happy on November 26, 2021, 12:54:21 AM
พม. จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
ภายใต้แนวคิด “ครอบครัววิถีใหม่รับมืออย่างไรกับความรุนแรงในครอบครัว”
และพิธีมอบรางวัลสื่อสร้างสรรค์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์


                  วันนี้ (25 พ.ย. 64) เวลา 10.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดออกแบบสื่อสร้างสรรค์คลิปวิดีโอ เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 5 รางวัล และให้เกียรติเป็นวิทยากร พม. ทอล์ก ในงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ภายใต้แนวคิด​ “ครอบครัววิถีใหม่รับมืออย่างไรกับความรุนแรงในครอบครัว” โดยมีนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)


                  นายจุติ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและการสร้างความมั่นคงของครอบครัว ทั้งยังพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นับเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นับจากที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และได้มีมติคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีตลอดทั้งเดือน ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ต่อเนื่องทุกปี โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานหลักภาครัฐในการประสานการดำเนินงานดังกล่าวกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างกระแสให้สังคมมีความตระหนักและตื่นตัวต่อปัญหา ร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวอย่างกว้างขวาง
ทั่วประเทศ



                  นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี 2564 นี้ พม. โดย สค. ได้จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัววิถีใหม่รับมืออย่างไรกับความรุนแรงในครอบครัว” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มาร่วม TED talk  พูดคุย ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ฟัง ได้แก่ 1) ศาตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2) รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) 3) นางสาวจอมเทียน จันสมรัก ผู้ประสานงานโครงการ MyAdvisor 4) พล.ต.ต. กิตติ์ธนทัต เลอวงศ์รัตน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 5) นางสาวปนัดดา วงษ์ผู้ดี ผู้ได้รับรางวัลบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2561 และผู้ได้รับรางวัลผู้เสียสละเพื่อสังคม ประจำปี 2564 และ 6) นายหลุยส์ เฮสดาร์ซัน ศิลปิน ดารา และพิธีมอบรางวัลการประกวดสื่อสร้างสรรค์คลิปวิดีโอ ในหัวข้อ “ครอบครัววิถีใหม่ไร้ความรุนแรง?” เพื่อสร้างกระแสสังคมในการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 5 รางวัล แบ่งเป็น ประเภทเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี จำนวน 2 รางวัล 1) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวซอฟา  ประธรรมสาร เจ้าของผลงาน “ช่องว่าง” 2) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นางสาวภาวิตา จิตพิไลเมธา เจ้าของผลงาน “ฝันร้าย” ประเภทประชาชนทั่วไป อายุ 25 ปีขึ้นไป จำนวน 3 รางวัล 1) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่
1) นายกงจักร์ บุตรศิริ ผลงาน “ยุติความรุนแรง เราช่วยได้” 2) นางเยาวรัตน์  เลิศพิพัฒน์กุล เจ้าของผลงาน “แก้วตาดวงใจ” รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ นายกมล  แสงสิทธิศักดิ์  เจ้าของผลงาน “วัคซีน”



                  นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกิจกรรมในวันนี้แล้ว ในส่วนภูมิภาคยังร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ รวมถึงหน่วยงานองค์กรเครือข่ายที่จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและมาร่วมกันเป็นพลังในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน พร้อมทั้งขอบคุณหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ที่เสียสละเวลามาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมร่วมกัน

                  สุดท้ายนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว สามารถแจ้งเหตุหรือแจ้งเบาะแสได้ โดย พม. จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งเหตุและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความรุนแรง​ ทั้งต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ได้แก่ 1) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง 2) ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ตั้งอยู่ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 76 จังหวัด 3) ช่องทาง Family line “เพื่อนครอบครัว” ที่ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ในด้านกฎหมาย และสังคม รวมทั้งเป็นห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และองค์ความรู้ให้แก่ครอบครัวผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น การจัดกระบวนงานและการบูรณาการงานของ พม. และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปเพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดในการดำเนินงานของ พม. คือ​ “ครอบครัวอบอุ่น สังคมเป็นสุข และปราศจากความรุนแรง” นายจุติ กล่าวในตอนท้าย