วช. ร่วมประชุม Public Policy Forum
ประเด็น “อนาคตประเทศไทยใน 10 มิติ” ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยในมิติเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ :ประเด็นเพื่อพิจารณาสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ครั้งที่ 4
วันนี้ (26 ม.ค. 65) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมประชุมร่วมประชุม Public Policy Forum ประเด็น “อนาคตประเทศไทยใน 10 มิติ” ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยในมิติเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ:ประเด็นเพื่อพิจารณาสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ครั้งที่ 4 ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็น 1 ในมิติสำคัญภายใต้โครงการประเทศไทยในอนาคต หรือ Future Thailand ซึ่งประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อยทั้ง 10 มิติที่วช.ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเชิงนโยบายแก่สถาบันคลังสมองของชาติเพื่อขับเคลื่อนให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลเชิงนโยบายประกอบการพิจารณาจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 สำหรับมิติอนาคตประเทศไทยในมิติเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการเป็นการดำเนินการวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนทิศทางทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในการกำหนดนโยบายเพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะในภาคส่วนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ โดยการขับเคลื่อนต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการเมือง เพื่อให้สามารถนำไปสู่การสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่มีกำลังขับเคลื่อนและสามารถกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจและการคลัง รวมถึงสามารถผลักดันให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ นอกจากนี้ กลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ควรมุ่งเน้นก็คือการพัฒนาทักษะแรงงานที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ และการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจ เพราะการใช้เทคโนโลยีจะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างเข็มแข็ง และช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาวะที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย วช. มุ่งหวังว่าการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในลักษณะของโครงการประเทศไทยในอนาคต มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อให้ได้ผลสำเร็จเป็นการฉายภาพอนาคตในมิติเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ จะสามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างนวัตกรรมวิจัย นโยบายสาธารณะ และนโยบายทางสังคม รวมถึงขับเคลื่อน และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์กับประเทศและประชาชน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป