อให้คนที่อยู่ในห้องซึบซับทุกเนื้อหาของวัสดุพื้นถิ่นในแต่ละภาคที่อยู่ภายในได้อย่างเต็มที่


3. Professional Collaboration : พึ่งพา-อาศัย

               ปกรณ์ อยู่ดี และวิภาดา อยู่ดี จาก INLY STUDIO ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์น อยากสร้างพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกเสมือนอยู่ท่ามกลางเกลียวคลื่นที่ถูกปกคลุมด้วยขยะรีไซเคิล ภายใต้โจทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบพื้นที่ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของพวกเขา รวมถึงชูบุคลิกและแนวคิดของ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม ‘ทะเลจร’ ให้โดดเด่นด้วย พวกเขาจึงร่วมกันสร้างพาวิลเลียนที่ชื่อว่า Professional collaboration ขึ้นมา

               สำหรับโครงสร้างของพาวิลเลียนจะเป็นการนำงานประติมากรรมมาจัดเรียงกัน เพื่อให้เกิดการรับชมแบบ 360 องศา แถมยังสร้างประสบการณ์การรับชมที่ไม่เหมือนกันในแต่ละจุดของพาวิลเลียนอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นพาวิลเลียนนี้ยังทำให้คนตระหนักถึงจุดเด่นของวัสดุจากขยะในเรื่องความยืดหยุ่นและการใช้งานหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงปัญหาเรื่องขยะในมหาสมุทร และการแก้ไขปัญหาขยะด้วยการรีไซเคิลซึ่งเป็นเรื่องที่ ดร.ณัฐพงศ์ พยายามสื่อสารมาตลอด


4. รังมดแดง (Rang Mod Deang)

               มดแดงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาสิ่งรอบตัวเพื่อดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร ที่พักอาศัย ไปจนถึงสมาชิกภายในรังเองต่างก็มีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำภายในรัง เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ ธรรศ วัฒนาเมธี และ อัชฌา สมพงษ์ สองสถาปนิกจาก Chan Cher Architects and Design จังหวัดสกลนคร และ ศุภชัย แกล้วทนงค์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์แห่ง Nakkhid Design Studio ร่วมกันสร้างพาวิลเลียนที่สามารถจัดแสดงหุ่นจำลอง (Model) ได้ 100 ชิ้น จากสำนักงานสถาปนิก 100 แห่ง

               โดยหุ่นจำลองแต่ละชิ้นก็เปรียบเสมือนตัวอ่อนของมดหรือไข่มดที่สมาชิกของสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ (ASA) ได้เลี้ยงดูฟูมฟักจนเติบโตขึ้นเป็นผลงาน แถมยังสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานแบบพึ่งพาอาศัยกันอีกด้วย นอกจากนี้ภายในพาวิลเลียนยังมีการนำฟอร์มของไข่มดแดงมาทำเป็นแท่นจัดวางงานและโคมไฟตกแต่ง พร้อมนำวัสดุธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดสกลนครและซี่ลูกกรงไม้กระถินณรงค์มาเป็นองค์ประกอบเสริมอีกด้วย


5. Street Wonder

               ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร  สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทออกแบบระดับนานาชาติ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (ขอนแก่น) และ สร้างสรรค์ ณ สุนทร นักสร้างสรรค์จากเชียงใหม่ ได้รับโจทย์ให้ออกแบบพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานนิสิตนักศึกษาสถาปัตยกรรม (ASA Student and Workshop) ซึ่งมีลักษณะเป็นพาวิลเลียนที่สามารถนำเสนอและเผยแพร่ความรู้ความสามารถของนักศึกษาสถาปัตยกรรม รวมถึงการทำความเข้าใจสภาวะแวดล้อม และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตนักศึกษาได้เป็นอย่างดี

               พวกเขายังต้องสร้างนิทรรศการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงได้ข้อสรุปออกมาว่า จะไม่เน้นการสร้าง แต่ใช้การหยิบยืมและปรับวิธีการใช้สิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ใหม่กับบริบทใหม่ และด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำจาก COVID-19 ทีมออกแบบจึงค้นหาหน่วยเล็กๆ ของประชาชนที่สามารถตอบโจทย์เรื่องการเคลื่อนที่ได้

               สุดท้าย พวกเขาสนใจรถเข็นอาหารของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด และอยากทำงานร่วมกับกลุ่มคนเหล่านั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกัน จึงได้สร้างพาวิลเลียน Street Wonder ที่ชื่อพ้องเสียงกับ Street vendor (ผู้ค้าขายบนท้องถนน) ที่ได้นำเงินที่ใช้สร้างพาวิลเลียนไปเช่า รถเข็น โต๊ะ และที่นั่งจากพ่อค้าแม่ค้าตามทางเท้าและท้องถนน มาทำเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการทำพาวิลเลียนแทนการสร้างใหม่


6. The Hijab

               พาวิลเลียนที่ต้องการสื่อถึง ‘ฮิญาบ’ โดยสาโรช พระวงค์ สถาปนิก นักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา นักออกแบบเซรามิกจากจังหวัดปัตตานี ได้เนรมิตพื้นที่นี้โดยการใช้ไม้เคร่ามาขึ้นรูปเป็นโครงสร้างของพาวิลเลียนพร้อมใช้ผ้าสีดำมาห่อหุ้มตัวโครงสร้างไว้ สำหรับตัวผ้านอกจากจะสื่อถึงฮิญาบอันเป็นตัวแทนความรู้สึก วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของภาคใต้แล้ว สีดำบนตัวผ้ายังช่วยดูดซับสี และทำให้ผู้ชมมีสมาธิในการรับชมงานนิทรรศการมากขึ้น พร้อมกันนั้น มันยังกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความอยากรู้อยากเห็นผลงานหรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังผืนผ้าสีดำอีกด้วย


7. กำแพงแห่งปัญญา (Wall of Wisdom)

               พาวิลเลียนสำหรับจัดแสดงผลงานรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่นและนิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมประจำปี 2565 ที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของ ธนชาติ สุขสวาสดิ์ และ กานต์ คำแหง สองสถาปนิกจาก Pommballstudio และ  กาญจนา ชนาเทพาพร เจ้าของแบรนด์แฟชั่น BWILD ISAN

               ตัวพาวิลเลียนถูกนำเสนอในลักษณะ sculpture architecture ซึ่งมีการนำแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติมาปรับและใช้เป็นแนวทางในการกำหนดพื้นที่และพัฒนารูปลักษณ์ พร้อมแนวคิดในการออกแบบพาวิลเลียนให้คล้ายคลึงกับการลำเลียงอาหารของใบไม้ โดยมีการใช้ผนังกั้น (Partition) มาใช้เป็นองค์ประกอบของจุดจัดแสดงหลักและตัวถ่ายทอดแนวคิดในการออกแบบ ตัวผนังกั้นทั้งหมดถูกนำมาจัดเรียงซ้อนกันเพื่อสร้างทางสัญจรที่ถูกแยกออกเป็นแฉก

               นอกจากนี้ ผนังแต่ละผืนจะมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน โดยมีการวางไล่เรียงลำดับต่ำไปสูง และจากเล็กไปใหญ่สลับกัน เพื่อจำลองการซ้อนทับกันของวัสดุจากธรรมชาติอย่างหน่อไม้และเปลือกไม้ ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้ยังทำให้ผู้ชมเกิดประสบการณ์และการรับรู้ที่หลากหลายแบบไม่ซ้ำกันในแต่ละจุดอีกด้วย


8. ชาวนาและช่างก่อสร้าง (Farmer and Builder)

               ซัลมาน มูเก็ม จากกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน และ รติกร ตงศิริ นักสร้างสรรค์ และผู้ก่อตั้ง ‘ป่านาคำหอม’ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์พาวิลเลียนสำหรับจัดแสดงนิทรรศการประกวดแบบภาครัฐ ซึ่งพื้นที่ภายในต้องการเล่าเรื่องของกลุ่มชาวนาไทอีสานที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำนาประณีตแบบอินทรีย์ จึงมีการจัดแสดงพันธุ์ข้าวที่ชาวนาไทอีสานอนุรักษ์ไว้กว่า 150 สายพันธุ์ เพื่อเล่าถึงความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่เป็นการส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาจนถึงชาวนารุ่นปัจจุบัน

               การก่อสร้างพื้นที่นี้จะใช้เทคนิคที่เป็นการนำทักษะเชิงช่างพื้นฐานของช่างก่อสร้างมาใช้ในการออกแบบ พร้อมกับการนำวัสดุจากงานก่อสร้างง่ายๆ มาใช้ เพื่อสื่อถึงความงามและศิลปะที่เกิดขึ้นจากฝีมือของช่างเหล่านี้ นักออกแบบยังอยากให้คนเห็นถึงว่าอาชีพช่างมีบทบาทสำคัญและเท่าเทียมกับวิชาชีพอื่น


9. หมอบ้านอาษา

               หนึ่งในไฮไลท์ของงานสถาปนิกที่ผู้คนเฝ้ารอทุกปี คือ คลินิกหมอบ้านอาษา ซึ่งเป็นพาวิลเลียนที่เปิดให้ทุกคนสามารถปรึกษาทุกปัญหาเรื่องบ้านและการก่อสร้างกับทีมสถาปนิกที่เป็นจิตอาสาได้ โดยการออกแบบบูทของปีนี้เป็นฝีมือของ จักรพันธุ์ บุษสาย และ วาสิฏฐี ลาธุลี สองสถาปนิกจาก S OO N T A R E E + และ วีรดา ศิริพงษ์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘carpenter

               พวกเขาร่วมกันเสนอแนวคิดที่ผสมกันระหว่างปรัชญาในการออกแบบผลงานของวีรดากับกระบวนการการออกแบบของทีมสถาปนิก  S OO N T A R E E + ผ่านการออกแบบพาวิลเลียนที่สร้างขึ้นจากฟอร์มสามเหลี่ยมด้านเท่าขนาด 1 เมตรที่ถูกนำมาประกอบกันเป็นฟอร์มของพาวิลเลียน ซึ่งสามเหลี่ยมด้านเท่านับเป็นเอกลักษณ์ของ ”TRI SCALE” สินค้าที่เป็นภาพจำของ ‘carpenter

               สำหรับตัวพาวิลเลียนได้ถูกสร้างขึ้นจากไม้อัด OSB ที่ได้จากเศษไม้และขี้เลื่อย, ผ้าจากแบรนด์ moreloop ที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ และยังใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตใส ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่หาได้ง่ายในท้องตลาดเพื่อสร้างให้พื้นที่พาวิลเลียนมีความกึ่งทึบกึ่งโปร่งแสง แถมยังทำให้ตัวพื้นที่ดูน่าดึงดูดขึ้นอีกด้วย


10. ASA SHOP PLAYBRARY

               ASA SHOP จะเป็นพื้นที่สำหรับขายหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และผลิตภัณฑ์จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ในการจำหน่ายงานออกแบบของเหล่าสถาปนิกและนักสร้างสรรค์ด้วย ซึ่งการออกแบบพาวิลเลียนในปีนี้เป็นผลงานของ ชารีฟ ลอนา สถาปนิกและดีไซน์เนอร์ผู้คิดบวกจาก Studio Act of Kindness และ สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ จากแบรนด์กระเป๋าชื่อดังอย่าง Rubber Killer

               ทั้งสองอยากให้พื้นที่นี้เหมาะสมกับทุกคน พวกเขาเลยเนรมิตพื้นที่ experience space ที่ทำให้เกิดความสนุกในการเรียนรู้และทุกคนใช้งานได้ สำหรับสินค้าที่อยู่ในร้านจะถูกจัดเรียงเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด เพราะทีมออกแบบอยากเล่นกับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เริ่มกลับมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง หลังจากอยู่ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่างในช่วงเวลาของโรคระบาดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

               ความโดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ คือ มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนตามการใช้งาน ได้แก่ ส่วนขาย ส่วนนั่งเล่น และส่วนชมสินค้า และตัวโครงสร้างยังทำมาจากวัสดุทางสถาปัตยกรรม การออกแบบภายใน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้หลังงานจบ


11. 'รส < ลด > สัมผัส' (Touchless)

               สำหรับพื้นที่ที่เป็นจุดนัดพบ พักผ่อน และรับประทานของว่างในงานอย่าง ASA Club จะถูกรังสรรค์โดย ปรัชญา สุขแก้ว สถาปนิกจาก Nuzen ผู้ทำงานสถาปัตยกรรมที่สร้างจากความไม่เชื่อ (An Architecture from disbelief) และ สุเมธ ยอดแก้ว เจ้าของค่ายเพลงอินดี้จากเชียงใหม่ Minimal Records โดยตัวพาวิลเลียนได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจนเหลือเพียงใจความสำคัญ

               ตัวโครงสร้างของพาวิลเลียนจะทำมาจากกระดาษซึ่งถูกนำมาขึ้นรูปเป็นหุ่นจำลองกระดาษหรือการจัดการพื้นที่ของลังกระดาษ และยังมีการนำความโดดเด่นของนักออกแบบมาผสมและแสดงในรูปแบบแสงและเสียงที่เป็นเอฟเฟคที่ซ่อนอยู่ในตัวงาน จนเกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดมุมมองและเรื่องราวของครีเอเตอร์ออกมาได้เป็นอย่างดี


12. ขวัญ (เอย ขวัญ มา) (Spiral)

               สำหรับลานกิจกรรมภายในงานได้รับการออกแบบโดย ปณชัย ชัยจิรรัตน์ และ ปุญญิศา ศิลปรัศมี สองนักออกแบบจากพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยในอุดรธานี Noir Row Art Space และ ภูริทัต ชลประทิน สถาปนิกผู้มีสไตล์โดดเด่นจาก Thammada Architect ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากลวดลายก้นหอยอันเป็นภาพจำของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานี และมีการพัฒนาไอเดียต่อโดยการนำลายเส้นก้นหอยหรือขวัญที่อยู่กับร่างกายมนุษย์มาช้านาน มาทำเป็นพาวิลเลียนชื่อว่า ขวัญ (เอย ขวัญ มา)’ หรือ ‘Spiral’ ซึ่งมีวิธีการสร้างโดยการนำเส้นฝ้ายมาขึ้นรูปด้วยการเรียงเป็นเส้นๆ ตามโครงฉากที่ถูกออกแบบให้เป็นเสมือนผนังบางๆ วนโดยรอบพื้นที่ ก่อให้เกิดน้ำหนักตามสีที่ถูกเรียงซ้อนทับกัน

               สำหรับงานออกแบบพาวิลเลียนใน “งานสถาปนิก’65 (Architect’22) ภายใต้แนวคิด CO-WITH CREATORS: พึ่งพา-อาศัย” ซึ่งจะจัดขึ้นตลอด 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2565 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้ที่: https://bit.ly/36s6t2A หรือ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.asaexpo.org

#สถาปนิก65 #architect22 #cowithcreators #พึ่งพาอาศัย
« Last Edit: April 22, 2022, 01:09:01 AM by happy »