“ทำทุกนาทีให้ดีที่สุด เหมือนเป็นนาทีสุดท้ายของชีวิต”
เสียงจากทีมแพทย์ฉุกเฉินที่อุทิศหัวใจให้ผู้ป่วย
หลายครั้งที่เราอาจจะเคยได้ยินว่าคนเราจะรู้คุณค่าของการใช้ชีวิต ก็ต่อเมื่อเดินทางมาถึงวันสุดท้ายของชีวิต แต่หากเราได้เคยลองพูดคุยกับกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในสภาวะระหว่างความเป็นความตาย เราอาจจะได้ยินแนวคิดการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป “ทีมแพทย์ฉุกเฉิน” คือกลุ่มคนที่น่าจะตอบคำถามเรื่องคุณค่าของการใช้ชีวิตได้ดีที่สุด เพราะพวกเขาเหล่านี้ต้องทำงานคลุกคลีอยู่กับความเป็น ความตายและสถานการณ์ฉุกเฉินของผู้คนในแต่ละวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดที่ยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวันของไทยยังทะลุหลักหมื่นคน การทำงานของทีมแพทย์ฉุกเฉินเหล่านี้ยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไปแม้ว่าเหตุการณ์จะยังไม่ทุเลาลงก็ตามชีวิตนักกู้ชีพฉุกเฉินที่หัวใจและร่างกายต้องพร้อมไปด้วยกัน นายย๊ะหยา มั่นคง, นายศุภกิตติ์ เวียนเสี้ยว, นายณัฐกิต ศรีเนาเวช และนายสุรศักดิ์ แต้มครบุรี คือ 4 หนุ่มตัวแทนแห่งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่มาร่วมแชร์แนวคิดและประสบการณ์ทำงานในฐานะนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนในทุกๆวัน“สิ่งที่ทำให้พวกเรามาอยู่ร่วมกันในทีมนี้ได้ เพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือเราอยากทำงานที่รักและมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่น อาจดูเป็นแนวคิดทั่วๆไปแต่การที่ทำงานอยู่ตรงนี้ได้ผมคิดว่าการมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ เพราะเราพบเจอความเป็นความตายในทุกๆ วัน บางครั้งคนที่เราช่วยกลับเสียชีวิตลงระหว่างทางไปโรงพยาบาลก็มี แต่แน่นอนว่าทุกครั้งที่เราออกปฏิบัติงานเป้าหมายของเราคือการช่วยเหลือชีวิตคนให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด นอกจากจิตใจของเราที่ต้องเตรียมพร้อมและตื่นตัวอยู่เสมอเวลาที่ลงเวรแล้วร่างกายเราเองก็ต้องพร้อมด้วย ยิ่งตอนนี้การออกทำงานในแต่ละครั้งมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นทั้งการใส่ชุด PPE การเฝ้าระวังโควิด ทุกความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะเป้าหมายคือ เราต้องการช่วยเหลือชีวิตของผู้คน”เพราะชีวิตจริงไม่มีสแตนด์อิน และการสั่งคัต“สถานการณ์ฉุกเฉินที่ทีมเราเคยได้เข้าไปช่วยเหลือมีหลากหลายรูปแบบมากครับ มีทั้งช่วยเหลือคนคลอดลูกภายในบ้าน การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงผ่านทางเรือ หรือการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดในสถานที่ๆรถเข้าไม่ถึง มีเคสหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ที่ทีมได้เข้าไปช่วยเหลือคุณยายอายุ 98 ปีที่ติดเชื้อโควิดและพักอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านไม้หลังเล็กๆ ที่ทางเดินไปนั้นต้องเดินข้ามคลองโดยมีไม้กระดานแผ่นเดียว ทำให้เราต้องจอดรถพยาบาลทิ้งไว้แล้วแบกอุปกรณ์แล้วเดินเท้าไปอุ้มคุณยายออกมา แต่เราก็สามารถช่วยเหลือคุณยายออกมาได้”A-B-C-D คีย์เวิร์ดสำคัญของทีมเวิร์คด้วยบทบาทหน้าที่ของทีมปฏิบัติการฉุกเฉินเหล่านี้คือการทำงานแข่งกับความเร่งด่วนเวลา เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุดในทุกๆครั้งที่ออกไปปฏิบัติงานพวกเขาจะมีการวางแผนและแบ่งหน้าที่ในทีมอยู่เสมอ
“ในการปฏิบัติงานทุกครั้งเราจะจัดทีมออกไปเฉลี่ยครั้งละประมาณ 3-4 คนแล้วแต่ความรุนแรงของสถารการณ์ ซึ่งเราจะมีตัวย่อเรียกชื่อตำแหน่งความรับผิดชอบของแต่ละคนดังนี้ A-Airway ดูแลทางเดินหายใจผู้ป่วย, B-Breathing การช่วยกระตุ้นเรื่องระบบการหายใจ, C-Circulation ดูแลเรื่องการไหลเวียนเลือดและการให้น้ำเกลือผู้ป่วย, และ D-Disability การประเมินและเช็คความรู้สึกตัวของผู้ป่วย ซึ่งทุกคนต้องทำหน้าที่ประสานงานควบคู่กันไปเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในทีม 4 คนนี้จะรวมคนที่ทำหน้าที่ขับรถด้วย อย่างคนที่จะมารับหน้าที่ขับรถพยาบาลได้ก็จำเป็นจะต้องเรียนผ่านหลักสูตร Ambulance Driver ก่อนเพราะการขับรถพยาบาลจำเป็นจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการประเมินเส้นทางและวางแผนการเดินทางรับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุเพื่อมาส่งที่โรงพยาบาลโดยใช้เวลาที่น้อยที่สุด”ชอบทำงานแข่งกับเวลา DNA สำคัญของแพทย์ฉุกเฉิน ผศ.ดร.นพ.พงศกร อธิกเศวตพฤทธิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ หรืออาจารย์บอลลูน ที่ทำหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์ในส่วนของเวชศาสตร์ฉุกเฉินพร้อมควบตำแหน่งดูแลหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ด้วยเช่นกัน จากความชอบในการทำงานแข่งกับเวลาทำให้อาจารย์บอลลูนมีเป้าหมายแน่วแน่หลังเรียนจบแพทย์จนตัดสินใจมาเรียนต่อด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินในทันที“ย้อนกลับไปหลายปีที่แล้วภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินถือเป็นสิ่งใหม่มากในวงการแพทย์ของไทย ผมเองเป็นรุ่นที่ 2 ที่เข้าเรียนสาขานี้หลังจากที่รามาธิบดีเปิดสอน ผมมองว่าจุดร่วมสำคัญของแพทย์ที่ตัดสินใจเรียนต่อด้านเวชศาสต์ฉุกเฉินคือการเป็นคนที่ชอบทำงานแข่งกับเวลา ถนัดในการทำหัตการในเวลาที่จำกัด และต้องเป็นคนที่คิดไวกล้าตัดสินใจในสถานการณ์ที่กดดันและต้องรับมือกับความเครียดได้ดี อีกอย่างที่สำคัญคือการที่เราต้องจัดการอารมณ์ได้ดีเพราะนอกจากความเครียดของการทำงานแล้วการรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วยของญาติก็เป็นสิ่งสำคัญ”จากหมอฉุกเฉินที่รักในอาชีพสู่บทบาทครูแพทย์ อาจารย์บอลลูนเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของแพทย์ที่มีความรักในอาชีพและก้าวสู่สเต็ปการเป็นอาจารย์แพทย์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวคิดการทำงานให้แก่เหล่านักศึกษาแพทย์และทีมบุคลากรในหน่วยงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยจะเปิดฝึกอบรมแพทย์สาขาวิชานี้ประมาณ 150 คนต่อปี โดยที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็มีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินปีละประมาณ 14 รายต่อปี“หากเป็นสมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หมอส่วนใหญ่ที่มาลงเวรในห้องฉุกเฉินก็จะเป็นหมออายุรกรรม, หมอศัลยกรรม หมอสูตินรีเวชหรือแพทย์ใช้ทุนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นตอนที่ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเริ่มพัฒนาหลักสูตรและให้โอกาสผมได้เรียนต่อ รวมทั้งเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชานี้ จึงเปรียบเสมือนการสานต่อความฝันทำให้ผมได้ถ่ายทอดแนวคิดการทำงาน การใช้ชีวิตและปลูกฝังการเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในอนาคต ยิ่งในตอนนี้ที่บุคลากรทางการแพทย์อย่างเราๆ ต้องรับมือกับการดูแลผู้ป่วยโควิดไม่เว้นในแต่ละวัน ผมมองว่าคนเป็นแพทย์เองก็ต้องเข้มแข็งขึ้นเพื่อให้เราสามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้ป่วยได้”ภารกิจด้านการพัฒนาบริการด้านสุขภาพและการยกระดับการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทย์ นับเป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขไทยก้าวไกลยิ่งขึ้น ซึ่งรามาธิบดีก็มุ่งหวังที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมาตรฐานการแพทย์ให้มีคุณภาพในระดับโลกต่อไป สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในทุกภารกิจได้ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ