“กรมชลประทาน” ยุค 4.0
ชูนวัตกรรมการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อคนไทย
กรมชลประทาน เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักด้านน้ำ คือพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุล บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้ทั่วถึง เพียงพอ และเป็นธรรม พร้อมดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ โดยได้มีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์กรมชลประทานและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ที่จะนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming พร้อมเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง สอดรับเป้าหมายขององค์กรในการเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) และเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580 กรมชลประทานได้มีการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมชลประทานใหม่ๆ เพื่อเป็นต้นแบบและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ เป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนคนไทย อาทิอากาศยานไร้คนขับ ธารทิพย์ 01-33
สู่การสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง การพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ของกรมชลประทาน “ธารทิพย์ 01-33” โดย นายพีรพล กมลรัตน์ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา หนึ่งในทีมผู้พัฒนาและคิดค้น ถือเป็นการนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาเสริมทัพและใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเป็นต้นแบบนำร่องไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ในอนาคต โดยมีแนวคิดในการพัฒนาเพื่อใช้งานเองในองค์กรและลดต้นทุนในการซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ รวมทั้งต้องการต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับให้กับบุคลากรในหน่วยงาน โดยนำมาเป็นเครื่องมือในการสำรวจ ถ่ายภาพ และผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานแผนที่สากล สามารถนำมาสนับสนุนภารกิจงานชลประทานได้หลายด้าน ซึ่งในอนาคตอาจมีการพัฒนาต่อยอด โดรน “ธารทิพย์ 01-33” ให้มีระบบการขึ้นลงทางดิ่ง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ในพื้นที่จำกัด ปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้นำอากาศยานไร้คนขับ“ธารทิพย์ 01-33” มาใช้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ บินสำรวจถ่ายภาพติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและสำรวจความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ , บินสำรวจถ่ายภาพบริเวณพื้นที่โครงการชลประทานต่างๆ , บินสำรวจถ่ายภาพเพื่อนำข้อมูลสำรวจมาสร้างแบบจำลองสำหรับวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เป็นต้นนวัตกรรมเครื่องช่วยหมุนเปิดปิดบานระบายน้ำเคลื่อนที่แบบไฟฟ้ากระแสตรง Fast 7.1 นวัตกรรมเครื่องช่วยหมุนเปิดปิดบานระบายน้ำเคลื่อนที่แบบไฟฟ้ากระแสตรง Fast 7.1 ของกรมชลประทานถูกคิดค้นและพัฒนา โดย นายทนุพงศ์ ร่วมรักษ์ สำนักงานชลประทานที่ 7 ใช้แก้ปัญหาการเปิดปิดประตูระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นแบบที่ต้องใช้มือหมุนและตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า เป็นการช่วยบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตที่ต้องดำเนินอย่างรวดเร็วให้ทันต่อสถานการณ์ ปัจจุบันได้นำไปใช้งานที่บ้านนาคู่ บ้านนาขาม บ้านหนองบึง และอาคารประกอบพนังกั้นน้ำในลำน้ำก่ำ ได้ทันท่วงทีในช่วงสถานการณ์น้ำหลากเมื่อปี 2562เรือ นวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก เรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก ซึ่งคิดค้นโดย นายธีร สุขขี สำนักเครื่องจักรกล ได้รับการพัฒนาปรับปรุงต่อยอดมาหลายเวอร์ชั่น เพื่อเพิ่มสมรรถนะการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากวัชพืชและผักตบชวาในลำคลอง เป็นปัญหาสำหรับการบริหารจัดการน้ำ และกีดขวางการสัญจรทางน้ำของชาวบ้าน นวัตกรรมเรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็กนี้มีจุดเด่นคือ มีขนาดเล็ก จึงมีประสิทธิภาพในการเข้าทำงานในคลองที่เล็กและแคบได้เป็นอย่างดี มีความคล่องตัวในการทำงาน เคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ปฏิบัติงานได้ง่าย ขนย้ายข้ามสะพาน ข้ามประตูระบายน้ำได้ง่าย ใช้ผู้ปฏิบัติงานในเรือเพียง 1 คน และเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กจึงประหยัดน้ำมัน ทุ่นแรง ทุ่นเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถช่วยบำรุงรักษาคลองให้สะอาด ปัจจุบันได้นำไปใช้กำจัดวัชพืชผักตบชวาบำรุงรักษาคลองในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สารกำจัดผักตบชวา สวพ.62-RID No.1 สุดยอดนวัตกรรมการบริการ อีกหนึ่งนวัตกรรมของกรมชลประทานกับผลิตภัณฑ์กำจัดผักตบชวา โดย นายธนา สุวัทฒน และทีมงาน สำนักวิจัยและพัฒนา ได้ทดลองวิจัยจนได้สารผสม “สวพ.62-RID No.1” ที่ใช้ส่วนผสมของน้ำมันสกัดจากพืชตระกูลยูคาลิปตัส ซึ่งมีส่วนผสมของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และผสมสารกลีเซอรีนในรูปของเกลือ สามารถกำจัดผักตบชวาได้และไม่มีสารตกค้างทั้งในน้ำและตะกอน อีกทั้งในอนาคตยังต่อยอดพัฒนาใช้ควบคู่กับเรือฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชอีกด้วย ผลงานการคิดค้นครั้งนี้ นับเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้นำร่องใช้กำจัดผักตบชวาในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา โครงการชลประทานจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยนำสารละลายไปฉีดพ่นผักตบชวาในทางน้ำชลประทานหรือแม่น้ำสาธารณะ พบว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมกำจัดผักตบชวาตายโดยสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างในหลายนวัตกรรมที่ได้คิดค้นและพัฒนาเพื่อนำออกมาใช้แก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำของ “กรมชลประทาน” ยิ่งไปกว่านี้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ยังสามารถช่วยสนับสนุนงานชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด มีน้ำกิน น้ำใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตและมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับดูแลสิ่งแวดล้อมและใช้ในภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป สำหรับในอนาคต การพัฒนานวัตกรรมจะไม่หยุดยั้งเพียงแค่ช่วยบริหารจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ แต่จะใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น ลดค่าบำรุงรักษาให้น้อยลง เป็นต้น