happy on September 28, 2021, 09:49:50 AM
 :P
ตรวจคัดกรองโควิดหรือกักตัวอย่างไรดี สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ในช่วงเปิดประเทศ


จากนโยบายการรับผู้เดินทางต่างชาติเข้าประเทศไทยในช่วงการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด ทำให้เกิดคำถามถึงมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัวที่เหมาะสมสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจ หรือทำกิจกรรมส่วนตัวก็ตาม เอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาสำหรับผู้กำหนดนโยบายดังกล่าว โดยนำมาจากผลการวิจัยภายใต้โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องโควิดวัคซีนพาสปอร์ต ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป กระทรวงสาธารณสุข


นโยบายการตรวจคัดกรองโควิดและกักตัวสำคัญอย่างไร?

ประชาชนทั่วไปจำนวน 8,187 คนผู้ตอบแบบสำรวจใน 8 ประเทศ พบว่าหนึ่งในสี่ หรือร้อยละ 25 มีแผนเดินทางไปต่างประเทศในปี พ.ศ. 2564 โดยส่วนใหญ่ต้องการเดินทางภายในทวีปเอเชียและญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผู้ตอบแบบสำรวจต้องการเดินทางไปมากที่สุด รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย ตามลำดับ
.
เมื่อถามถึงความเห็นต่อการตรวจคัดกรองโควิดและการกักตัว พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยินดีเพิ่มจำนวนครั้งของการตรวจคัดกรองโควิดเพื่อลดจำนวนวันที่ต้องกักตัว ยกเว้นผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศลาว โดยพบว่าความต้องการเดินทางจะลดลงเป็นสัดส่วนผกผันต่อจำนวนวันที่ต้องกักตัวในประเทศปลายทางและประเทศต้นทางเมื่อเดินทางกลับ ดังนั้นมาตรการคัดกรองโควิดและการกักตัวย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้เดินทางด้วย นอกเหนือจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยว ค่าใช้จ่าย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพยสิน ฯลฯ



ผลกระทบด้านการระบาดของโรคจากมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัวแบบต่าง ๆ ในประเทศปลายทาง

ในทางทฤษฎีประเทศปลายทางต้องการรับผู้เดินทางที่ปราศจาคการติดเชื้อแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตามคงเป็นจริงได้ยาก เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่มีอาการและการคัดกรองด้วยวิธีการที่ดีที่สุดคือ real-time polymerase chain reaction (PCR) ก็ไม่สามารถให้ผลถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการคัดกรองการติดเชื้อและใช้การกักตัวผู้เดินทางร่วมด้วย
.
จากการวิจัยพบว่ามาตรการที่สำคัญที่สุดในการคัดกรองการติดเชื้อ คือ การตรวจคัดกรองก่อนการเดินทางด้วยวิธี PCR โดยยิ่งตรวจใกล้วันเดินทางมากขึ้นเท่าใดยิ่งมีประสิทธิผลในการป้องกันผู้ติดเชื้อเดินทางข้ามประเทศได้มากเท่านั้น อีกทั้งยังป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้โดยสารท่านอื่นในขณะเดินทาง และลดปัญหาเรื่องการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อในประเทศปลายทางด้วย อย่างไรก็ตามวิธีการคัดกรองนี้สามารถลดโอกาสเดินทางของผู้ติดเชื้อได้ประมาณร้อยละ 83 ในกรณีที่มีการควบคุมคุณภาพของการตรวจได้ดี กล่าวคือยังมีผู้ติดเชื้ออีกเกือบหนึ่งในห้าที่หลุดรอดจากการคัดกรองนี้
.
ตารางด้านล่างแสดงให้เห็นจำนวนผู้เดินทางที่ติดเชื้อซึ่งหลุดรอดจากมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัวแบบต่าง ๆ จำแนกตามความชุกของการติดเชื้อในผู้เดินทางกลุ่มนี้ ซึ่งสมมุติให้มีการตรวจคัดกรองซ้ำก่อนวันสุดท้ายของการกักตัวด้วย การกำหนดนโยบายการคัดกรองและการกักตัวจึงขึ้นกับประเทศปลายทางว่ามีขีดความสามารถในการรองรับผู้เดินทางติดเชื้อและผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ ในแบบจำลองนี้ประมาณว่าผู้ติดเชื้อที่เดินทางข้ามประเทศและหลุดรอดการคัดกรอง 1 คนสามารถถ่ายทอดเชื้อให้กับประชาชนในประเทศปลายทางได้ประมาณ 0-7 คน ขึ้นกับระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศปลายทางนานเท่าใด ประสิทธิผลของมาตาการป้องกันอื่น ๆ ของประเทศปลายทาง เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น
.
เป็นที่น่าสังเกตได้ว่าความชุกของการติดเชื้อในกลุ่มผู้เดินทางมีผลเป็นอย่างมากต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่หลุดรอดจากมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัว จึงเป็นเหตุให้หลายประเทศมีมาตรการที่แตกต่างกันในการคัดกรองและกักตัวผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้สันนิษฐานได้ว่าผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีความชุกของโรคโควิดน้อยกว่าประเทศไทย ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศไทยมากนัก เว้นแต่ประเทศต้นทางเหล่านั้นจะนำมาซึ่งการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิมที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย


ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัวแบบต่าง ๆ

นอกเหนือจากจำนวนผู้ที่ต้องการเดินทางข้ามประเทศที่จะแปรผกผันกับจำนวนวันของการกักตัวในประเทศประเทศต้นทางและประเทศปลายทางแล้ว พบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทางขึ้นกับนโยบายการคัดกรองและกักตัวด้วย หากผู้เดินทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการคัดกรองโควิด การกักตัวและการรักษาโรคในกรณีติดเชื้อ พบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทางจะเป็นบวกในทุกกรณีถึงแม้นจะหักลบด้วยต้นทุนของการติดตามค้นหาและรักษาผู้ป่วยรายใหม่ที่สัมผัสกับผู้เดินทางที่ติดเชื้อแล้วก็ตาม และยิ่งมีการตรวจคัดกรองมากครั้งขึ้น ด้วยวิธีคัดกรองที่มีราคาสูง และมีการกักตัวนานวันมากขึ้น จะยิ่งส่งผลบวกทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามหากค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องรับผิดชอบโดยประเทศปลายทางหรือมีการอุดหนุนจากประเทศปลายทางจะทำให้มีผลบวกทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศลดลงตามสัดส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้


ผลกระทบในประเทศต้นทาง

จากการวิเคราะห์พบว่า ผลกระทบของการเดินทางกลับมาประเทศตนเองของผู้เดินทางข้ามประเทศเป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศต้นทางมากกว่าผลกระทบด้านลบที่เกิดกับประเทศปลายทางที่ได้นำเสนอข้างต้น เพราะผลกระทบด้านลบต่อประเทศต้นทางมีมากกว่าประเทศปลายทางทั้งด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ โดยพบว่าการหลุดรอดการคัดกรองของผู้เดินทางกลับประเทศที่ติดเชื้อจากประเทศปลายทางจะส่งผลเสียในการแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นเป็นจำนวนมากกว่าเกือบสองเท่า เนื่องจากระยะเวลาของการอยู่อาศัยนานกว่าและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ตกเป็นภาระของประเทศต้นทางทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มว่านโยบายการเดินทางข้ามประเทศรัฐบาลจะไม่สนับสนุนให้ประชากรของตนเองเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิดในระดับที่สูงกว่า หรือสร้างกำแพงนโยบายด้วยการกำหนดวันกักตัวหรือค่าใช้จ่ายในการกักตัวเมื่อเดินทางกลับประเทศให้สูงขึ้นจนผู้เดินทางรู้สึกไม่คุ้มค่า ด้วยเหตุนี้มาตรการเปิดประเทศจะมีประสิทธิภาพต้องอาศัยการเจรจาและทำให้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่สนับสนุนให้มีการเดินทางข้ามประเทศไปมาของประชาชนในแต่ละประเทศ บนพื้นฐานของการสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย


การฉีดวัคซีนของผู้เดินทางและการฉีดวัคซีนของประชาชนในประเทศปลายทางมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิผลลดลงไปมากในการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ผู้เดินทางข้ามประเทศที่ฉีดวัคซีนครบแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ เช่นเดียวกันกับประชาชนในประเทศปลายทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อโควิดได้เช่นกัน ซึ่งโอกาสในการติดเชื้อของประชากรทั้งสองกลุ่มขึ้นกับประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ จึงควรมีข้อมูลการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์อย่างถูกต้องและครอบคลุมในหลายประเทศที่เป็นเป้าหมายการเปิดประเทศและหลีกเลี่ยงการเปิดประเทศสำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสูงของไวรัสกลายพันธุ์ที่ยังไม่ทราบความรุนแรง เช่น สายพันธุ์มิว เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนว่าประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตยังคงดีอยู่สำหรับสายพันธุ์เดิม ๆ ที่กำลังระบาดอยู่ การฉีดวัคซีนโควิดของประชากรทั้งสองกลุ่ม คือ ผู้เดินทางข้ามประเทศและประชาชนในประเทศจึงยังมีประโยชน์อย่างมากในด้านนี้

นอกจากนี้มาตรการป้องกันประเภทอื่น ๆ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย หรือกระทั่งการป้องกันการลักลอบเข้ามาทำงานในจังหวัดที่เปิดเมืองของแรงงานผิดกฎหมายที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จะเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของนโยบาบเปิดประเทศเช่นกัน



สรุป

• จำนวนวันกักตัวมีความสัมพันธ์แบบผกผันต่อความต้องการเดินทางข้ามประเทศของประชาชน
• มาตรการคัดกรองก่อนออกเดินทางในประเทศต้นทางมีความสำคัญสูงสุด รองลงมาคือมาตรการกักตัวและคัดกรองก่อนเข้าประเทศที่ประเทศปลายทาง
•จำนวนการคัดกรองและวันกักตัวที่เหมาะสมขึ้นกับขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในการค้นหา คัดกรอง คัดแยกและรักษาผู้ติดเชื้อ ของแต่ละประเทศ
•การเลือกเปิดประเทศสำหรับประชาชนในประเทศที่มีอัตราการระบาดของโควิดต่ำกว่าและไม่สูงไปกว่าประเทศไทยมากนักและการใช้หลักฐานการฉีดวัคซีนโควิดของผู้เดินทางนับว่ามีส่วนช่วยในการลดผลกระทบเชิงลบได้ และหลักการเดียวกันนี้สามารถใช้ในการลดความเสี่ยงของการเดินทางภายในประเทศได้เช่นกัน
• มาตรการเปิดประเทศจะประสบความสำเร็จขึ้นกับการเจรจาและข้อตกลงระหว่างประเทศที่สนับสนุนให้มีการเดินทางข้ามประเทศบนพื้นฐานของการสมประโยชน์ร่วมกัน
.
เอกสารฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง การจัดตั้งเครือข่ายวิจัยโควิดเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายของประเทศในเอเชียและการศึกษาเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องโควิดวัคซีนพาสปอร์ต โดย ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์, รศ. ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย, กริช พรหมพระสิทธิ์, ชญาพัช ราชาตัน, พีรพล กาญจนขันธ์, มานิต สิทธิมาตร, Aparna Ananthakrishnan, Dian Faradiba, Mr. Sarin KC Ms. Saudamini Dabak และทีมวิจัยนานาชาติจาก 9 ประเทศ ได้แก่ China’s National Health Development Research Center, India’s Christian Medical College, Indonesia’s Universitas Padjadjaran, Japan’s Hitotsubashi Institute for Advanced Study, Lao University of Health Sciences, Universiti Sains Malaysia, Philippine’s Department of Health, National University of Singapore, South Korea’s Ewha Womans University
.
ขอบคุณข้อมูลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กองการต่างประเทศกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานคะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
« Last Edit: September 28, 2021, 09:53:53 AM by happy »