happy on April 19, 2022, 12:48:08 AM
9 เหตุผล โทรคมนาคมเก่าไม่ปรับตัวใน 3-5 ปี ไม่รอดแน่

                 ย้ำหน่วยงานรัฐเปิดเนตร เสริมแกร่งผู้ประกอบการ พร้อมต่อโทรคมนาคมใหม่ ก่อนจะไม่เหลือผู้ประกอบการเดิม ในยุคดิจิทัล ที่คนไทยยังมองภาพไม่ชัดเจน


                 แหล่งข่าวจากวงการดิจิทัล เปิดเผยว่า มรดกจากแนวคิดเก่าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมดั้งเดิมที่คิดใบอนุญาตค่าคลื่นสูงอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้เล่นโทรคมนาคมน้อยราย อีกทั้งการลงทุนในเสาสัญญานและอุปกรณ์เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่อีกหลายแสนล้านบาท ทำให้ผู้เล่นหลายรายในอุตสาหกรรมมีภาระดอกเบี้ยและการลงทุนอย่างต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้เล่นรายใหม่ หรือ Barriers to Entry จาก 3 ประเด็นด้วยกัน 1. เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วจาก 3G 4G 5G และ6G จนไม่สามารถคืนทุนได้ทัน 2. เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงระดับแสนล้าน ซึ่งมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่สามารถรับภาระต้นทุน 3. มีกฎระเบียบกำกับและควบคุมทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ โดยมีเพดานกำหนดกรอบไว้โดยกสทช.

                 ยิ่งนานวันต้นทุนค่าคลื่นก็ยิ่งสูงขึ้นทำให้บริษัทโทรคมนาคมในประเทศไทยต้องอ่อนแอลงไปจากภาระต้นทุน ในขณะที่รายได้จากการให้บริการโทรคมนาคมไม่ได้สดใสเหมือนก่อน ทั้งค่าโทรศัพท์ที่ถูกทดแทนจากบริการ OTT หรือ Over-the-Top ซึ่งเป็นการให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์บนโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมหรืออินเทอร์เน็ต ด้วยการโทรผ่านไลน์ ผ่านเฟสบุ๊ก การขาดรายได้จากการโทรทางไกล ขาดรายได้จากการส่งข้อความ และขาดรายได้จากบริการเสริมต่าง ๆ ในขณะที่ยอดการใช้งานข้อมูลนั้นสูงขึ้นมหาศาล

                 ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือ กสทช. รายงานว่าในปี 2564 ผู้ให้บริการ OTT ทุกประเภทในไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงแรกของการเข้ามาทำตลาดไทยปี 2557 และบริการประเภท Subscription Video on Demand (SVoD) ซึ่งเก็บค่าสมาชิก อย่างเช่น NETFLIX, DISNEY PLUS, Amazon Prime Video มีสมาชิกถึง 13.29 ล้านบัญชี สอดคล้องกับ Statista Advertising and Media Outlook ประเมินว่า มูลค่าตลาด OTT ของประเทศไทยจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะเพิ่มถึงประมาณ 877 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการ OTT ในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านรายในปี 2566

                 รายงาน Global Entertainment and Media Outlook 2019-2023 ของ PwC ระบุว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านสื่อและบันเทิงในประเทศไทย จะเติบโตเฉลี่ยต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 5.05% โดยเฉพาะความต้องการเสพสื่อและบันเทิงแบบส่วนบุคคลจะยิ่งมากขึ้น ทั้งการเข้ามาของ 5G จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคหันไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น PwC คาดว่า บริการวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต (over-the-top video : OTT video) จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด จากมูลค่าในปี 2561 ราว 2.81 พันล้านบาท จะโตมากกว่า 2 เท่าในปี 2566 เป็น 6.08 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตปีต่อปีที่ 16.64%

                 ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม OTT จำนวนมาก โดยที่ยังไม่มีกลไกควบคุมหรือกำกับดูแล หากหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐไม่ปรับตัวให้ก้าวทุนยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ทำความรู้จักตลาดโทรคมนาคมใหม่ ก่อนจะไม่เหลือผู้ประกอบการเดิม ในยุคดิจิทัล ที่คนไทยยังมองภาพไม่ชัดเจน เชื่อได้เลยว่าภายใน 3-5 ปีนี้ บริษัทเดิมในโทรคมนาคมไทยภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่คงอยู่รอดได้ยาก หากไม่มีการปรับตัวหรือปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น


                 สำหรับเหตุผลที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมในปัจจุบันต้องประสบภาวะที่ยากต่อการแข่งขันกับผู้เล่นดิจิทัล มีด้วยกัน 9 ข้อที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนต้องนำไปคิด ทบทวน และหาทางออก คือ

1. ค่าใบอนุญาตค่าคลื่นที่ผู้ให้บริการเดิมต้องจ่าย แต่ผู้ให้บริการในรูปแบบดิจิทัลจากต่างประเทศไม่ต้องจ่าย เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ก Skype เป็นต้น 

2. ผู้เล่นโทรคมนาคมในปัจจุบัน ต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่ผู้ให้บริการดิจิทัลส่วนใหญ่ มีสำนักงานอยู่ต่างประเทศ นอกจากไม่ต้องจ่ายภาษีแล้ว ยังไม่ต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศไทยการใช้งานดาต้าที่เพิ่มมากขึ้น ลูกค้าจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าดาต้าเท่าเดิม และมี กสทช. ควบคุมราคา ในขณะที่บริษัทดิจิทัลไม่มีหน่วยงานรัฐควบคุม

3. การไม่ต้องจ่ายค่าการใช้ดาต้าให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมเดิมอุปกรณ์

4. มือถือรุ่นใหม่รวมถึงแอปพลิเคชั่นไลน์ เฟสบุ๊ก มีการปิดกั้นข้อมูลผู้ใช้งาน ทำให้บริษัทโทรคมนาคมเดิมรู้จักลูกค้าน้อยลง

5. ผู้เล่นดิจิทัลจากต่างประเทศ เตรียมเปิดให้บริการโทรศัพท์ไร้ซิมในอีกไม่เกิน 3 ปี ข้างหน้า ทำให้การโทรออกทั้งหมดผ่านดาต้า และ ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ ทำให้ทั้ง เอไอเอส ทรู และ ดีแทค ต้องหันมาให้บริการโทรผ่านดาต้าแข่งกับไลน์ มิเช่นนั้นรายได้ค่าโทรจะลดลงอย่างมาก

6. การเข้ามาของโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ซึ่งไม่ได้ใช้เครือข่ายสัญญานมือถือเดิม ซึ่งล่าสุด SpaceX ได้ทดลองให้บริการสื่อสารที่ฟิลิปปินส์ โดยฟิลิปปินส์มีอัตราผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 74 ล้านคน และมีอัตราผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งจะมีการยิงดาวเทียมจากทั่วโลก ทำให้ผู้เล่นเดิมมีโอกาสหลุดออกจากธุรกิจจากการ Disruption ดังนั้นต้องสนับสนุนให้บริษัทโทรคมนาคมไทยปรับตัว ไม่ใช่ควบคุมให้ทำธุรกิจแบบเดิม

7. ธุรกิจโทรคมนาคมไทย มีเพียงเอไอเอส ที่ทำกำไรต่อปีสูงพอที่จะลงทุนเพิ่มแข่งขันกับผู้เล่นดิจิทัล ในขณะที่ผู้เล่นที่เหลือในอุตสาหกรรม มีกำไรไม่เพียงพอที่จะลงทุนเพิ่ม ดังนั้นการควบรวมและปรับโครงสร้างจะเป็นการลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน เพิ่มจำนวนเครือข่ายให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้น และมีความสามารถทัดเทียมในการแข่งขัน ซึ่งจะเกิดผลดีกับลูกค้ามากกว่าการมีผู้นำเดี่ยวเพียง 1 ราย

8. ผู้เล่นดิจิทัลมีลักษณะการดำเนินธุรกิจแบบ Start Up ปรับตัวง่ายและเร็วกว่า สามารถเพิ่มทุน ลงทุน ควบรวม ได้โดยไม่มีการถูกบังคับ ในขณะที่ผู้เล่นในโทรคมนาคมเดิม กฎระเบียบภาครัฐที่ขาดความชัดเจน ในขณะที่กฎหมายเดียวกัน CAT และ TOT ควบรวมกิจการเกิดเป็นบริษัท NT ทำให้ในอนาคตจะยิ่งเหลือผู้เล่นน้อยราย โดยเฉพาะหากทรูและดีแทคไม่สามารถควบรวมสำเร็จ

9. รูปแบบการให้บริการสมัยใหม่ ที่จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือเป็นรายเดือน ทำให้แบรนด์โทรศัพท์มือถือ จะเก็บเงินลูกค้าแบบ subscription และ มีบทบาทในการดูแลลูกค้าแทนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเดิม และมีรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายกว่า โดยไม่ถูกควบคุม


                 ทั้งหมดนี้คือ 9 เหตุผลที่หากธุรกิจในอุตสาหกรรมเดิมไม่ปรับตัว ก็ยากที่จะแข่งขันกับผู้เล่นดิจิทัลจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ประเทศไทยจะเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยี หน่วยงานภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย หาใช่การกำกับเพื่อให้รายใดรายหนึ่งเป็นผู้นำเดี่ยวในตลาด