happy on October 19, 2021, 10:06:57 AM
โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม

นพ.โกวิท คัมภีรภาพ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย


นพ.โกวิท คัมภีรภาพ

                  ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุก ปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขัง ในพื้นที่หลาย ๆ แห่งของประเทศไทย กลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา น้ำท่วมในเขตเมือง ทำให้ผู้คนต้องยืน หรือเดินลุยน้ำ บางคนต้องสวมเสื้อผ้าที่เปียกอับชื้น ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ส่วนในชนบท น้ำที่ท่วมขังในท้องนา อาจมีเชื้อโรคหลายชนิดอยู่ เช่น แบคทีเรีย ปรสิต คนที่ลงไปแช่น้ำในท้องนา ก็อาจเกิดโรคติดเชื้อจากเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำได้ นอกจากนี้ภาวะน้ำท่วมอาจทำให้สัตว์เลื้อยคลานและแมลงคลาน อพยพหนีน้ำมาอยู่ในบ้านเรือน อาจทำร้ายกัดคน สาเหตุดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  จึงก่อให้เกิดโรคผิวหนังที่มาพร้อมกับช่วงฤดูฝนและภาวะน้ำท่วมขัง  ดังนี้


                  1. โรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต ถือเป็นโรคที่มากับน้ำท่วมที่พบบ่อยที่สุด โรคนี้เกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา โดยเป็นเชื้อราในกลุ่มเดียวกันกับโรคขี้กลาก (Tinea) ซึ่งได้แก่ เชื้อราในสายพันธุ์ Dermatophytes  เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น บนฝ่าเท้า ง่ามนิ้วเท้า ที่เปียกชื้นจากการลุยน้ำท่วมขัง  การสวมรองเท้าที่เปียกอับชื้นมีเชื้อรา เชื้อราจึงรุกรานเข้าสู่ผิวหนังและก่อโรคน้ำกัดเท้าได้ อาการพี่พบ มักจะคันตามง่ามเท้า เป็นผื่นเปื่อยยุ่ย บางครั้งอาจเป็นตุ่มน้ำ มีอาการคัน ที่ฝ่าเท้า และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ อาการที่เพิ่มขึ้นจะอักเสบบวมแดง ปวด หรือเป็นหนอง  การรักษาโรคน้ำกัดเท้า คือการใช้ยารักษาเชื้อรา อาจจะเป็นยาทาครีม imidazole  แต่ถ้าเป็นมาก มีผื่นที่เท้าทั้งสองข้าง อาจต้องรักษาด้วยยากินต้านเชื้อรา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยา โดยทั่วไปโรคน้ำกัดเท้า เป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หายขาดได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ โรคน้ำกัดเท้าป้องกันได้โดยรักษาเท้าให้แห้งเสมอ หากจำเป็นต้องแช่ลุยน้ำ หลังขึ้นจากน้ำแล้ว รีบฟอกสบู่ทำความสะอาด ล้างน้ำแล้วเช็ดให้เท้าแห้ง ผลข้างเคียงจากโรคน้ำกัดเท้า คือ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่แผล ซึ่งอาจส่งผลให้แผลมีการอักเสบมากขึ้น และเกิดหนองได้ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ


                  2. โรคติดเชื้อราที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘สังคัง’ สาเหตุเกิดจากเชื้อรากลาก (dermatophyte) โรคนี้เป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากความเปียกชื้นจากการแช่น้ำท่วมขังสูงกว่าขาหนีบ การสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น ทำให้บริเวณใต้ร่มผ้า โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบเกิดความอับชื้นได้ง่าย เชื้อราเจริญงอกงาม จนกลายเป็นผื่นแดง และมีอาการคันตามมา บางคนเกิดจากการเป็นเชื้อราที่เท้า แล้วเวลาสวมกางเกงในจะนำเชื้อราที่เท้าไปสัมผัสขาหนีบ  ทั้งนี้หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา เชื้อราก็อาจจะลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะอาการของหลาย ๆ คนที่เป็นมักจะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเกาอยู่ตลอดเวลา และยิ่งเกามาก ๆ ผิวหนังก็จะยิ่งถลอก กลายเป็นว่าปวดแสบปวดร้อนไปอีก นอกจากจะทรมานแล้วยังทำให้เสียบุคลิกอีกด้วย สำหรับยาที่รักษาเชื้อราที่ขาหนีบ มักจะเป็นยาครีมในกลุ่ม imidazole โดยให้ทาบริเวณที่เป็นผื่นทุกเช้าเย็นหลังอาบน้ำ ส่วนใหญ่ต้องทายาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จนหายขาด แต่หากทายาแล้วไม่ดีขึ้น​ ให้รีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจและรักษาทันที ทั้งนี้แพทย์อาจจะให้ยามารับประทานหรือให้ยาตัวใหม่มาทา ซึ่งก็ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรหลีกเลี่ยงการทาครีมที่ผสมสเตียรอยด์ เพราะนอกจากทำให้โรคไม่หายแล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียงจากการทายาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน​ ทำให้ผิวหนังบาง ผิวแตกลายได้


                  3. โรคเมลิออยโดซิส (Melioidosis) โรคเมลิออยโดซิส เกิดจากแบคทีเรีย เบอร์คโฮลเดอเรีย ซูโดมาลเลอัย (Burkholderia pseudomallei) แบคทีเรียชนิดนี้ชอบอาศัยในน้ำจืดและดินชื้นในเขตร้อน  โรคเมลิออยโดซิสพบได้ทั่วไปในเขตร้อน แต่พบบ่อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในสิงคโปร์และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ผู้ป่วยโรคเมลิออยโดซิส ส่วนมากเกิดจากบาดแผลสัมผัสดินหรือน้ำปนเปื้อน  ในประเทศไทยพบมากที่สุดในชาวนา โดยเพศชายเป็นมากกว่าเพศหญิง 4 เท่า  โรคเมลิออยโดซิส มีลักษณะทางคลินิก คือ เป็นฝีหนองตามผิวหนัง ที่อาจแพร่กระจายไปที่ปอด, กระดูก, ข้อ, ตับ, และม้าม ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ปอด ส่วนมากมีไข้เฉียบพลัน, หนาวสั่น, ไอ, หอบ, และเจ็บหน้าอก การรักษาโรคเมลิออยโดซิส ต้องทดสอบความไวต่อยาทุกครั้ง ระหว่างรอผลใช้ ceftazidime ร่วมกับ TMP-SMX ฉีดเข้าเส้นนาน 10-14 วัน หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นยารับประทาน amoxicillin/clavulanate 2-6 เดือน ฝีหนองที่ผิวหนังควรเจาะระบายหนองหลังจากเริ่มยาปฏิชีวนะแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด

                  นพ.โกวิท คัมภีรภาพ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเมลิออยโดซิส ผู้ป่วยเบาหวานหรือไตวายเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการลงไปในแหล่งน้ำจืดในถิ่นที่มีโรคชุกชุม โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผล ถ้าต้องลงน้ำหลังจากนั้นให้อาบน้ำฟอกสบู่ล้างตัวให้สะอาด


                  4. โรคฉี่หนู ไข้ฉี่หนู หรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส​ (Leptospirosis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ สัตว์ฟันแทะโดยเฉพาะหนูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ นอกจากนี้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 160 สปีชีส์ที่อาจเป็นแหล่งรังโรค รวมทั้งสัตว์ป่า, สัตว์เลี้ยง, และปศุสัตว์หลายชนิด โรคฉี่หนู มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochete) ชื่อ เล็บโตสไปร่าอินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans)  เชื้อนี้สามารถอาศัยอยู่ในหลอดไตในสัตว์ได้นานหลายปี

                  ทั้งนี้ โรคฉี่หนู​ พบได้ทั่วโลก ยกเว้นเขตขั้วโลก คือ ทุกๆ ที่ๆ ปัสสาวะสัตว์สามารถปนเปื้อนแหล่งน้ำจืดหรือน้ำท่วมขัง สัตว์จะถ่ายปัสสาวะพร้อมกับเชื้อแบคทีเรียออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำ เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานหลายเดือน ในเขตร้อนจะมีการระบาดในฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในสลัมแออัดที่สุขาภิบาลไม่ดี และคนชอบเดินเท้าเปล่า โรคนี้พบบ่อยในเด็กที่ชอบเล่นน้ำสกปรก และผู้ใหญ่ที่มีอาชีพเสี่ยง เช่น ชาวนาที่ทำงานในทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง

                  โรคฉี่หนู ติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดต่อกันโดยการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น  การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ,การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และเข้าผ่านเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา และปาก หรือผ่านเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน  อาการของโรคฉี่หนู  เริ่มตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต  โดยกว่า 90  เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย จะมีอาการเล็กน้อยและมักเป็นแบบไม่เหลือง ซึ่งหายได้เอง ส่วนชนิดที่มีอาการรุนแรงนั้น พบได้ 5-10% ของผู้ติดเชื้อ หลังระยะฟักตัว 5-14 วัน จะมีไข้เฉียบพลัน, หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง, และปวดกล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะที่น่องและต้นขา) เป็นอยู่นาน 1 สัปดาห์  หลังจากนั้นเข้าสู่ระยะต่อไป จะมีไข้ต่ำ ๆ แต่ถ้ารุนแรงจะมีผื่น, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ตาอักเสบ, และตับไตวาย

                  ในสัปดาห์แรกที่ป่วย จะมีตาแดง  ผื่นพบน้อยกว่า 50% และมีลักษณะไม่จำเพาะ ส่วนมากเป็นตามลำตัว ส่วนวิธีการรักษานั้นจะใช้ยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า ระยะเวลาที่ให้นานอย่างน้อย 7 วัน โดยชนิดของยาปฏิชีวนะจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ โดยการป้องกันโรคฉี่หนูในชุมชนได้ด้วยการระบายน้ำเสียไม่ให้ท่วมขัง และควบคุมประชากรหนู ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค คนที่คาดว่าจะต้องสัมผัสกับน้ำหรือดินปนเปื้อน ควรสวมเสื้อผ้ารองเท้าที่สามารถป้องกันน้ำและดิน


                  5. โรคพยาธิหอยคัน (Cercarial dermatitis) โรคพยาธิหอยคัน เป็นโรคติดเชื้อพยาธิ เกิดจากการลงในน้ำจืดและน้ำทะเล แล้วสัมผัสกับตัวอ่อนของพยาธิใบในเลือดของสัตว์ (non-human schistosomal parasites) หลายสปีชีส์ โรคพยาธิหอยคัน พบได้ทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา มักพบในคนที่เล่นน้ำทะเล และชาวประมงหาหอย โรคพยาธิหอยคัน เป็นที่รู้จักกันดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบในเกษตรกรที่ลงไปในทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง ในประเทศไทยมีการระบาดบ่อยๆ ของโรคพยาธิหอยคัน ที่เกิดจากพยาธิหลายสายพันธุ์ ส่วนวงจรโรคพยาธิหอยคัน นั้น เริ่มจากนกน้ำหลายชนิด, หนู, หรือกวาง ถ่ายอุจจาระที่มีไข่พยาธิลงไปในน้ำ ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 10-15 นาที ตัวอ่อนต้องรีบว่ายน้ำเข้าไปในหอยแล้วเจริญเติบโตแพร่ขยาย  ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ตัวอ่อนถูกปล่อยออกจากหอย ถ้ามีเหยื่อที่เหมาะสมลงน้ำ ตัวอ่อนจะไชผ่านเข้าผิวหนัง สลัดหางทิ้งแล้วเข้าเส้นเลือด แหวกว่ายผ่านหัวใจและปอดไปที่เส้นเลือดดำในตับ ที่ซึ่งมันจะเติบโตเต็มที่เป็นวัยผู้ใหญ่ จับคู่ แหวกว่ายผ่านเส้นเลือดดำของผนังลำไส้ ที่ซึ่งตัวเมียจะวางไข่ ไข่จะผ่านผนังลำไส้และออกมากับอุจจาระ ถือว่าจบวงจรชีวิต

                  ถ้าตัวอ่อนของพยาธิบังเอิญเจาะไชผิวหนังของมนุษย์ ตัวอ่อนจะไชผ่านหนังกำพร้า แต่ไม่สามารถเข้าเส้นเลือด ตัวอ่อนจะตายอยู่ในชั้นบนของชั้นหนังแท้ และเกิดการเน่าสลายตัวภายใน 3-4 วัน โปรตีนในซากพยาธิ สามารถกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ เกิดผื่นแดงคันมาก คล้ายลมพิษ ซึ่งอาจกลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนอง อาจปวดและบวม ร่วมกับคันมาก ซึ่งเป็นเต็มที่ใน 48-72 ชม.​ ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจมีอาการปวดศีรษะ, มีไข้ ทั้งนี้โรคพยาธิหอยคัน ให้รักษาตามอาการ ถ้าเป็นน้อยให้ทาคาลาไมน์, และยากินต้านฮิสตามีน การชำระล้างทำความสะอาดจะช่วยป้องกันติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ถ้าอาการรุนแรงอาจต้องไปพบแพทย์

                  สำหรับในช่วงฤดูฝน สิ่งที่ต้องระวังให้ดี คือ สัตว์จำพวกแมลงคลาน และสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ ที่อพยพหนีน้ำมาอยู่ในบ้านเรือน อาจทำร้ายกัดคน การป้องกันต้องทำให้บ้านพักที่อยู่อาศัยปลอดโปร่ง ไม่รก ตรวจตราเสื้อผ้า รองเท้า ก่อนสวมใส่ ว่ามีสัตว์ร้ายมาแอบอยู่หรือไม่

                  หากต้องการค้นหาวิธี และศึกษาเรื่อง โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม สอบถามข้อมูลได้ที่ไหน... (ให้เข้าไปดูข้อมูลได้ที่ช่องทางเพจ “ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง”  หรือเว็บไซต์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้ที่ WWW.DST.OR.TH)         
« Last Edit: October 20, 2021, 10:00:57 AM by happy »