CEA และ CCI ประกาศผลผู้ชนะการประกวดในโครงการ Grand Master
เพื่อพัฒนาศักยภาพช่างฝีมือไทยด้านเครื่องถมและผ้าทอมัดหมี่สู่ความเป็นเลิศ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับพันธมิตร วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ CCI จัดกิจกรรมมอบโล่เชิดชูเกียรติศิลปินสร้างสรรค์ระดับชั้นครู รวมถึงมอบโล่พร้อมเงินรางวัลให้กับศิลปินสร้างสรรค์ระดับชั้นเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ และผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ที่ชนะการประกวดใน โครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตงานฝีมือและงานหัตถกรรมสู่ความเป็นเลิศ (Grand Master) อย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมงานฝีมือไทยอย่างสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มในตลาด และสร้างการเติบโตสู่ยุคดิจิทัล 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมส่งเสริมให้เกิดความสนใจในคุณค่าของงานฝีมือแก่กลุ่มผู้สนใจทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการถ่ายทอดความรู้ เทคนิค ตลอดจนประสบการณ์ด้วยเนื้อหาภาคทฤษฎีด้วยหลักสูตร E-Learning การฝึกทักษะในภาคปฏิบัติ และการทดสอบวัดระดับความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของช่างฝีมือไทยสู่ความเป็นเลิศ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ศิลปินสร้างสรรค์ระดับชั้นครู และศิลปินสร้างสรรค์ระดับชั้นเชี่ยวชาญที่ได้รับรางวัลทั้งที่เข้าร่วมงานและผ่านทางแอปพลิเคชันซูม โดยแบ่งออกเป็นระดับชั้นครู สาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ จำนวน 2 ท่าน สาขาอาชีพผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ จำนวน 5 ท่าน และระดับชั้นเชี่ยวชาญ สาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ จำนวน 5 ท่าน สาขาอาชีพผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ จำนวน 4 ท่าน รวมทั้งหมด 16 ท่าน ณ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติ และแสดงถึงความอุตสาหะของการฝึกฝน การพัฒนาทักษะ ตลอดจนการต่อยอดผลงานให้เข้ากับสังคมยุคปัจจุบันอย่างลงตัวของศิลปินสร้างสรรค์ในระดับครูช่าง ทางโครงการ Grand Master จึงได้ทำการมอบโล่เกียรติยศให้แก่ศิลปินทั้ง 7 ท่านดังนี้ สาขาอาชีพผู้ผลิตเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ ได้แก่ นายสมนึก จันทร์จำปา และนายระไว สุดเฉลย, สาขาอาชีพผู้ผลิตผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ ได้แก่ นางสงวน ทิพย์ลม, นางวนิดา ระยับศรี, นางสาวแสงเดือน จันทร์นวล, นางสาวอนัญญา เค้าโนนกอก และนายธงทอง วันลักษณ์ซึ่งทุกท่านได้แสดงความคิดเห็นและมีข้อแนะนำสำหรับศิลปินสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่สนใจอยากสืบสานงานหัตถศิลป์ในสาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ และผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ ไว้อย่างน่าสนใจ คือ อยากให้คนรุ่นใหม่ส่งเสริม สืบสานและอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ไทยด้วยความอุตสาหะ มุมานะ และมีความรักในการทำงานอย่างเต็มที่ รวมถึงนำความรู้แบบดั้งเดิมไปประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคนิคใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับชิ้นงาน ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ และช่วยให้คนรุ่นใหม่สนใจ หรือเข้าถึงงานหัตถศิลป์ไทยมากขึ้น ทางด้านผู้ชนะเลิศการประกวดในสาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ และผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ ของโครงการ Grand Master กล่าวถึงความรู้สึก แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับรางวัล และเสน่ห์ของงานหัตถศิลป์ไทยไว้ว่า นายสรภัทร สาราพฤษ รางวัลชนะเลิศ สาขาอาชีพผู้ผลิตเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ เจ้าของผลงาน Scent of Imagination กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดีๆ ที่ช่วยในเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ของไทย ขอบคุณทางโครงการ Grand Master ที่ให้ความสำคัญกับช่างฝีมือไทย และพยายามผลักดันให้เกิดความสนใจ ตลอดจนเห็นคุณค่าในอาชีพเครื่องถม ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนช่างฝีมือดีที่เข้าใจเนื้อแท้ของเครื่องถมได้ยาก โดยส่วนตัวผมมองว่าเครื่องถมมีเสน่ห์ คือ เชิงรูปลักษณ์ภายนอกของตัวชิ้นงานที่มีความมันวาว มีลวดลายที่เล่นกับแสงที่ตกกระทบในมุมต่างๆ กัน และเชิงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องใช้ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ผ่านการส่งต่อเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งแน่นอนว่าผมจะนำเอาองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคใหม่ๆ ที่ได้รับจากโครงการนี้ไปปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น และเรื่องของยาถมไร้สารตะกั่วที่มีความน่าสนใจในการนำไปผลิตเป็นชิ้นงาน เพราะผมอยากส่งต่อเทคนิคต่างๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจศิลปะแขนงนี้ได้สืบสานงานต่อไป” สำหรับผลงาน Scent of Imagination ได้รับการออกแบบเป็น ตลับภู่ หนึ่งในเครื่องประกอบชุดพานพระศรีฯหรือพานหมากของพระมหากษัตริย์ไทย โดยชิ้นงานได้มีการถอดแบบมาจากรูปภาพที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ พร้อมแต่งเติมด้วยจินตนาการของตัวเอง เพื่อสะท้อนถึงคุณค่าของวัตถุในอดีตกาล ซึ่งมีแรงบันดาลใจตั้งต้นมาจากความสนใจเกี่ยวกับงานเครื่องโลหะไทยและอยากจะต่อยอดชิ้นงานในรูปแบบตลับภู่ จึงคิดว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ทำในสิ่งที่ต้องการนำเสนอมานาน โดยนำมุมมองทางศิลปะโดยช่างโบราณมาตีความในบริบทใหม่ ให้เป็นความงามตามอย่างอุดมคติของช่างศิลปะไทยและงานสถาปัตยกรรมไทย เพิ่มเติมด้วยการให้ความสำคัญเพื่อการนำไปใช้งานจริงอีกด้วย นางสาวศุภิสรา ปิ่นเศียร รางวัลชนะเลิศ สาขาอาชีพผู้ผลิตผ้าทอเทคนิดมัดหมี่ เจ้าของผลงาน Feelings and ExpressIon กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการ Grand Master เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเข้าร่วมการประกวดผ้าทอมาก่อน ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการท้าทายความสามารถของตัวเองอีกขั้น โดยส่วนตัวมองว่า งานผ้าทอมัดหมี่ มีเสน่ห์ที่ลักษณะลวดลายที่สร้างสรรค์ได้อย่างอิสระหลากหลายรูปแบบ มีการใช้เทคนิคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความซับซ้อน รวมถึงต้องใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนเพื่อให้เกิดผลงานที่โดดเด่น สวยงาม และสะท้อนตัวตนของผู้ออกแบบ ซึ่งตั้งใจจะนำเอาความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ ไปต่อยอดในการสร้างผลงานผ้าทอลายใหม่ๆ พร้อมกับพัฒนาฝีมือ และเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ตลอดจนนำเสนอผลงานที่แสดงตัวตนมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองในอนาคต” ตัวผลงาน Feelings and Expression ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความชอบและหลงใหลในศิลปะยุค อิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) จึงออกแบบโดยใช้แนวคิดที่เรียบง่าย แต่ซับซ้อนในการใช้เทคนิคผ้าทอมัดหมี่ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานผ้าทอมัดหมี่ในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม โดยมีจุดเริ่มต้นจากการคิดทดลอง โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเครื่องมือสำคัญ ผสานความคิดที่อยากจะลองทำลายผ้ามัดหมี่ที่แตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิมที่ทุกคนคุ้นเคย โดยนำองค์ประกอบพื้นฐานเชิงทัศนศิลป์อย่างรูปร่างเรขาคณิต และแม่สี 3 สีหลัก ได้แก่ น้ำเงิน เหลือง และแดง เมื่อนำมารวมกับวิธีการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมในยุค Impressionism คือ การจุดสีให้ผสมกันเกิดเป็นหลากหลายสี ซึ่งไม่ได้ผสมกันในเนื้อสี แต่เป็นการผสมสีทางสายตา เมื่อนำมาปรับใช้ในผลงานจึงได้ออกมาเป็นลวดลายที่มีลักษณะเป็นลายริ้วที่เกิดจากหัวหมี่ทั้ง 3 หัว จาก 3 แม่สี โดยนำมาทอสลับผสมเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นสีที่หลากหลายตามวงจรสี เมื่อนำมารวมกับรูปทรงเรขาคณิต ทั้งสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และวงกลม จึงเกิดความแปลกใหม่ทางการออกแบบ โดยจากผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดในโครงการ Grand Master ทั้งหมด ทางคณะกรรมการฯ ได้มีการคัดเลือกและตัดสินผ่านเกณฑ์การทดสอบต่าง ๆ จนได้ผลการแข่งขันในระดับชั้นเชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานฝีมือ และเงินรางวัลรวมมูลค่า 200,000 บาท ดังนี้ สาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ นายสรภัทร สาราพฤษ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 นายวีระพันธ์ ทองเหลือ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 นายอุดม ขวัญสงค์ ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท, รางวัลชมเชย นายฐาวิพัฒน์ อักษรรัตน์ และนางสาวปวีณา สะแหล๊ะ ได้รับเงินรางวัลท่านละ 5,000 บาท สาขาอาชีพผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ นางสาวศุภิสรา ปิ่นเศียร ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 นางสาวสโลมัย บุญญานุสิทธิ์ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 นายมัธยม อ่อนจันทร์ และนายสราวุธ รัมพณีนิล ได้รับเงินรางวัลท่านละ 10,000 บาท ทั้งนี้โครงการ Grand Master เป็นความร่วมมือระหว่าง CEA และ CCI ร่วมด้วยพันธมิตรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งทำการเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา พร้อมเปิดรับสมัครผู้สนใจในสาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้และผ้าทอเทคนิคมัดหมี่เข้าร่วมโครงการฯ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับความเชี่ยวชาญ ได้แก่ ชั้นต้น ชั้นเชี่ยวชาญ และชั้นครู ผ่านการจัดกิจกรรมอบรมพัฒนามาตรฐานในหลักสูตรการเรียนรู้เชิงบูรณาการแบบ E-Learning ที่ได้รับมาตรฐานเชิงวิชาชีพ (ซึ่งสามารถลงทะเบียนเพื่อเรียนรู้แบบย้อนหลังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านทางเว็บไซต์ CEA Online Academy) โดยมีเหล่าผู้เชี่ยวชาญ และคณาจารย์ที่มากด้วยประสบการณ์เป็นผู้ถ่ายทอด ความรู้ ทักษะ และช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจในการออกแบบชิ้นงานของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตลอดจนมีการทดสอบความรู้ความเข้าใจตามระดับชั้นที่เข้าร่วม โดยผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานฝีมือ รวมถึงได้รับเลือกให้ร่วมจัดแสดงผลงานในนิทรรศการออนไลน์ Grand Master Exhibition ทาง www.grandmasterexhibit.com และเป็นครั้งแรกที่มีการจำหน่ายผลงานในรูปแบบ NFT ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง เว็บไซต์ของวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ CCI ที่ https://cci.swu.ac.th โทร. 092-851-5445, 082-429-8229 หรืออีเมล cci@g.swu.ac.th