สวพส. คว้า 4 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ผลงานแห่งความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่สูง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และคณะ เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานและมอบรางวัล นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สำหรับในปีนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้รับรางวัลถึง 2 สาขา ทั้งหมด 4 รางวัล แบ่งเป็น ระดับดีเด่น จำนวน 1 ผลงาน และ ระดับดี จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่- รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม "ชุมชนไม้มีค่า ดูแลรักษา สร้างรายได้"- รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม "มั่นคงด้วยอาหาร ธนาคารในป่า รักษาทรัพยากร"- รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม "สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ภายใต้ที่ดินจำกัด"- รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ "ฟื้นฟูป่า พัฒนาน้ำ แก้จนคนบนพื้นที่สูง" “ทั้งนี้ในช่วงการรับรางวัลมีคณะผู้บริหารจาก สวพส. และผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ ที่เกี่ยวข้องกับ สวพส. ร่วมรับรางวัลและแสดงความยินดีกับผลงานที่ได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลที่ได้รับแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ที่มุ่งมั่นและทุ่มเททำงานในชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างมีประสิทธิภาพเข้าถึงพี่น้องเกษตรกร ส่งผลให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ สวพส. จะเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ให้มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย สำหรับรางวัลเลิศรัฐ (Public Sector Excellence Awards: PSEA) เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จและมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐทั้งปวง โดยจะมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่สามารถพัฒนาคุณภาพการบริการ และระบบการบริหารงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และพึงพอใจให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการบริหารราชการให้มีระบบหรือวิธีการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จนเกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนและความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม