พายุเตี้ยนหมู่ (Dianmu) กับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ปี พ.ศ. 2564
จากบทบาทการขับเคลื่อนงานวิจัย SIP ด้านการบริหารจัดการน้ำ
คณะนักวิจัย โครงการวิจัยเข็มมุ่ง
การบริหารจัดการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 2
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
พายุเตี้ยนหมู่ (Dianmu) กับสถานการณ์น้ำและพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ (Dianmu) ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนาม และพัดเคลื่อนตัวมายังทิศตะวันตกกลายเป็นพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนปกคลุมบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564 (ดังรูปที่ 1) ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มสูงขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล (กรมอุตุนิยมวิทยา, 2564) หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น และประสบปัญหาน้ำท่วมแบบเฉียบพลัน (Flash Flood) จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พบว่า พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมครอบคลุมจังหวัดทางภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ชลบุรี และตราด และภาคกลางตอนบน 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมไหลหลากในบริเวณพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล (ดังรูปที่ 2) ที่หลายภาคส่วนต่างตระหนักถึงภัยพิบัติอยู่ในขณะนี้รูปที่ 2 แสดงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 บทบาทของคณะวิจัยโครงการวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำในการขับเคลื่อนผลการดำเนินงานวิจัยและผลลัพธ์จากงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรม CORUN ในสถานการณ์ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมจากพายุเตี้ยนหมู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ซึ่งกำหนดให้เป็นพื้นที่ศึกษา โดยได้ทำการวิเคราะห์ฐานข้อมูลอุทกวิทยาและแนวทางการระบายน้ำจากเขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา ตลอดจนทำการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิผลของแบบจำลอง (ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ) ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ ส่วนที่ 1 แบบจำลองการพยากรณ์ฝนล่วงหน้ารายสองสัปดาห์ ส่วนที่ 2 แบบจำลองประมาณการปริมาณน้ำท่าที่สถานีตรวจวัดหลัก และส่วนที่ 3 แบบจำลองการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนหลักเพื่อกำหนดรูปแบบการระบายน้ำจากเขื่อนด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อร่วมกันตอบประเด็นคำถามที่สำคัญดังนี้ปริมาณฝนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และแนวโน้มฝนพยากรณ์เป็นอย่างไร (เดือนตุลาคมในอีกสองสัปดาห์)?จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม PERSIANN ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 500 มิลลิเมตร ทางบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมทั้งสิ้นกว่า 43 จังหวัด ในขณะที่ตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 150 มิลลิเมตร โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย ดังแสดงในรูปที่ 3รูปที่ 3 ปริมาณฝนสะสม 30 วันจากข้อมูลดาวเทียม PERSIANN
ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม–วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เมื่อทำการพยากรณ์ฝนล่วงหน้าด้วยแบบจำลอง WRF–ROMS (CFSV2) รายสองสัปดาห์บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ (ระหว่างวันที่ 27 กันยายน–10 ตุลาคม 2564) ชี้ให้เห็นว่าปริมาณฝนสะสมรายสองสัปดาห์บริเวณเหนือเขื่อนยังคงมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนบริเวณท้ายเขื่อนยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และตกหนักในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ และสุโขทัย และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี พบว่า ปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติถึง 17 มิลลิเมตร โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำวังที่มีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติถึง 51 มิลลิเมตร และ 46 มิลลิเมตร ตามลำดับ และท้ายเขื่อนของเขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ท่าจีนมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติถึง 34 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าบริเวณเหนือเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยากว่าเท่าตัวดังแสดงในรูปที่ 4 นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ฝนพยากรณ์ตลอดทั้งเดือนตุลาคม 2564 พบว่า จะมีปริมาณฝนสูงกว่าปกติบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้ในช่วงดังกล่าวจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เขื่อนหลักจำเป็นต้องเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อไว้ใช้ในช่วงการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565รูปที่ 4 แผนที่ฝนพยากรณ์เดือนกันยายนและตุลาคม 2564 จากแบบจำลอง SimIDX และผลการพยากรณ์ฝน
รายสองสัปดาห์ล่วงหน้าด้วยแบบจำลอง WRF–ROMS (CFSV2) ในเดือนตุลาคมบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ
เจ้าพระยาใหญ่ ปริมาณน้ำท่าและแนวโน้มปริมาณน้ำท่าที่สถานีตรวจวัดหลักเดือนตุลาคมในสองสัปดาห์หน้าเป็นอย่างไร?ผลการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำท่าของสถานีตรวจวัดหลักได้แก่ สถานี W.4A, Y.17, N.22A, CT.2A, C.2, C.13 และระดับน้ำของสถานี S.5, S.26 และประตูควบคุมน้ำลพบุรีพบว่า ปริมาณฝนที่ตกเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนทำให้ปริมาณน้ำท่าของทุกสถานีตรวจวัดหลักเพิ่มปริมาณสูงขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกหลังพายุเตี้ยนหมูพาดผ่าน ดังแสดงในรูปที่ 5 สำหรับสถานี Y.17 ซึ่งตรวจวัดน้ำในแม่น้ำยมในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลันพบว่า ระดับน้ำเฉลี่ยในเดือนกันยายนเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคมค่อนข้างมาก โดยปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยเท่ากับ 206.21 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งสูงกว่าปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในเดือนสิงหาคมกว่า 4 เท่า จากปัจจัยฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกัน ในขณะที่สถานี C.2 ในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งรับน้ำหลากจากแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่านพบว่า ปริมาณน้ำท่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,332 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 26 กันยายน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอีกในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้จากมวลน้ำที่ไหลสมทบจากทางภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้ปริมาณการระบายน้ำที่สถานีตรวจวัด C.13 ที่เขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ณ วันที่ 27 กันยายน นอกจากนี้ จากแนวโน้มปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำของสถานีตรวจวัด S.5 และ S.26 ท้ายเขื่อนพระรามหกเพิ่มระดับสูงขึ้นก่อนเกิดพายุเตี้ยนหมู่ถึง 0.87 และ 1.53 เมตร ตามลำดับ ในขณะที่ระดับน้ำที่ประตูควบคุมน้ำลพบุรีที่รับน้ำต่อจากโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนบนกำลังเพิ่มระดับสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้
สำหรับผลการคาดการณ์ระดับน้ำล่วงหน้าถึงวันที่ 6 เดือนตุลาคม ด้วยแบบจำลอง MIKE11 และอาศัยข้อมูลฝนพยากรณ์จากแบบจำลอง WRF–ROMS (GFS) 7 วันล่วงหน้าเป็นข้อมูลนำเข้าพบว่า แนวโน้มของระดับน้ำของสถานีตรวจวัดหลักต่าง ๆ ในเดือนตุลาคมส่วนใหญ่มีแนวโน้มคงที่และลดลง ยกเว้นสถานีตรวจวัด C.13 ที่เขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาและสถานี PAS008 ที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ระดับน้ำเฝ้าระวังและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอิทธิพลของน้ำหลากดังผลสรุปไว้ในตารางที่ 1 และรูปที่ 6ตารางที่ 1 ข้อมูลน้ำท่าของสถานีตรวจวัดหลักเดือนกันยายนและแนวโน้มระดับน้ำจากผลการพยากรณ์ล่วงหน้า
ด้วยแบบจำลอง MIKE11 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่หมายเหตุ: คาดการณ์ผลล่วงหน้าด้วยแบบจำลองถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564
รูปที่ 5 แนวโน้มปริมาณน้ำท่าของสถานีตรวจวัดหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ในช่วงที่เกิดพายุเตี้ยนหมู่รูปที่ 6 ข้อมูลน้ำท่าของสถานีตรวจวัดหลักเดือนกันยายนและแนวโน้มระดับน้ำจากผลการคาดการณ์ล่วงหน้าด้วยแบบจำลอง MIKE11 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ทำไมเขื่อนเจ้าพระยาต้องระบายน้ำถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงนี้?ผลจากการเพิ่มระดับน้ำที่สูงขึ้นของสถานีตรวจวัดน้ำท่า C.2 ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน รวมถึงปัจจัยน้ำหลากจากทางภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำปิงตอนล่าง ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำที่เขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อตัดยอดน้ำและกระจายน้ำเข้าสู่ระบบคลองส่งน้ำทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อทำหน้าที่เป็นแก้มลิง (ดังรูปที่ 7) ซึ่งปริมาณการระบายน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ดังแสดงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 ในรูปที่ 8รูปที่ 7 เปรียบเทียบข้อมูลน้ำท่าของสถานีตรวจวัด C.2 และสถานี C.13 แม่น้ำเจ้าพระยารูปที่ 8 พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564การบริหารเขื่อนและปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นอย่างไร?จากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำก่อนเกิดพายุเตี้ยนหมู่โดยอาศัยข้อมูลเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564 พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำโดยมีปริมาณน้ำใช้การเท่ากับ 9.09%, 12.14%, 30.16% และ 12.77% ของปริมาตรเก็บกักใช้การของอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 5 กันยายน เท่ากับ 1,249, 2,281, 555 และ 201 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ และมีแนวโน้มที่จะบริหารเขื่อนในสถานการณ์น้ำน้อย เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีจำกัดแต่ปัจจัยความต้องการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ยังคงสูง โดยปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 5 กันยายนคิดเป็น 1,703, 3,772, 634 และ 612 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายนพบว่า อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมของทั้ง 4 เขื่อนหลักเพิ่มสูงขึ้นกล่าวคือ ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 30 กันยายน เท่ากับ 3,203, 2,833, 1,106 และ 1,194 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ส่งผลปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มสูงขึ้นไม่มากนักเพียง 29.08% และ 19.77% ของปริมาตรเก็บกักใช้การเท่านั้น และบริหารเขื่อนด้วยการลดปริมาณน้ำระบายน้ำลงต่ำสุดในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ในขณะที่อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ส่งผลต่อความแปรปรวนของข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ค่อนข้างสูงและชัดเจนยิ่งขึ้นหลังวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา โดยพบว่า ปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนสูงถึง 90.70% และเกินความจุเก็บกักสูงสุดของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์โดยมีค่าเท่ากับ 107% เมื่อวันที่ 30 กันยายน ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อนสูงขึ้น (ดังรูปที่ 9) จากการวิเคราะห์พบว่า อัตราส่วนปริมาณน้ำไหลเข้ารายปีสะสมในปี พ.ศ. 2564 ต่อความจุอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สูงถึง 1.44 และ 1.52 หลังเกิดพายุเตี้ยนหมู่ ดังแสดงผลการวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูลระยะสั้นและระยะยาวในตารางที่ 2ตารางที่ 2 อัตราส่วนปริมาณน้ำไหลเข้ารายปีเฉลี่ยต่อความจุอ่างเก็บน้ำของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่หมายเหตุ: 1/ข้อมูลระยะยาวระหว่างปี พ.ศ. 2543–2563
2/ข้อมูลระยะยาวระหว่างปี พ.ศ. 2552–2563
3/ข้อมูลระยะยาวระหว่างปี พ.ศ. 2546–2563
4/ข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 หลังเกิดพายุเตี้ยนหมู่รูปที่ 9 ปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนหลักก่อนและหลังพายุเตี้ยนหมู่รูปที่ 10 แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าและปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนหลักในช่วงก่อนและหลังพายุเตี้ยนหมู่ผลการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายวันสองสัปดาห์ล่วงหน้าถึงวันที่ 14 ตุลาคมของ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่โดยอาศัยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ด้วยอัลกอรึทึม (Long Short–Term Memory, LSTM) พบว่า ต้นสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ผลการพยากรณ์ชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำไหลเข้าของเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีแนวโน้มลดลงในปลายสัปดาห์ที่ 2 ดังแสดงในรูปที่ 10 อย่างไรก็ดี ผลการพยากรณ์จะมีความแม่นยำมากขึ้น หากกำหนดให้แบบจำลองมีการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทุกช่วงเวลาเพื่อปรับค่าพารามิเตอร์ในลักษณะ One–Step Ahead Forecasting ในการลดความคลาดเคลื่อนทั้งรูปแบบแนวโน้มและค่าข้อมูลพยากรณ์รูปที่ 11 ผลการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในเดือนตุลาคมด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ของ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่อย่างไรก็ดี ผลการกำหนดปริมาณการระบายน้ำล่วงหน้าด้วยแบบจำลองการโปรแกรมเชิงข้อจำกัด (Constraint Programming Model, CP) โดยอาศัยข้อมูลพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและข้อมูลปริมาณ Sideflow ล่วงหน้าถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2564 แนะนำให้ระบายน้ำขั้นต่ำจากทุกเขื่อน ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับผลการระบายน้ำจริงที่ผ่านมา ยกเว้นการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน อันเนื่องมาจากปัจจัยปริมาณน้ำไหลหลากจากทางตอนบนของพื้นที่ลุ่มน้ำ การปรับเปลี่ยนแนวโน้มและรูปแบบของข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่อย่างฉับพลัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกินความจุอย่างรวดเร็ว กรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำสูงถึง 103.73 ล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ทางด้านท้ายเขื่อนต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วม (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน), 2564)พื้นที่ประสบน้ำท่วมที่ไหนบ้าง และแนวโน้มเป็นอย่างไร?จากผลการวิเคราะห์พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 พบว่า พื้นที่ทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมคิดเป็น 4,168 ตารางกิโลเมตร (2,605,000 ไร่) โดยแยกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ 942,694 ไร่ หรือคิดเป็น 9.94% ของพื้นที่เพาะปลูกจริงสะสมในปี พ.ศ. 2563/2564 ดังสรุปไว้ในตารางที่ 3–4 และรูปที่ 12 และคาดว่าแนวโน้มของพื้นที่เกษตรกรรมในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกอาจได้รับผลกระทบเพิ่มสูงขึ้นจากอิทธิพลของน้ำท่วมไหลหลากจากพื้นที่ภาคกลางตอนบน และแนวทางการบริหารจัดการน้ำด้วยการตัดยอดน้ำโดยการกระจายน้ำเข้าระบบคลองส่งน้ำ นอกจากนี้ ผลจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนทดน้ำพระรามหกในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 อาจส่งผลให้โครงการชลประทานแบบรับน้ำนองในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มสูงขึ้นในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้านี้ตารางที่ 3 พื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ที่ประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ตารางที่ 4 พื้นที่เกษตรกรรมในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ที่ประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่หมายเหตุ: 1/ ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกจริงฤดูแล้งและฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
2/ เปอร์เซ็นต์พื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยน้ำท่วมเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกจริงในปี 2563/2564รูปที่ 12 แสดงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตและนอกเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ระหว่างวันที่ 27 กันยายน–2 ตุลาคม พ.ศ. 2564เอกสารอ้างอิงกรมอุตุนิยมวิทยา. 2564. https://www.tmd.go.th/en/list_warning.php.
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน). 2564. รายงานสถานภาพน้ำเขื่อนต่าง ๆ.http://tiwrmdev.hii.or.th/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.html.
https://zoom.earth/storms/dianmu-2021/.
https://flood.gistda.or.th/.บทความเขียนโดย
รศ.ดร.อารียา ฤทธิมา/ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ.ดร.ยุทธนา พันธุ์กมลศิลป์/สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.กนกศรี ศรินนภากร/สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
1 ตุลาคม พ.ศ. 2564