วช. ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 “The 1st Thailand Weather and Climate Symposium 2021”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 “The 1st Thailand Weather and Climate Symposium 2021” เมื่อวันที่ 16 – 17 ธันวาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Webex) โดยมีนายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติร่วมกล่าวในพิธีเปิดงาน
งานประชุมวิชาการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ การประยุกต์ผลงานวิจัย การนำข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับด้านสภาพอากาศและภูมิอากาศไปใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมในระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศและภูมิอากาศสุดขั้ว (Weather and Climate Extremes) และเพื่อเฝ้าระวัง พยากรณ์ และหามาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับการตัดสินใจและการปรับตัว โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชนในทุกๆด้าน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ เช่น ภาคเศรษฐกิจ ภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว วช. ในฐานะหน่วยงานผู้ให้ทุนของประเทศได้สนับสนุนข้อเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ภายใต้กรอบวิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2565 แพลตฟอร์มที่ 2 โปรแกรมที่ 7: “แก้ไขปัญหาท้าทายและยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการเกษตร” เพื่อให้ได้นโยบาย แนวทาง และมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อเสนอแนะ แนวทาง มาตรการในการสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการรับมือและปรับตัว เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนต่างๆ นอกจากนี้ ดร. วิภารัตน์ฯ ยังได้แสดงความยินดีที่การประชุมในครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมส่งผลงานวิจัยเพื่อนำเสนอเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการประชุม โดยเชื่อว่าการประชุมวิชาการในครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการขยายและพัฒนาเครือข่ายการวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศ เกิดความตระหนักเกี่ยวกับความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นในการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อในที่สุดเราจะสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศและภูมิอากาศสุดขั้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ